เปิดภาพ “พระสมเด็จพิมพ์พระประธาน หลังเครือเถา” สวยงาม ตามแบบฉบับรัตนโกสินทร์


เปิดภาพ
พระสมเด็จพิมพ์พระประธาน หลังเครือเถาสวยงาม ตามแบบฉบับรัตนโกสินทร์ 

 

"พระสมเด็จ" นอกจากจะมีด้านหลังเรียบแล้ว ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านจะได้เคยผ่านตากันมาอยู่มาก คุณพ่อของผู้เขียนบอกว่า ยังคงมีพระสมด็จที่ด้านหลังองค์พระมีลวดลาย หรือมีการกดพิมพ์แบบต่างๆ ที่ดูแปลกตาไป ซึ่งอาจจะเป็นการทิ้งร่องรอย ของ เรื่องราว บางอย่างเอาไว้ เพื่อจารึก เหตุการณ์สำคัญๆ ที่เคยเกิดขึ้น หรือ เป็นวาระพิเศษในการสร้างก็อาจจะเป็นได้ 

 

สมเด็จพิมพ์พระประธาน หลังลายเครือเถาองค์นี้คุณพ่อ มีโอกาสได้มาจากคุณยายที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด นำมาวางขายอยู่ข้างทาง ด้วยความสะดุดตา คุณพ่อจึงตัดสินใจเก็บสะสมไว้เพื่อศึกษาและอนุรักษ์ ด้วยความเชื่อส่วนตัวที่ว่า เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต ที่ท่านเคารพและศรัทธาดั่งครูบาอาจารย์ ได้สร้างและปลุกเสกเอาไว้ 

 

ด้วยเนื้อมวลสารที่ปรากฎ และร่องรอยความเก่า ดังที่ อาจาย์ไพศาล มุสิกะโปดก ผู้ชำนาญการธรรมชาติวิทยา ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์พระสมเด็จ ได้อธิบายถึงธรรมชาติพระสมเด็จที่ผ่านกาลเวลามากว่า 150 ปี ว่าจะต้องมีร่องรอยของการ  ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง  ปรากฎในองค์พระสมเด็จ ทำให้คุณพ่อตัดสินใจเก็บพระชุดนี้มาศึกษา เพราะเมื่อมองด้วยสายตา และกล้องกำลังขยายแล้ว ก็เข้าตามตำราและความเก่า แห้ง ของพระสมเด็จก็ปรากฎชัดเจน 

 

 

 

พบลายเครือเถา ที่วัดระฆังฯ

 

เมื่อมีโอกาสได้ชมพระชุดนี้ของคุณพ่อ ผู้เขียนหาข้อมูลลึกลงไป ก็พบว่า มีการให้ข้อมูลของพระสมเด็จ หลังลายเถาอยู่บ้าง ว่ากันว่า พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ ด้านหลังลายเครือเถา เป็นการสร้างขึ้นในวาระพิเศษ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ ๕ 

 

ลายเถานี้เอง เป็นหนึ่งในลายที่วิจิตรสวยงาม  เป็นลายพื้นฐานอีกแบบหนึ่งที่สำคัญของลายไทย แบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ ลายเครือเถาหางโต ลายเครือเถาใบเทศ และ ลายเครือเถาเปลว จะพบลายเครือเถา ปรากฎ บริเวณหน้าบัน บานประตู หน้าต่าง หรือตู้ลายรดน้ำ หรือประดับมุก และ ลายดอกผ้า ลายปักไหม

 

มีการปรากฎลายเถาในหน้าบันพระอุโบสถ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ด้วย ซึ่งพระอุโบสถของวัดระฆังมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมทรงไทย ที่มีเครื่องบนงดงาม เป็นศิลปะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๑ หลังคาลด 3 ชั้น มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ คันทวยสลักอย่างสวยงาม ลายเครือเถา และหน้าบันในพุทธศาสนสถาน 

 

 

นอกจากนี้ ที่หอพระไตรปิฎก วัดระฆังฯ ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งยังเป็น พระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หอไตรแห่งนี้เป็นตำหนัก  ๓ หลังแฝด มีลายกนกเครือเถา ปรากฎตรงบานประตูหอกลางแกะสลักลายนกวายุภักษ์ อีกด้วย 

 

 

อาจเป็นไปได้ว่า ลายเครือเถา ที่มีความวิจิตร ละเอียดลออ ที่ปรากฎด้านหลังพระสมเด็จนั้น อาจจะมีต้นแบบมาจากวัดระฆังที่งดงาม สร้างขึ้นเพื่อการเฉลิมฉลอง เพื่อให้คนรุ่นหลังระลึกถึง หรือ อาจจะเป็นการจารึก ความงดงามของลายเครือเถา ที่ปรากฎตรงหน้าบันของวัดต่างๆ มาไว้ในองค์พระ เพื่อให้ระลึกถึงความเจริญรุ่งเรือง และงดงามของพระพุทธศาสนาในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ 

 

แต่สิ่งที่คนรุ่นหลังอย่างผู้เขียนได้เห็นและมีโอกาสได้ศึกษาพระสมเด็จนั้น ก็มี "ความภูมิใจ" ในการเป็นพุทธศาสนิกชน ที่ศาสนาพุทธได้เจริญรุ่งเรื่องในประเทศไทย และวัดวาอารามต่างๆ ล้วนมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาให้เราได้ศึกษาทั้งสิ้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ปรากฎอยู่ทั่วทุกสารทิศในพุทธศาสนาประเทศไทย แม้จะผ่านมากว่า 2500 ปีแล้วก็ตาม พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์จะช่วยจรรโลงจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวไทยไว้สืบต่อไป 

 

 

สมเด็จพิมพ์พระประธาน หลังลายเครือเถา

 

องค์นี้เป็นพิมพ์พระประธาน มีริ้วชายจีวร เกศทะลุซุ้ม มีความตรงดูสวยงาม มีรอยแตกและหลุดลอกของมวลสารบริเวณซุ้มเรือนแก้วด้านขวาองค์พระ บริเวณด้านหน้าองค์พระมีการแตกลายธรรมชาติให้เห็นชัดเจน แม้จะมองด้วยตาเปล่าก็ตาม

 

ด้านหลังองค์พระเป็นลายเครือเถาแบบกดลึก ช่วงตรงกลางปรากฎลายดอกไม้ ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ ดอกโบตั๋น ซึ่งจากการค้นหาข้อมูล ก็พบว่า มีการวิวัฒนาการของดอกโบตั๋น สู่พุทธศิลป์ในวัดไทยด้วย นับตั้งแต่อาณาจักรล้านนา ข้ามผ่านกาลเวลามาจนถึงอยุธยา และเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งดอกโบตั๋นได้รับความความนิยมอย่างมากในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ซึ่งมีการประดับแทบทุกจุดในวัด ปรากฎทั้งในงานแกะไม้ ปูนปั้น ลายรดน้ำ จิตรกรรมฝาผนัง 

 

มีร่องรอยของการหลุดร่อนมวลสารในบางจุด และมีความแห้งเข้ามาแทนที่ ซึ่งเกิดขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านพ้นไปอย่างชัดเจน และปรากฎการแตกลายให้เห็นด้วยตาเปล่า 

 

สมเด็จพิมพ์พระประธาน หลังลายเครือเถา ผ่านมุมมองกล้องกำลังขยายสูง



 

แม้ว่าวัตถุมงคล จะทำให้เราอุ่นใจ ด้วยพลังของพุทธคุณอันศักดิ์สิทธิ์ที่ครูบาอาจารย์ได้สร้างและปลุกเสก เพื่อคุ้มครองครอบจักรวาลและเป็นมงคลสำหรับผู้ที่ศรัทธาก็ตาม แต่สิ่งที่สำคัญคือ การเป็นพุทศาสนิกชนที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ดำรงตนด้วยการมีธรรมะของพระพุทธองค์เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ย้ำเตือนใจ และน้อมนำมาปฏิบัติ 


อ้างอิง : 1.https://bit.ly/3s4ZK51

2. https://bit.ly/3biGjQd

3. https://bit.ly/3oucgJ9

 

เรื่องโดย อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมนิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam 

คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com

 

 

 (โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)