“พระสมเด็จ” สายวัง ปิดอัญมณีทั้งองค์

เปิดภาพ “พระสมเด็จ” สายวัง ปิดอัญมณีทั้งองค์ คาดสร้างสมัย ร.๔ - ร.๕


พระสมเด็จ ที่ประดับอัญมณี ดูแปลกตาและน่าสะสมเอาไว้ศึกษา ก่อนหน้าที่เคยได้มาคือพระสมเด็จพิมพ์พระประธานมีหลังเรียบบ้าง และหลังเป็นรูปต่างๆ บ้าง แต่พระสมเด็จที่ประดับอัญมณีนี้ น่าเอามาศึกษาเพิ่มเติมคุณพ่อผู้เขียนบอกเล่าถึงการเก็บพระสมเด็จ ที่ประดับอัญมณีต่างๆ ซึ่งคุณพ่อมีพระสมเด็จชุดนี้อยู่ประมาณหนึ่ง ผู้เขียนเห็นแล้วก็แปลกตาดี ด้วยอัญมณีที่ประดับดูสวยงาม และฝีมือการติดนี้ ผู้เขียนคิดว่าน่าจะมาจากสายวัง 

 

ย้อนกลับไปในบทความก่อนๆ ที่เป็นพระสมเด็จสายวัง ทั้งหลัง ร.๔ หลังครุฑ ฯลฯ เทียบกับพระสมเด็จชุดนี้ที่คุณพ่อได้มา นับว่าชุดนี้ดูแปลกตากว่า เนื่องจากด้านหน้าองค์พระประธานประดับอัญมณีเล็กๆ กระจายกันทั้งองค์พระ ส่วนด้านหลังพระสมเด็จ ถูกประดับด้วยอัญมณีทั้งแผ่นหลัง เล็กใหญ่ และหลากสีสัน ปิดทองเก่าทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งแตกต่างจากองค์ก่อนๆ ที่นำเสนอ

 

พระสมเด็จ พิมพ์วัง

จากการที่กลุ่มสะสมพระสมเด็จต่างๆ ออกมาเปิดเผยพระสมเด็จที่ต่างเก็บสะสมเอาไว้ ก็พบว่า พระสมเด็จ มีหลากหลายพิมพ์ หลากหลายแบบ นอกจากพิมพ์นิยม 5 พิมพ์ และพิมพ์ที่ถูกจำแนกอีก 10 กว่าพิมพ์ ยังมีการแบ่งประเภทพิมพ์ที่น่าสนใจ และควรรับไปพิจารณา โดย อ.ปิ่นสัณฑ์ สิงหเสนี ผู้สะสมและสืบทอดมรดกพระสมเด็จจากต้นตระกูลสิงหเสนี ที่แบ่งพิมพ์พระสมเด็จกว้างๆ จากประสบการณ์ที่สะสมและพบเห็น คือ 

 

1. พิมพ์วัง สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อบรรจุไว้ในวังและหอพระ

2. พิมพ์วัด สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อบรรจุในวัดและกรุวัดต่างๆ ซึ่งมีราวๆ 9 วัด คือ วัดเกศไชโย วัดสะตือ วัดโพธิ์ วัดระฆัง วัดบางขุนพรหม วัดสระเกศ วัดลครทำ วัดขุนอินทประมูล วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

3. พิมพ์บ้าน สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อแจกชาวบ้าน

4. พิมพ์วังหน้า สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อบรรจุไว้ที่ส่วนวังหน้า (พื้นที่วังหน้าเดิมได้ดัดแปลงส่วนหนึ่งเป็นสนามหลวง โรงละครแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน)

5. พิมพ์พุทธจารึก  สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อบันทึกเรื่องราวประเพณีในสมัยนั้น เช่น พระสมเด็จหลังพิธีโยนบัว, พระสมเด็จหลังเสาชิงช้า ฯลฯ

 


พระสมเด็จ พิมพ์วังหน้า - วังหลัง


ผู้เขียนได้หาข้อมูลลึกลงไป ก็พบการจำแนกพระสมเด็จพิมพ์วังแยกย่อยลงไปอีก เช่น พิมพ์วังหน้า พิมพ์วังหลัง ฯลฯ วังหน้า - วังหลัง คืออะไร ผู้เขียนรวบรวมข้อมูลมาอธิบาย ดังนี้

 

วังหน้า - วังหลัง คือ?

คือ ตำแหน่งของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล  เรียกกันทั่วไปว่าวังหน้า เป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ไทย ทรงสถาปนาขึ้นสำหรับพระมหาอุปราช และมีฐานะเป็นองค์รัชทายาท ผู้มีสิทธิ์ที่จะขึ้นครองราชสมบัติต่อไป ซึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็มีการแต่งตั้งตำแหน่งพระมหาอุปราช เพื่อไปครองเมืองต่าง ๆ 

 

ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อเสด็จครองเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงสร้างพระราชวังจันทรเกษม ขึ้นที่หน้าพระราชวังหลวง เพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรเวลาเสด็จมายังกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นที่มาของคำว่า วังหน้า

 

ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา ได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาหลวงสรศักดิ์ เป็นพระมหาอุปราช ประทับ ณ วังหน้า พร้อมทั้งบัญญัติศัพท์นามสังกัดวังหน้าว่า "กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ สถาปนานายจบคชประสิทธิ์ให้ดำรงพระยศเป็นวังหลัง พระราชทานวังหลังเป็นที่ประทับ พร้อมทั้งบัญญัติศัพท์นามวังหลังว่า "กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข" เป็นครั้งแรก

 

ถัดมาในช่วงรัตนโกสินทร์  กรมพระราชวังบวรสถานมงคลจะประทับอยู่ที่พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) มาโดยตลอด (ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ) ตำแหน่งวังหน้าถูกยกเลิกไปในสมัย ร.๕ หลังจากการเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ หลังจากนั้นจึงมีตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นมาแทน โดยพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นพระองค์แรกที่ทรงดำรงตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร 

 

พื้นที่ของวังหน้าปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ส่วนพื้นที่วังหลังปัจจุบันคือ พื้นที่โรงพยาบาลศิริราช

 


 

การสร้างพระสมเด็จ ของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี

การสร้างพระสมเด็จของสมเด็จโตนั้น คาดการณ์ว่ามีการสร้างตั้งแต่สมเด็จฯ บวชเป็นเณรและเป็นพระครู แต่สำหรับพระสมเด็จ วัดระฆังในยุคที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง และมีพิมพ์ทรง มวลสารที่อัดแน่นนั้น คือช่วง ร.๔ - ร.๕

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล ผู้ศึกษาพระสมเด็จ และเจ้าของบล็อกพระเครื่องเรื่องใหญ่ ที่คุณพ่อผู้เขียนได้ใช้เป็นอีกหนึ่งแนวทางการศึกษานั้น ได้รวบรวมข้อมูลการแบ่งช่วงการสร้างพระสมเด็จ ของเจ้าประคุณสมเด็จโต ซึ่งผู้เขียนขอตัดข้อมูลมาในช่วง ร.๔ - ร.๕ ดังนี้

 

ช่วงที่ 3 พ.ศ. 2394 - 2407 ในช่วงต้นรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต อายุ 63-76 ปี เป็นช่วงเวลาที่ท่านได้รับตำแหน่งราชาคณะตั้งแต่ที่ พระธรรมกิติ (พ.ศ. 2395) พระเทพกระวี (พ.ศ. 2397) และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พ.ศ. 2407) ในช่วงเวลานี้ น่าจะมีการสร้างพระสมเด็จ เนื่องในโอกาสฉลองเลื่อนสมณศักดิ์ตามลำดับดังกล่าวด้วย 

 

ช่วงที่ 4 พ.ศ. 2408 - 2411 ในช่วงปลายรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต อายุ 77-80 ปี  ในปี พ.ศ. 2408 ได้มีการสร้างพระสมเด็จเพื่อบรรจุกรุพระธาตุพนมจำลองในวัดบวรสถานสุทธาวาส (วังหน้า) มิใช่ที่พระธาตุพนม จ.นครพนม และเหตุการณ์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสวรรคต ในปี พ.ศ. 2408 

 

มีข้อมูลระบุว่า พระสมเด็จวังหน้ามีการสร้างมาตั้งแต่แกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) และมีการสร้างจำนวนมากที่สุดในสมัยกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ซึ่งท่านดำรงตำแหน่งวังหน้าองค์สุดท้ายของราชวงศ์จักรี และได้สร้างพระสมเด็จร่วมกับพระกับเจ้าคุณกรมท่า หรือ เจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค)  

 

จะเห็นได้ว่าในช่วงปลาย ร.๔ สมเด็จโตท่านสร้างพระเพื่อบรรจุกรุวังหน้าเอาไว้ด้วย และจากข้อมูลอื่นๆ ที่ผู้เขียนได้มา มีการกล่าว่า กรุวังหน้า (วัดพระแก้ววังหน้า) หรือ วัดบวรสุทธาวาส ที่ปัจจุบันคือพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ มีการแตกกรุในช่วงปี 2503 เนื่องจากเจดีย์ชำรุดหักพังลงมา ทำให้พระพิมพ์ต่างๆ หล่นมาจำนวนมาก และยังพบพระสมเด็จบนเพดานโบสถ์วัดบวรสุทธาวาสอีกด้วย

 

นอกจากนี้ ในปี 2523 ที่มีการบูรณะวัดพระแก้ววังหลวง (วัดพระศรีรัตนศาสดารามในปัจจุบัน) มีการแตกกรุพระสมเด็จเป็นจำนวนมาก เช่น บนเพดานโบสถ์วัดพระแก้ว  กรุเจดีย์ทอง  ตามเสาภายในวัด เป็นต้น ซึ่งพระสมเด็จที่พบในวัดพระแก้วนั้น มีจากหลากที่ทั้ง วังหน้า วังหลวง วังหลัง และได้มีการจัดสร้างหลายครั้งในวันสำคัญๆ ในสมัย ร.๕

 

ข้อมูลของ พิพิธภัณฑ์ (จำลอง)พุทธรักษาโดย น.พ. ฐิติกร พุทธรักษา ผู้ศึกษาและสะสมพระเครื่อง  พร้อมทั้งรวบรวมความรู้เผยแพร่ให้ผู้ที่มีใจรักในพระเครื่องได้ศึกษาเรียนรู้ต่อ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพิมพ์พระที่พบในพระสมเด็จวังหน้า ไว้ดังนี้

 

 

พิมพ์พระสมเด็จ ที่พบในพระสมเด็จวังหน้า เช่น


1. พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ ลงรักลงชาดปิดทอง เนื้อปูนโปสเลน

2. พิมพ์หลวงปู่โลกอุดร​ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญสร้างให้หลวงปู่โลกอุดร​ มีมวลสารมากมายและหลากพิมพ์ทั้งพิมพ์นั่งเเละพิมพ์ยืน

3. พิมพ์จตุคามรามเทพ​ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ​ เจ้าพระยาสุภานุวงศ์​ มหาโกษาธิบดี​ เจ้าคุณกรมท่า​ และสมเด็จพระพุฒาจารย์โต​ ร่วมสร้างถวายรัชกาลที่ 5 ตอนขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.2411 มีการสร้างหลายสิบพิมพ์

4. พิมพ์พระสีประจำวัน​ สีไตรรงค์​ เบญจรงค์​ สัตตรงค์​ นพรงค์หรือนวรงค์​ ผู้ที่ร่วมสร้างเช่นเดียวกันกับที่สร้างจตุคามรามเทพ เพื่อเสริมสร้างพระบารมีถวายรัชการที่ ๕​ ขณะขึ้นครองราชย์​ โดยท่านเจ้าคุณกรมท่าได้นำผงหินปูนสีสำเร็จรูปมาจากมณฑลอันฮุย​ ประเทศจีนถึง​ 9​ สี​ คือ​ แดง​ เหลือง​ ชมพู​ เขียว​ ส้ม​ ฟ้า​ ม่วง​ ดำ​ ขาว​ มาทำเป็นพระประจำวัน​ 7​ สี​ พระไตรรงค์​ 3​ สี​ พระเบญจรงค์​ 5 สี(ขาว​ ดำ​ เหลือง​ แดง​ เขียว)​ สีประจำธาตุ คือ ดิน​ น้ำ​ ลม​ ไฟ​ และไม้​ พระสัตตศิริหรือสัตตรงค์​ 7​ สี​ พระนวรงค์หรือนพรงค์​ 9​ สี

5. พระสมเด็จประดับอัญมณี​ เป็นเพชรพลอยหรืออัญมณีต่างๆ​ ฝีมือช่างสิบหมู่​ 

 

สำหรับการสร้างพระสมเด็จที่ประดับอัญมณีนี้ น.พ. ฐิติกร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ยังมีการสร้างขึ้นหลังจากที่สมเด็จโตสิ้นไปแล้ว ซึ่งสร้างโดย ราชสกุล​ นวรัตน์-วรรัตน์​ ณ​ อยุธยา​ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระปิ่นเกล้า​ สร้างขึ้นเพื่อถวายรัชกาลที่​ ๕​ เมื่อครั้งทรงครองราชย์ครบ​ 25 ปี​ ข้อสังเกตคือ พระพักตร์ของรัชกาลที่​ 5​ จะมีพระมัสสุ (หนวด) ​ยาว แต่ถ้าทันยุคสมเด็จโตจะไม่มีพระมัสสุยาว (หนวด)​

 

มวลสารและผงวิเศษพระสมเด็จพิมพ์วังจากตำรา อ.ตรียัมปวาย 

 

จากข้อมูลในหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ พระสมเด็จฯ ของ  อ.ตรียัมปวาย  ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับมวลสารและผงวิเศษที่ผสมลงในการสร้างพระสมเด็จ ไว้ว่า

 

ผงวิเศษ 5 ประการ

ประกอบด้วยผงดินสอพองเป็นส่วนใหญ่ ผสมด้วย ดินโป่ง ดินตีนท่า ดินหลักเมือง เถ้าไส้เทียนในพระอุโบสถ ดอกกาหลง ยอดสวาท ยอดรักซ้อน ไคลเสมา ไคลประตูเมือง ไคลประตูพระบรมมหาราชวัง ไคลเสาตะลุงช้างเผือก ราชพฤกษ์ พลูร่วมใจ พลูสองหาง กระแจะตะนาว และน้ำมันหอมเจ็ดรส ตามมูลสูตรกรรมวิธีผงวิเศษ อิทธิวัสดุเหล่านี้สมเด็จฯ เอามาปั้นเป็นแท่งดินสอวรรณเหลืองหม่น ใช้ในการเขียนสูตร อักขระ เลข ยันต์ เป็นผงวิเศษทั้ง 5 ประการ ซึ่งเป็นอิทธิวัสดุหลักในเนื้อพระสมเด็จฯ ช่วยให้มวลสารเกิดความนุ่มและความซึ้ง 

 

ผงใบลานเผา

ผงถ่านของใบลานจารึกอักษร เลขยันต์ และสูตรต่างๆ ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้จารสูตรพุทธาคมและอักขระเลขยันต์ต่างๆ ลงในใบลาน แล้วสุมไฟ เก็บรวบรวมใบลานเผานั้นมาสร้างพระสมเด็จ

 

เกสรดอกไม้

เป็นเกสรดอกไม้นานาพรรณตามบุราณคติการสร้างพระเครื่อง ได้แก่ เกสรบัวทั้งห้า คือ ปุณฑริก หรือ โกมุท นิโลบล สัตตบงกต สัตบรรณ ปัทมะ (บัวขาวหรือบัวเผื่อน บัวเขียว บัวแดง บัวขาบ บัวหลวง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัวบูชาพระประธานในพระอุโบสถ นอกนั้นจะเป็นเกสรบุปผชาติต่างๆ เช่น พุทธรักษา สารภี ยี่สุ่น พิกุล บุนนาค กาหลง ชงโค คัดเค้า รักซ้อน ฯลฯ นำมาตากแห้งแล้วผดผสสมเนื้อพระ

 

เนื้อว่าน 108

เป็นหัวว่านป่านานาชนิด คติโบราณถือว่ามีคุณมหัศจรรย์ เช่น พระเจ้าห้าพระองค์ ว่านมหาเศรษฐี มหาวนชัยมงคล เสน่ห์จันทน์ ฉิมพลี นางคำ นางล้อม สี่ทิศ พญาลิ้นงู หนังแห้ง คางคก กระบือชนเสือ ไพลดำ หอมแดง สบู่เลือด ฯลฯ

 

ทรายเงิน ทรายทอง

คือ ผงตะไบของแผ่นเงินแผ่นทอง ที่ลงอักขระเลนยันต์และสูตรต่างๆ สำหรับการสร้างพระ มักลงท้ายด้วย พระยันต์ 108 และ นะ ปถัง 14 เอามาผสมในเนื้อพระสมเด็จ 

 

น้ำมันจันทน์

ได้แก่  น้ำมันจันทน์หอมพระพุทธมนต์ ซึ่งสำเร็จด้วยการปลุกเสกพระพุทธคุณ 108 เป็นน้ำมันที่สกัดจากไม้จันทน์หอม และไม้เนื้อหอม 7 ชนิด เรียกว่า น้ำมัน 7 รส เป็นตัวประสานมวลสาร เช่นเดียวกับน้ำมันตังอิ๊ว

 

เถ้าธูป

เป็นเถ้าธูปที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รวบรวมไว้จากกระถางธูปที่บูชาพระของท่าน และจากที่บูชาในพระอุโบสถ แล้วนำมากรองให้ละเอียด ผสมกับเนื้อพระ

 

และมวลสารทั้งหมดนี้เมื่อผสมเข้ากันจะทำให้เนื้อพระสมเด็จเกิดความนุ่มและความซึ้ง ยิ่งผ่านกาลเวลานานเท่าไหร่ ความนุ่มและความซึ่งที่ปรากฏนั้นก็จะยิ่งชัดเจน เมื่อส่องแล้วดูสบายตา นุ่มนวล 

 

ส่วน มวลสารและผงวิเศษ จากหนังสือหลักสูตรการศึกษาพระเครื่องพระสมเด็จ โดยสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และศูนย์พระเครื่องบารมีสมเด็จโต กล่าวถึง ผงและมวลสาร ของพระสมเด็จ ประกอบไปด้วย มวลสารหลักคือ ปูนเปลือกหอย เป็นหลัก ผสมเข้ากับมวลสารและผงวิเศษอื่นๆ ที่มีคุณวิเศษมากมาย ดังนี้

 

1. ปูนเปลือกหอยที่ตำในครก ผ่านตระแกรงร่อนจนได้ผงขาวละเอียด หินปูน ปูนเพชร 

2. ผงพุทธคุณทั้ง

- ผงกฤติยาคม อนุภาพในทางแคล้วคลาดปลอดภัย

- ผงปถมัง อานุภาพคงกระพันชาตรี

- ผงอิทธิเจ อานุภาพทางเมตตามหานิยม

- ผงตรีนิสิงเห อนุภาพทางมหาเสน่ห์

- ผงมหาราช อนุภาพทางเสริมอำนาจ บารมี

3. ไม้มงคลต่างๆ ว่านเกษร 108

4. ดินมงคลจากที่ต่างๆ เช่น ดินเจ็ดป่า เจ็ดโป่ง ดินหลักเมือง

5. ทรายเงิน ทรายทอง

6. ผงถ่าน คำภีร์ใบลานจารที่ชำรุด นำมาตากแห้งและเผา 

7. กระยาหารต่างๆ เช่น ข้าวสุก กล้วย ขนุนสุก 

8. เกสรดอกไม้

9. น้ำพุทธมนต์

10. น้ำอ้อยเคี่ยว น้้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว 

11. เศษพระกำแพงหัก

12. พระธาตุ แร่ รัตนชาติ

13. ฯลฯ

 

พระสมเด็จ พิมพ์วัง ปิดอัญมณีทั้งองค์


สำหรับพระสมเด็จองค์นี้ของคุณพ่อนั้น ด้านหน้าองค์ประธาน เป็นพิมพ์ใหญ่ เกศจรดซุ้ม มีซุ้มครอบแก้วที่เส้นเรียวบาง ประดับด้วยอัญมณีเม็ดขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ปรากฏชัดเจนโดยนู้นออกมาตรงกลางพระอุระ พบการปิดทองเก่าที่หลุดร่อนออกไป และพบรอยปริแยกบริเวณฐานพระอีกด้วย ด้านหลังปิดด้วยอัญมณี3 สี คือ น้ำเงิน แดง (ปรากฏรูปหัวใจ) เขียว ตรงกลางประดับด้วยอัญมณีเม็ดเล็กสีแดง มีดอกไม้สีทองล้อมกรอบเอาไว้ ปิดทองทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

หากพิจารณาจากชุดข้อมูลที่ผู้เขียนค้นหามาข้างต้น ก็เข้าข้อมูลพระสายวัง ซึ่งผู้เขียนไม่อาจระบุได้ว่าเป็นวังหน้า วังหลัง หรือวังหลวง รู้เพียงว่าพระสมเด็จที่ประดับด้วยอัญมณีของคุณพ่อนั้นจัดอยู่ในพิมพ์พระสายวัง

 

ภาพพระสมเด็จ ลงรักปิดทอง จากล้องกำลังขยายสูง












พระพุทธศาสนาจะดำรงไปครบ 5,000 ปีหรือไม่นั้น อยู่ที่เราชาวพุทธที่จะสืบทอด ปฏิบัติและสืบต่อไปยังรุ่นลูกหลาน การอนุรักษ์และสะสมพระเครื่องของครูบาอาจารย์ก็เป็นสิ่งที่จะบอกรุ่นลูกหลายเราต่อไปว่าพระพุทธศาสนาเจริญมากเพียงใดในช่วงที่ผ่านมา และส่งต่อพุทธศิลป์ที่ดีงามเหล่านี้ เพื่อช่วยกันสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป 



อ้างอิง 1.https://bit.ly/2PNoUX7
2.https://bit.ly/30ADnaY
3.https://youtu.be/3iXBeSMNMqo

ภาพ : puttharugsa.com

 

เรื่องโดย : อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมน์นิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam 

คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com

 

 

 (โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)