"พระสมเด็จ" หลังอักษรจีน “ขรัวต้าซือ”


 

ชม พระสมเด็จ หลังอักษรจีนขรัวต้าซือ เก่าเก็บของคุณพ่อ ภูมิใจที่สืบทอดให้ลูกหลานเชื้อสายจีนในรุ่นหลัง

 

เรื่องโดย : อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมน์นิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam 

E-Mail : arphawan.s@gmail.com

 

บังเอิญว่าคนที่เค้าจองไว้ไม่มาเอา ป๊าก็เลยเอามา ไม่รู้หรอกว่าแปลว่าอะไร แต่รู้แค่ว่ามีแซ่ (นามสกุล) ของตระกูลเราด้วย คุณพ่อบอกผู้เขียนถึงที่มาของพิมพ์พระสมเด็จ ที่ด้านหลังเป็นอักษรจีน ซึ่งท่านเองมีโอกาสได้มาหลายตัวอักษร ทั้งเป็นตัวอักษรแซ่ และคำมงคลต่างๆ 

 

พระสมเด็จ หลังอักษรจีนนี้เอง เมื่อราวๆ 6-7 ปีที่แล้ว  คุณพ่อได้มาจากคุณยายท่านหนึ่งอยู่ทางภาคกลาง ที่มีสามีเป็นทหารและเก็บสะสมพระสมเด็จอยู่ประมาณหนึ่ง 

 

ผู้เขียนเองก็มีโอกาสได้รับพระสมเด็จจากคุณพ่อ ที่ด้านหลังเป็นอักษรจีน คำว่า โง้ว (ภาษาแต้จิ๋ว) ซึ่งเป็นแซ่ประจำตระกูลของเรา และเป็นพระสมเด็จประจำตัวของผู้เขียนมาตลอด ด้วยพิมพ์พระประธานที่สง่าสวยงามแล้ว ด้านหลังเป็นแซ่ของตัวเอง ทำให้ผู้เขียนรักและหวงแหนมากเป็นพิเศษ 

 

เมื่อได้ส่องดูเนื้อพระสมเด็จตามที่คุณพ่อสอน ให้ดูความแห้ง ความยุบ และความเก่าของเนื้อมวลสาร ก็พบว่าเข้าตามหลักการที่คุณพ่อศึกษาของ อาจารย์ไพศาล มุสิกะโปดก ผู้ชำนาญการธรรมชาติวิทยา ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์พระสมเด็จ ที่ให้แนวทางว่า ธรรมชาติพระสมเด็จที่ผ่านกาลเวลามากว่า 150 ปี ว่าจะต้องมีร่องรอยของการ  ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง”  ปรากฏในองค์พระสมเด็จ

 

 

 

กำเนิด พระสมเด็จ หลังอักษรจีน

 

ในรัชสมัยพระบาทสามเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานสมณศักดิ์ถวายพระภิกษุโตเป็นครั้งแรก  โดยมีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ราชทินนาม "พระธรรมกิติ" และดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ขณะนั้นท่านอายุ ๖๕ ปี อีก ๒ ปีต่อมา (พ.ศ. ๒๓๙๗) ท่านจึงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ ในราชทินนาม "พระเทพกวี" หลังจากนั้นอีก ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๔๐๗) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ในราชทินนาม "สมเด็จพระพุฒาจารย์"

 

ช่วงเวลานั้นเองเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ได้เป็นที่เลื่อมใสและศรัทธา เป็นที่เคารพนับถือทั่วไปตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงสามัญชน ด้วยปฏิปทาจริยาวัตรของท่าน ทำให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยเคารพนับถือว่าท่านเป็นอมตะเถราจารย์รูปหนึ่งของเมืองไทย 

ในยุคสมัยนั้นเรียกท่านว่า "ขรัวโต" ส่วนในปัจจุบันคนนิยมเรียกว่า "สมเด็จโต" หรือ "สมเด็จวัดระฆัง

 
ไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นที่เคารพ ศรัทธาสมเด็จโต หากแต่ในยุค ร.3-ร.5 ที่ประเทศไทยทำการค้ากับชาวจีน และพ่อค้าชาวจีนเดินทางมาเมืองไทยมากมายก็ล้วนแต่เคารพศรัทธาสมเด็จฯ แทบทั้งสิ้น 

ในช่วงที่สมเด็จได้สร้างและปลุกเสกพระสมเด็จเป็นจำนวนมาก เพื่อตั้งใจสืบทอดพระพุทธศาสนานั้น ตรงกับช่วงที่การค้าของชาวไทยและจีนเจริญรุ่งเรือง และชาวจีนมากมายมาตั้งรกรากในประเทศไทย นอกจากพระสมเด็จพิมพ์ต่างๆ ที่ปรากฏให้เราเห็นแล้วนั้น ยังมี พิมพ์หลังอักษรจีน เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นด้วย 

 

เนื่องจากเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และศิลปวัฒนธรรมไทยให้กว้างไกลไปยังประเทศจีน  เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โต จึงให้ช่างแกะบล็อกที่ด้านหลังเป็นอักษรจีนต่างๆ ทั้งคำมงคล คำอวยพร แซ่ ฯลฯ เพื่อแจกจ่ายให้ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวจีนที่อพยพมาตั้งหลักปักฐานในเมืองไทย ที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาและสมเด็จโต ให้พวกเขาพกติดตัวเป็นสิริมงคลในการทำมาค้าขายระหว่างประเทศและประเทศจีน เมื่อพ่อค้าชาวจีนที่เดินทางกลับไปยังประเทศจีนก็ได้นำพระสมเด็จกลับไปด้วยจำนวนมาก เพื่อเก็บสะสมไว้ให้กับลูกหลาน และเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลในการค้าขาย ส่วนพ่อค้าที่ไม่กลับประเทศก็เก็บสะสมเอาไว้ให้กับลูกหลานของตน 

 

 

พิมพ์หลังอักษรจีน ที่ค้นพบในพระสมเด็จ

 

เมืองหลวง

พระมหากษัตริย์
ราชวงศ์จักรี แซ่เจิ้ง (แต่, แต้)

พระมหากษัตริย์ วังหลวง หมายถึง รัชกาลที่ 4

郑皇 (鄭皇พระมหากษัตริย์จักรพรรดิแห่งราชวงศ์จักรี แซ่เจิ้ง (แต่, แต้)

พระมหากษัตริย์(จักรพรรดิแห่ง)

鄭皇 พระมหากษัตริย์จักรพรรดิแห่งราชวงศ์จักรี แซ่เจิ้ง (แต่, แต้)
花大師 หรือ พระอาจารย์ขรัวโต(สมเด็จฯโต พรหมรังสี)
ยา การรักษาด้วยสมุนไพร

เป็นโลกสวรรค์และดินแดนบริสุทธิ์พุทธจักรวาล

药天 เป็นยาของโลกสวรรค์และดินแดนบริสุทธิ์พุทธจักรวาล

ฮก หมายถึง มีความสุขได้สมตามปรารถนา ทั้งความร่ำรวยโดยโภคทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ

富裕苏克 มั่งมี ศรีสุข

益利โชคดี มีชัย

ค้าขาย กำไรงาม

รุ่งโรจน์ รุ่งเรือง

黄金万两  ทองคำหมื่นชั่ง

佛教圣พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธ์

吉吉 โชคดี

 

และยังมีตัวอักษรจีนอีกมากมาย ทั้งแซ่ต่างๆ และคำมงคล ทั้งนี้ถ้าท่านมีโอกาสได้ครอบครองไม่ว่าจะเป็นการส่งต่อจากตระกูล หรือมีโอกาสได้มาจากที่ไหนก็ตาม ขอให้เก็บสะสมและอนุรักษ์เอาไว้ เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ต่อไป 

 

ความศรัทธาและพลังพุทธคุณพระสมเด็จ ที่ทำให้ชาวจีนต่างตามหา

 

มีการคาดเดาว่า พระสมเด็จ หลังอักษรจีน ได้สร้างราวๆ ปี 2406 - 2411 และได้นำเข้าพิธีในวาระที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ (11 พ.ย.2411) นอกจากพลังพุทธคุณในองค์พระสมเด็จที่ล้นปรี่แล้ว เมื่อนำเข้าพระราชพิธีสำคัญๆ เช่นนี้ ยิ่งอัดพลังพุทธคุณให้เต็มเปี่ยมเข้าไปอีก 

 

ชาวจีนในปัจจุบัน รู้จักพระสมเด็จ วัดระฆัง จากการที่พ่อค้าชาวจีนยุคก่อนได้นำกลับไปยังประเทศจีนและเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักถึงพลังพุทธคุณในองค์พระสมเด็จ 

 

มีคำบอกเล่าว่า กลุ่มชาวจีนที่ปฏิบัติธรรมสามารถมองเห็นเหตุการณ์ในอนาคต ได้ล่วงรู้ได้ว่าจะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างรุนแรง มีการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากมาย ความเสียหายนี้จะเกิดขึ้นทุกมุมโลก 

 

ผู้ปฎิบัติ ถามสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า ทำยังไงถึงจะพ้นภัยนี้ได้ จึงได้คำตอบว่า คนดีมีศีลธรรมส่วนหนึ่งจะพ้นจากภัยพิบัตินี้ ถ้าใครได้สวดมนต์ภาวนาอยู่เป็นประจำ และมีพระสมเด็จ วัดระฆัง หรือ พระกรุอายุหลายร้อยปี พกติดตัวก็จะพ้นจากภัยพิบัตินั้นได้ประมาณหนึ่ง 

 

เรื่องนี้เองมีการบอกต่อในผู้ปฏิบัติธรรมและผู้ใกล้ชิด ทำให้ชาวจีนทั้งจากแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง ไต้หวันหรือแม้แต่สิงคโปร์ ต่างค้นหาพระสมเด็จ วัดระฆัง เอาไว้บูชา

 

มวลสารและผงวิเศษของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ในยุคที่ท่านมีสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ที่ผนึกพลังพุทธคุณในพระสมเด็จ ทำให้ไม่ว่าจะชาวไทย หรือชาวจีนต่างค้นหามาเพื่อบูชา มีมวลสารหลักคือ ปูนเปลือกหอย เป็นหลัก ผสมเข้ากับมวลสารและผงวิเศษอื่นๆ ดังต่อไปนี้ 

 

1. ปูนเปลือกหอยที่ตำในครก ผ่านตระแกรงร่อนจนได้ผงขาวละเอียด หินปูน ปูนเพชร 

2. ผงพุทธคุณทั้ง

- ผงกฤติยาคม อนุภาพในทางแคล้วคลาดปลอดภัย

- ผงปถมัง อานุภาพคงกระพันชาตรี

- ผงอิทธิเจ อานุภาพทางเมตตามหานิยม

- ผงตรีนิสิงเห อนุภาพทางมหาเสน่ห์

- ผงมหาราช อนุภาพทางเสริมอำนาจ บารมี

3. ไม้มงคลต่างๆ ว่านเกษร 108

4. ดินมงคลจากที่ต่างๆ เช่น ดินเจ็ดป่า เจ็ดโป่ง ดินหลักเมือง

5. ทรายเงิน ทรายทอง

6. ผงถ่าน คำภีร์ใบลานจารย์ที่ชำรุด นำมาตากแห้งและเผา 

7. กระยาหารต่างๆ เช่น ข้าวสุก กล้วย ขนุนสุก 

8. เกสรดอกไม้

9. น้ำพุทธมนต์

10. น้ำอ้อยเคี่ยว น้้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว 

11. เศษพระกำแพงหัก

12. พระธาตุ แร่ รัตนชาติ

13. ฯลฯ

 

พลังพุทธคุณของพระสมเด็จครอบทั้งจักรวาล และเป็นสิริมงคลกับผู้ที่ได้ครอบครอง มีทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาด อยู่ยงคงกระพัน ป้องกันภูตผีปีศาจ โรคระบาด และอำนวยผลให้เกิดสิริมงคล ความสุขสมบูรณ์ทั้งปวง ทำให้เกิดความอาจหาญ กำราบภัยอันตราย ฯลฯ  ยิ่งผู้ที่ถือครองได้ถือศีล ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบด้วยแล้วนั้น ก็จะเป็นพลังคุ้มครองอย่างดีเลยทีเดียว

 

 

 

พระสมเด็จ หลังอักษรจีนขรัวต้าซือ

 

พระสมเด็จ หลังอักษรจีน คำว่า ขรัวต้าซือ องค์นี้เอง คุณพ่อเพิ่งทราบคำอ่าน และคำแปล หลังจากที่ได้มาเรียบร้อยแล้ว ค้นข้อมูลก็พบว่า อักษรด้านหลัง เขียนว่า 花大師 (ขรัวต้าซือ) แปลว่า พระอาจารย์ขรัวโต หรือ สมเด็จฯโต พรหมรังสี 

 

ตามข้อมูลที่บอกว่า คนในยุคก่อน เรียกสมเด็จฯโต ว่าขรัวโต และชาวจีนที่เข้ามาทำการค้าในสมัยนั้นให้ความเคารพ ศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาและสมเด็จฯ มาก จึงได้ทำบล็อกพระสมเด็จที่เป็นภาษาจีน ด้วยคำสำคัญ คำมงคล และตระกูลของตัวเอง เอาไว้เป็นที่ระลึก เมื่อกลับไปยังบ้านเมืองตนก็นำไปเผยแพร่ บูชา ส่วนชาวจีนในประเทศไทยเอง ก็ส่งต่อไปยังรุ่นลูกหลาน เพื่ออนุรักษ์ และสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป 

 

คุณพ่อเองก็มีเชื่อสายจีนแต้จิ๋วเช่นกัน เมื่อได้พบอักษรจีนที่เป็นตระกูลของตน (แซ่โง้ว) และคำมงคลต่างๆ ก็เก็บสะสมมาจำนวนหนึ่ง โดยมีเจตนาในการอนุรักษ์พุทธศิลป์ และสืบทอดไปยังลูกหลานต่อไป 

 

จากการพิจารณาเนื้อพระสมเด็จชุดนี้แล้วด้วยสายตา และกล้องกำลังขยาย ก็พบความ ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง ตามที่ท่านศึกษา พร้อมทั้งร่องรอยการหลุดร่อนของมวลสาร และสอนให้ผู้เขียนดูเรื่องมวลสาร และความแห้ง เหี่ยว ของพระที่ผ่านกาลเวลามากว่า 150 ปี ก่อนที่จะพิจารณาถึงพิมพ์ทรง เนื่องจากพระสมเด็จ มีพิมพ์ทรงที่หลากหลาย และแปลกๆ ถ้าพิจารณามวลสาร ความแห้ง แล้วว่าเข้าตามตำรา ก็พิจารณาพิมพ์ทรงลำดับต่อไป 


องค์นี้เอง ด้านหน้าเป็นพิมพ์ใหญ่ ชายจีวรหนา เกศจรดซุ้ม พระกร (แขน) เรียวทั้ง 2 ข้าง พระอังสา (ไหล่) ด้านซ้าย (พระประธาน) เอียงลาดลง ฐานเขียนทางด้านซ้าย (ฐานชั้นล่างสุด) มีความยุบเอียงในมุมบน มีรอยหลุดร่อนของมวลสาร 3 จุด ในพื้นภายในซุ้มครอบแก้วด้านขวาพระประธาน

 

ด้านหลังองค์พระ มีการกดพิมพ์เป็นอักษรจีนคำว่า  花大師 (ขรัวต้าซือ) ซึ่งเป็นชื่อเรียกของสมเด็จฯโต มีการหลุดร่อนของมวลสารตรงอักษรคำว่า ทำให้เห็นคำไม่ค่อยชัดเท่าไหร่ พบความแห้งของรักต่างๆ ที่ใช้ในการเคลือบผิวพระ 

 

ส่องพระสมเด็จ หลังอักษรจีน ขรัวต้าซือ จากกล้องกำลังขยายสูง” 






 

ยังคงมีต้นแบบของพระสมเด็จ หลังอักษรจีน ให้เราได้เรียนรู้และศึกษา โดยมีวรรณะสีของพระที่แตกต่างกันไปมากมาย เช่น ตระกูลขุนบรรหารบุรกิจ หนึ่งในสี่ต้นตระกูลที่ได้รับแบ่งมอบพระสมเด็จของสมเด็จฯโต ต่อจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เจริญ (พระโอรสในสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์) ปัจจุบันคุณอ้อย ลูกหลานของตระกูลขุนบรรหารบุรกิจ ก็ได้สืบทอดพระสมเด็จมากมาย โดยเฉพาะพิมพ์หลังอักษรจีน ที่มีวรรณะสีต่างๆ และหลากหลายคำมงคล 

 

การอนุรักษ์พุทธศิลป์ ของวัตถุมงคลที่เกจิอาจารย์เราเป็นผู้สร้างและปลุกเสกเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าการดูเรื่องราคาซื้อขาย และการ รักษา จนถึงรุ่นลูกหลานของตระกูลเป็นสิ่งที่ท้าทายและทดสอบจิตใจสูง  ที่สุดแล้วเราควร อนุรักษ์ เพื่อส่งต่อความเจริญรุ่งเรืองและความเป็นมาไปยังรุ่นลูกหลานต่อไป เพื่อเป็น หลักฐานและร่องรอย ความเจริญของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ในยุคนั้นๆ และความเป็นสิริมงคลที่เกิดกับตัวผู้ที่เคารพ ศรัทธา



อ้างอิง : 1.https://bit.ly/3cMsEBA

2.https://bit.ly/3oKOuIb
3.https://bit.ly/36FyFMy
4.https://bit.ly/3oKfF64
5.https://www.youtube.com/watch?v=TF-tOktL5ZM  



คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)