ร่วมศึกษาพระกริ่ง ถือดอกบัว (Phra Kring | 帕克林) เนื้อทองคำผสม (ทองคำ 7.13%) มีใบรับรองผลการตรวจ โดย "ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์-พระเครื่องไทย" พบว่า มีค่าทองคำ (AU) 7.13% และยังพบค่าทองแดง (CU) 80.88% รวมถึงธาตุต่างๆ อีกหลากหลายค่า
พระกริ่งถือดอกบัว นับว่ามีความงดงาม อ่อนช้อยด้านพุทธศิลป์อย่างมาก พระกริ่งมีหลากหลายปาง เช่น ถือแจกัน ดอกบัว อุ้มบาตร เป็นต้น ซึ่งพระกริ่งถือดอกบัวองค์นี้เอง ได้ผ่านการตรวจค่าเปอร์เซ็นต์ทองคำในวันที่ 3 ธันวาคม 2563 ถือเป็นพระกริ่งอีกองค์หนึ่งที่สวยงาม อ่อนช้อยในหลากหลายปางที่พ่อผู้เขียนสะสม
พระกริ่งกับความเป็นมาที่เชื่อ “พระหมอยา” สามารถรักษาโรคได้
ตามความเชื่อของพระพุทธศาสนา เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีหลากหลายพระองค์นับตั้งแต่บรรพกาล ซึ่งหนึ่งในพระพุทธเจ้าหลายพระองค์นั้นมี “พระไภษัชยคุรุ” พระพุทธเจ้า อันเป็นที่มาของพระกริ่งทั้งหลาย
พระไภษัชยคุรุ เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ตั้งปณิธาน 12 ประการ ที่จะช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ที่เกิดจากโรคทางกายและใจ และให้มีชีวิตยืนยาว จึงขนานนามพระองค์ว่า พระหมอยา หรือ เอี๊ยะซือฮุก โดยเป็นที่นับถือกันมากในกลุ่มชาวจีนและชาวทิเบต
การสร้างพระกริ่งพระไภษัชยคุรุ ตามพุทธวิธีดั้งเดิมของจีนและของทิเบตจะต้องประกอบด้วยปัญจโลหะ 5 อย่าง คือ ดีบุก ทองแดง เงินทองและปรอท ซึ่งถือตัวแทนสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์คือพระไวโรจนะพุทธะ พระอักโษภยะพุทธะ พระรัตนสัมภวะพุทธะพระอมิตาภพุทธะ และพระอโมฆสิทธิพุทธะ ต้องอุดกริ่งด้วยกริ่งที่ประกอบด้วยมหาพุทธคม 5 ประการ นับเป็นการสร้างที่สลับซับซ้อนมาก
ในประเทศจีนสมัยราชวงศ์ถัง พระไภษัชยคุรุได้รับการยกย่องเทียบเท่าพระศากยมุนี และมีการสร้างประติกรรมรูปเคารพทั้งแบบยืนและนั่ง ส่วนในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั่ง คือ พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิ บนพระหัตถ์ถือหม้อน้ำมนต์ หรือเจดีย์เก็บตำรายา (แบบหลังพบมากในวัดจีนเมืองไทย)
คามเชื่อเรื่องพระกริ่ง ได้เผยแผ่เข้ามาทางเขมรในสมัย โดยมีหลักฐานในการสร้างพระกริ่งปทุมสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นพระกริ่งที่สร้างโดยพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ หรือพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งเป็นผู้สร้างนครวัด
หลังจากนั้นแนวคิดเรื่องพระกริ่งจึงเริ่มเผยแผ่เข้ามาในเมืองไทย ซึ่งผู้ที่สร้างพระกริ่งครั้งแรก คือสมเด็จพระสังฆราช กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ผู้สร้างพระกริ่งปวเรศ ที่เป็นตำนานและเป็นที่เสาะหาสำหรับผู้ศรัทธา
ถ้าผู้สร้างและผู้ใช้พระกริ่งสามารถเข้าถึงพระกริ่งได้อย่างแท้จริงจะสามารถนำพระกริ่งไปอาราธนาใช้ได้ทั้งในการรักษาโรคภายนอกเช่น ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ไม่สบาย และโรคภายในคือ กิเลส ความโลภ โกรธ หลง ที่อยู่ในใจให้หมดไป จึงถือได้ว่าเป็นพุทธคุณชั้นสูงที่รักษาได้ทั้งทางโลกและทางธรรม
“พระกริ่ง” กับคุณวิเศษ 12 ประการ
ตามความเชื่อของการบูชา “พระกริ่ง” หรือ “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต” เชื่อว่าจะได้รับ มหาปณิธาน 12 ประการ อันเป็นคุณอันวิเศษที่ผู้ใดก็ตาม ได้ครอบครองหรือบูชา ด้วยความเลื่อมใส หรือเอ่ยพระนามพระองค์ จะได้รับอานิสงส์แห่งการบูชามีดังต่อไปนี้
1.ขอให้สรรพสัตว์จงมีวรกายดุจเดียวกับพระองค์
2.ขอให้วรกายของพระองค์มีสีสันดุจไพฑูรย์ มีรัศมีรุ่งโรจน์โชตนาการยิ่งกว่าแสงอาทิตย์และแสงจันทร์ เพื่อส่องทางให้สัตว์ที่หลงในอบายคติพ้นไปสู่คติที่ชอบ
3.ขอให้สรรพสัตว์ได้รับโภคสมบัตินานาประการ อย่าได้มีความยากจนใดๆ
4.หากสรรพสัตว์ใดมีมิจฉาทิฐิ ขอให้พระองค์ทำให้เขาตั้งมั่นในสัมมาทิฐิในโพธิมรรค
5.หากสรรพสัตว์ใดประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยแห่งพระองค์ขอให้อย่าได้มีศีลวิบัติ หากมีศีลวิบัติ เมื่อได้สดับพระนามแห่งพระองค์จงบริสุทธิ์บริบูรณ์ หากสรรพสัตว์ใดมีรูปกายไม่งาม ผิวไม่ผ่องใส โง่เขลาเบาปัญญา ตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ หลังค่อม สารพัดพยาธิทุกข์ต่างๆ เมื่อได้สดับพระนามแห่งพระองค์ขอให้หายและหลุดพ้นจากปวงทุกข์เหล่านั้น มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ผิวกายผ่องใส
6.ขอให้สรรพความเจ็บป่วยทั้งหลายจงหมดไป
7.ขอให้สรรพสัตว์เป็นผู้มีกายใจอันผาสุก มีบ้านเรือนอาศัย พรั่งพร้อมด้วยธนสารสมบัติ จนที่สุดสำเร็จแก่พระโพธิญาณ
8.หากอิสตรีใดเบื่อหน่ายในเพศแห่งตน เมื่อสดับพระนามแห่งพระองค์ จักสามารถเปลี่ยนเพศจากหญิงเป็นชาย จนที่สุดสำเร็จแก่พระโพธิญาณ
9.ขอให้สัตว์ทั้งหลายหลุดพ้นจากข่ายแห่งมาร และตั้งอยู่ในสัมมาทิฐิได้
10.หากสรรพสัตว์ใดต้องพระราชอาญา ต้องคุมขัง หรือต้องอาญาถึงประหารชีวิต ตลอดจนได้รับการดูหมิ่นดูแคลน หากเอ่ยพระนามแห่งพระองค์และอาศัยบารมีและคุณาภินิหาริย์ของพระองค์ ขอสัตว์เหล่านั้นจงหลุดพ้นจากปวงทุกข์
11.ขอให้สัตว์ทั้งหลายบริบูรณ์ด้วยเครื่องอุปโภคบริโภค มีความอิ่มหนำสำราญ
12.ขอให้สัตว์ทั้งหลายบริบูรณ์ด้วยสรรพอาภรณ์ เครื่องประดับ ธนสารสมบัติและเครื่องบำรุงความสุขต่างๆ
ด้วยมหาปณิธานทั้ง 12 ประการนี้ ทำให้ผู้ที่มีไว้ครอบครองบูชามีความสุข ความเจริญ รุ่งเรือง นับเป็นคุณอันวิเศษยิ่ง
พระคาถาบูชาพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า หรือ พระกริ่ง
คาถา “พระไภษัชยคุรุตถาคตพุทธเจ้าอภิเษกสัจพจน์” บูชาพระไภษัชยคุรุ เป็นคาถาสำคัญมากที่สุดในพระพุทธศาสนา ฝั่งอุตตรนิกาย หรือนิกายมหายาน สำหรับผู้ที่สวดคาถานี้ให้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณแห่ง พระไภษัชยคุรุตถาคตพุทธเจ้า จินตนาการว่าพระองค์ทรงปรากฏกายท่ามกลางท้องนภา พระฉวีสีดั่งท้องนภา พระรัศมีสาดส่องไปทั่ววัฏฏะสงสาร ไปยังร่างกายของสรรพชีวิตทุกภพภูมิ ยังให้ปวงสรรพชีวิต พ้นแล้วจากปวงโรคาพาธ, สรรพภยันตราย, ความยากจน, ความเข็ญใจ, ความยากไร้, ความขาดแคลน, ความขับแค้นใจ, ความทุกข์กายความทุกข์ใจทั้งปวง และในที่สุดจักยังให้สรรพชีวิต กระทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ คือเข้าถึงฝั่งพระนฤพาน
พระคาถา บูชาพระไภษัชยคุรุเป็นภาษาสันสกฤต
นะโม ภะคะวะเต ไภษัชฺยะคุรุ ไวฑูรยะ ประภาราชายะ ตะถาคะตายะ อะระหะเต สัมมา สัมพุทธายะ ตะทะยะทา โอม ไภษัชเย ไภษัชเย มหาไภษัชเย สมุทะคะเต สะวาหา
พระคาถา บูชาพระไภษัชยคุรุเป็นภาษาจีนกลาง
นำมอ ปอเจปาตี พีซาเซอ จฺวีลูปีลิวลี ปอลาปอ เฮอลาเซเย ตาทอเจตอเย อะลาเฮอตี ซำเมียวซำปอทอเย ตาจือทา อม พีซาซือ พีซาซือ พีซาเซอ ซำมอเจตี โซฮา
คาถา “พระไภษัชยคุรุตถาคตพุทธเจ้าอภิเษกสัจพจน์” นี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
ท่อนแรกคือ บทนมัสการพระไภษัชยคุรุตถาคตพุทธเจ้า คือ นะโม ภะคะวะเต ไภษัชฺยะคุรุ ไวฑูรยะ ประภาราชายะ ตะถาคะตายะ อะระหะเต สัมมา สัมพุทธายะ (นำมอ ปอเจปาตี พีซาเซอ จฺวีลูปีลิวลี ปอลาปอ เฮอลาเซเย ตาทอเจตอเย อะลาเฮอตี ซำเมียวซำปอทอเย)
และท่อนหลังคือ ตัวคาถา หรือที่เรียกว่า “หฤทัยคาถา” คือ ตะทะยะทา โอม ไภษัชเย ไภษัชเย มหาไภษัชเย สมุทะคะเต สะวาหา (ตาจือทา อม พีซาซือ พีซาซือ พีซาเซอ ซำมอเจตี โซฮา)
ชมวิดีโอพระกริ่งถือดอกบัว เนื้อทองคำผสม (ทองคำ 7.13 เปอร์เซ็นต์)
พระกริ่ง ถือดอกบัว (Phra Kring | 帕克林) เนื้อทองคำผสม (ทองคำ 7.13%) นำไปตรวจค่าทองคำกับ "ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์-พระเครื่องไทย" พบว่า มีค่าทองคำ (AU) 7.13% และยังพบค่าทองแดง (CU) 80.88% รวมถึงธาตุต่างๆ อีกหลากหลายค่า โดยผลการตรวจสอบ รับรองวันที่ 3 ธันวาคม 2563
เรื่องโดย : อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมน์นิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam
คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com
(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)