“พระสมเด็จ หลังกระดาน” ปรากฏริ้วรอยคลื่นธรรมชาติ

พระบ้านพ่อ

ชม “พระสมเด็จ หลังกระดาน” พิมพ์ใหญ่ วัดระฆัง เข้าแนวทางการศึกษา “ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง” ธรรมชาติพระแท้ที่ผ่านกาลเวลากว่า 150 ปี 

 

“พระสมเด็จ หลังกระดาน” วัดระฆัง หรือ เรียกว่า “พระสมเด็จ หลังคลื่นกระดาน” พระนอกสายตาที่กลุ่มอนุรักษ์พระเครื่องมองว่าเป็นพระพุทธคุณดี มีเนื้อมวลสารหลากหลาย และมีความเป็นธรรมชาติที่น่าศึกษา

 

การเก็บพระสมเด็จที่ด้านหลังมีความแปลกนั้น พ่อผู้เขียนเชื่อว่ามีอะไรให้เราได้ศึกษา ไม่ว่าจะเป็นหลังกาบหมาก (https://edunewssiam.com/th/articles/215611) ที่นำเสนอไปก่อนหน้า หรือพระสมเด็จ หลังอื่นๆ ที่จารึกประวัติศาสตร์ พ่อเชื่อว่าการสะสมพระสมเด็จแบบนี้ มีเรื่องราวให้ชวนค้นหาอยู่เสมอ 

 

เทคนิคของพ่อในการเลือกเก็บพระสมเด็จ คือ ดูที่ความ “ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง” ซึ่งเป็นธรรมชาติของพระสมเด็จ ที่ปรากฏในองค์พระ ตามแนวทางของ อาจารย์ไพศาล มุสิกะโปดก ผู้ชำนาญการธรรมชาติวิทยา ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์พระสมเด็จ เนื่องจากกาลเวลากว่า 150 ปีนั้น ได้เผยธรรมชาติของมวลสารต่างๆ ให้เรารับรู้ผ่านองค์พระ หลังจากนั้นจึงพิจารณาพิมพ์ของพระสมเด็จ และตัดสินใจเก็บสะสม เพื่อศึกษาต่อไป

 

ไม้กระดาน 4 แบบ สู่ด้านหลังพระสมเด็จ 4 พิมพ์


ข้อมูลของ
เก่ง กำแพง ผู้ศึกษาและสะสมพระเครื่อง ให้ความเห็นว่า 
ด้านหลังของพระสมเด็จ วัดระฆังฯ นั้น ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าได้สังเกต และรวบรวมหลักการพิจารณาไว้ โดยได้ข้อสรุป คือ กรรมวิธีการสร้างพระสมเด็จ วัดระฆังฯ สันนิษฐานว่า การกดพิมพ์พระนั้น แผ่นที่รองด้านหลังพระกับแม่พิมพ์น่าจะเป็นไม้กระดาน เนื่องจากร่องรอยที่ปรากฏจะไม่เรียบแบบกระจกเป็นคลื่นๆ และปรากฏร่องรอยต่างๆ ซึ่งสรุปเรียกเป็นชื่อตามรูปลักษณ์ ได้แก่

 

1. แบบหลังกระดาน ร่องรอยที่ปรากฏคือจะเห็นแนวเป็นเส้นขวางวิ่งเป็น เส้นๆ มากบ้างน้อยบ้าง ลักษณะ คล้ายกับแนวคลองเลื่อยที่ปรากฏอยู่ในไม้กระดานที่เลื่อยแบบโบราณ จึงสันนิษฐานว่าใช้แผ่นไม้ไม่เรียบมีคลองเลื่อยเป็นคลื่นปรากฏอยู่ เวลากดพิมพ์พระด้านหลังจึงมีร่องรอยปรากฏให้เห็น

 

2.แบบหลังเรียบ ไม้กระดานที่เป็นแผ่นรอง น่าจะเป็นแผ่นไม้ที่ค่อนข้างเรียบ ไม่ปรากฏร่องรอยคลองเลื่อยหรือเส้น เสี้ยนใดๆ เป็นการเรียบแบบแผ่นกระดานในสมัยโบราณ คือจะมีลักษณะเป็นคลื่นน้อยๆ 

 

3.แบบหลังสังขยา ลักษณะด้านหลังแบบนี้มีลักษณะคล้ายกับหน้าของขนมสังขยา สันนิษฐานว่าเป็นรอยเหนอะของเนื้อพระกับแผ่นรองด้านหลัง ซึ่งถ้าเนื้อของพระที่จะนำมากดพิมพ์นั้นยังเปียกเหลวมากหน่อย เวลาถอดแม่พิมพ์ออกมาอาจมีการติดยึดเหนอะติดแผ่นกระดาน จึงเกิดเป็นริ้วรอยดังที่เห็น

 

4.แบบหลังกาบหมาก ลักษณะด้านหลังแบบนี้ก็สันนิษฐานได้ว่าแผ่นไม้กระดานด้านหลังนั้นจะมีร่องเสี้ยน หรือการเหี่ยวของไม้เก่าจะปรากฏร่องเสี้ยนเป็นเส้นเล็กๆ พอเวลากดพิมพ์พระลงไปกับแผ่นไม้ที่มีลักษณะนี้ก็จะทิ้งร่องรอยเส้นเล็กๆ เอาไว้

พระสมเด็จ หลังกระดาน ของ ผศ.ดร.ณัฐนนต์ แบบอย่างการเก็บพระของพ่อ

ก่อนที่พ่อผู้เขียนจะตัดสินใจเก็บพระสมเด็จชุดนี้มาศึกษานั้น พ่อพบข้อมูลของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล เจ้าของบล็อก พระเครื่องเรื่องใหญ่ เมื่อได้อ่าน เห็นตัวอย่าง และบังเอิญไปพบพระชุดนี้เข้า จึงได้เก็บสะสมและมาศึกษา 

 

ผู้เขียนขอนำภาพตัวอย่างพระสมเด็จ ของ ผศ.ดร.ณัฐนนต์ มาให้ชมและศึกษาไปพร้อมๆ กัน 

 

พระสมเด็จ หลังกระดาน

พระสมเด็จ หลังกระดาน

พระสมเด็จ หลังกระดาน

พระสมเด็จ หลังกระดาน


มวลสารและผงวิเศษในพระสมเด็จ ตามตำรา อ.ตรียัมปวาย


จากข้อมูลในหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ พระสมเด็จฯ ของ  อ.ตรียัมปวาย  ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับมวลสารและผงวิเศษที่ผสมลงในการสร้างพระสมเด็จ ไว้ว่า

 

ผงวิเศษ 5 ประการ

ประกอบด้วย “ผงดินสอพอง” เป็นส่วนใหญ่ ผสมด้วย ดินโป่ง ดินตีนท่า ดินหลักเมือง เถ้าไส้เทียนในพระอุโบสถ ดอกกาหลง ยอดสวาท ยอดรักซ้อน ไคลเสมา ไคลประตูเมือง ไคลประตูพระบรมมหาราชวัง ไคลเสาตะลุงช้างเผือก ราชพฤกษ์ พลูร่วมใจ พลูสองหาง กระแจะตะนาว และน้ำมันหอมเจ็ดรส ตามมูลสูตรกรรมวิธีผงวิเศษ อิทธิวัสดุเหล่านี้สมเด็จฯ เอามาปั้นเป็นแท่งดินสอวรรณเหลืองหม่น ใช้ในการเขียนสูตร อักขระ เลข ยันต์ เป็นผงวิเศษทั้ง 5 ประการ ซึ่งเป็นอิทธิวัสดุหลักในเนื้อพระสมเด็จฯ ช่วยให้มวลสารเกิดความนุ่มและความซึ้ง 

 

ผงใบลานเผา

ผงถ่านของใบลานจารึกอักษร เลขยันต์ และสูตรต่างๆ ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้จารสูตรพุทธาคมและอักขระเลขยันต์ต่างๆ ลงในใบลาน แล้วสุมไฟ เก็บรวบรวมใบลานเผานั้นมาสร้างพระสมเด็จ

 

เกสรดอกไม้

เป็นเกสรดอกไม้นานาพรรณตามบุราณคติการสร้างพระเครื่อง ได้แก่ เกสรบัวทั้งห้า คือ ปุณฑริก หรือ โกมุท นิโลบล สัตตบงกต สัตบรรณ ปัทมะ (บัวขาวหรือบัวเผื่อน บัวเขียว บัวแดง บัวขาบ บัวหลวง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัวบูชาพระประธานในพระอุโบสถ นอกนั้นจะเป็นเกสรบุปผชาติต่างๆ เช่น พุทธรักษา สารภี ยี่สุ่น พิกุล บุนนาค กาหลง ชงโค คัดเค้า รักซ้อน ฯลฯ นำมาตากแห้งแล้วบดผสมเนื้อพระ

 

เนื้อว่าน 108

เป็นหัวว่านป่านานาชนิด คติโบราณถือว่ามีคุณมหัศจรรย์ เช่น พระเจ้าห้าพระองค์ ว่านมหาเศรษฐี มหาวนชัยมงคล เสน่ห์จันทน์ ฉิมพลี นางคำ นางล้อม สี่ทิศ พญาลิ้นงู หนังแห้ง คางคก กระบือชนเสือ ไพลดำ หอมแดง สบู่เลือด ฯลฯ

 

ทรายเงิน ทรายทอง

คือ ผงตะไบของแผ่นเงินแผ่นทอง ที่ลงอักขระเลขยันต์และสูตรต่างๆ สำหรับการสร้างพระ มักลงท้ายด้วย พระยันต์ 108 และ นะ ปถัง 14 เอามาผสมในเนื้อพระสมเด็จ 

 

น้ำมันจันทน์

ได้แก่  น้ำมันจันทน์หอมพระพุทธมนต์ ซึ่งสำเร็จด้วยการปลุกเสกพระพุทธคุณ 108 เป็นน้ำมันที่สกัดจากไม้จันทน์หอม และไม้เนื้อหอม 7 ชนิด เรียกว่า น้ำมัน 7 รส เป็นตัวประสานมวลสาร เช่นเดียวกับน้ำมันตังอิ๊ว

 

เถ้าธูป

เป็นเถ้าธูปที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รวบรวมไว้จากกระถางธูปที่บูชาพระของท่าน และจากที่บูชาในพระอุโบสถ แล้วนำมากรองให้ละเอียด ผสมกับเนื้อพระ

 

และมวลสารทั้งหมดนี้เมื่อผสมเข้ากันจะทำให้เนื้อพระสมเด็จเกิดความนุ่มและความซึ้ง ยิ่งผ่านกาลเวลานานเท่าไหร่ ความนุ่มและความซึ่งที่ปรากฏนั้นก็จะยิ่งชัดเจน เมื่อส่องแล้วดูสบายตา นุ่มนวล 

 

ส่วน มวลสารและผงวิเศษ จาก “หนังสือหลักสูตรการศึกษาพระเครื่องพระสมเด็จ โดยสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และศูนย์พระเครื่องบารมีสมเด็จโต” กล่าวถึง ผงและมวลสาร ของพระสมเด็จ ประกอบไปด้วย มวลสารหลักคือ ปูนเปลือกหอย เป็นหลัก ผสมเข้ากับมวลสารและผงวิเศษอื่นๆ ที่มีคุณวิเศษมากมาย ดังนี้

 

1. ปูนเปลือกหอยที่ตำในครก ผ่านตระแกรงร่อนจนได้ผงขาวละเอียด หินปูน ปูนเพชร 

2. ผงพุทธคุณทั้ง 5 

- ผงกฤติยาคม อนุภาพในทางแคล้วคลาดปลอดภัย

- ผงปถมัง อานุภาพคงกระพันชาตรี

- ผงอิทธิเจ อานุภาพทางเมตตามหานิยม

- ผงตรีนิสิงเห อนุภาพทางมหาเสน่ห์

- ผงมหาราช อนุภาพทางเสริมอำนาจ บารมี

3. ไม้มงคลต่างๆ ว่านเกษร 108

4. ดินมงคลจากที่ต่างๆ เช่น ดินเจ็ดป่า เจ็ดโป่ง ดินหลักเมือง

5. ทรายเงิน ทรายทอง

6. ผงถ่าน คำภีร์ใบลานจารที่ชำรุด นำมาตากแห้งและเผา 

7. กระยาหารต่างๆ เช่น ข้าวสุก กล้วย ขนุนสุก 

8. เกสรดอกไม้

9. น้ำพุทธมนต์

10. น้ำอ้อยเคี่ยว น้้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว 

11. เศษพระกำแพงหัก

12. พระธาตุ แร่ รัตนชาติ

13. ฯลฯ

 

พระสมเด็จ หลังกระดาน

พระสมเด็จ พิมพ์หลังกระดาน


พระสมเด็จ พิมพ์หลังกระดานองค์นี้ เข้าพิมพ์ใหญ่ วัดระฆัง เกศจรดซุ้ม มีวรรณะมวลสารสีขาว พบการแตกลายอย่างเป็นธรรมชาติทั้งด้านหน้าและด้านหลังอย่างสวยงาม ด้านหลังเป็นริ้วรอยแนวนอนที่เรียกว่าหลังกระดาน ปรากฏริ้วคลื่นประมาณ 4 เส้น ทั้งองค์มีความ “ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง” ตามธรรมชาติของพระที่ผ่านกาลเวลามากว่า 150 ปี 

 

ภาพพระสมเด็จ พิมพ์หลังกระดาน จากกล้องกำลังขยายสูง


พระสมเด็จ หลังกระดาน

พระสมเด็จ หลังกระดาน

พระสมเด็จ หลังกระดาน

พระสมเด็จ หลังกระดาน

พระสมเด็จ หลังกระดาน

 

สิ่งสำคัญที่สุดในการสะสมและอนุรักษ์พระเครื่องของครูบาอาจารย์เราแล้ว การตั้งอยู่ในศีล ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือสิ่งที่สำคัญที่สุดของชาวพุทธค่ะ

 

แล้วพบกันบทความหน้านะคะ

 

อ้างอิง : 1. พระเครื่องเรื่องใหญ่ https://bit.ly/3tXEbmQ
2. ด้านหลังพระสมเด็จวัดระฆัง https://bit.ly/3wf1zxA





เรื่องโดย : อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมน์นิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam 

คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)