พระสมเด็จสายวัง ด้านหลังปิดอัญมณีสีขาวเม็ดใหญ่


ชม
พระสมเด็จสายวังชุดปิดอัญมณีเม็ดใหญ่ด้านหลังองค์พระประธาน  วิจิตรสวยงามตามแบบฉบับช่างฝีมือวัง 

 

พระสมเด็จสายวังด้านหลังปิดอัญมณีสีขาวเม็ดใหญ่ เป็นพระสมเด็จสายวัง หรือ พิมพ์วัง ชุดเดียวกับ พระสมเด็จ เกศไชโยฐาน 9 ชั้น หลังประดับคริสตันแดง และ พระสมเด็จสายวัง ปิดอัญมณีทั้งองค์ เป็นอัญมณีเก่ามีความสวยงาม น่าสะสม ซึ่งพ่อผู้เขียนได้พระชุดนี้มาจากนักสะสมพระสมเด็จสายวัง และเก็บสะสมมาเรื่อยๆ เพื่อศึกษาถึงที่มาและรับพลังพุทธคุณ

พระสมเด็จ สายวัง

พระสมเด็จ แบ่งพิมพ์ตามประสบการณ์ อ.ปิ่นสัณฑ์ สิงหเสนี
 

พระสมเด็จในมุมมองของนักสะสมและนักอนุรักษ์มีมากมายหลากหลายพิมพ์ ที่นอกเหนือจาก 5 พิมพ์นิยม ประกอบด้วย พิมพ์ใหญ่  พิมพ์ทรงเจดีย์  พิมพ์ทรงเกศบัวตูม พิมพ์ทรงฐานแซม พิมพ์ทรงปรกโพธิ์ ยังมีพิมพ์ต่างๆ ที่นักสะสมได้นำมาเผยแพร่เพื่อเป็นความรู้อีกมากมาย อ.ปิ่นสัณฑ์ สิงหเสนี ผู้สะสมและสืบทอดมรดกพระสมเด็จจากต้นตระกูลสิงหเสนี ได้แบ่งพิมพ์พระสมเด็จกว้างๆ จากประสบการณ์ที่สะสมและพบเห็น คือ 

1. พิมพ์วัง สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อบรรจุไว้ในวังและหอพระ

2. พิมพ์วัด สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อบรรจุในวัดและกรุวัดต่างๆ ซึ่งมีราวๆ 9 วัด คือ วัดเกศไชโย วัดสะตือ วัดโพธิ์ วัดระฆัง วัดบางขุนพรหม วัดสระเกศ วัดลครทำ วัดขุนอินทประมูล วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

3. พิมพ์บ้าน สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อแจกชาวบ้าน

4. พิมพ์วังหน้า สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อบรรจุไว้ที่ส่วนวังหน้า (พื้นที่วังหน้าเดิมได้ดัดแปลงส่วนหนึ่งเป็นสนามหลวง โรงละครแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน)

5. พิมพ์พุทธจารึก  สมเด็จฯ โต สร้างไว้เพื่อบันทึกเรื่องราวประเพณีในสมัยนั้น เช่น พระสมเด็จหลังพิธีโยนบัว, พระสมเด็จหลังเสาชิงช้า ฯลฯ

พระสมเด็จ สายวัง 

พระสมเด็จสายวัง หรือ พิมพ์วัง 

พระสมเด็จสายวัง ยังจำแนกพิมพ์ย่อยลงไปอีก เช่น พิมพ์วังหน้า พิมพ์วังหลัง ฯลฯ วังหน้า - วังหลัง คืออะไร ผู้เขียนรวบรวมข้อมูลมาอธิบาย ดังนี้

วังหน้า - วังหลัง ตำแหน่งสำคัญ

ตำแหน่งของ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  เรียกกันทั่วไปว่า วังหน้า เป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ไทย ทรงสถาปนาขึ้นสำหรับพระมหาอุปราช และมีฐานะเป็นองค์รัชทายาท ผู้มีสิทธิ์ที่จะขึ้นครองราชสมบัติต่อไป ซึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็มีการแต่งตั้งตำแหน่งพระมหาอุปราช เพื่อไปครองเมืองต่าง ๆ 

ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อเสด็จครองเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงสร้างพระราชวังจันทรเกษม ขึ้นที่หน้าพระราชวังหลวง เพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรเวลาเสด็จมายังกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นที่มาของคำว่า วังหน้า

ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระเพทราชา ได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาหลวงสรศักดิ์ เป็นพระมหาอุปราช ประทับ ณ วังหน้า พร้อมทั้งบัญญัติศัพท์นามสังกัดวังหน้าว่า "กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ สถาปนานายจบคชประสิทธิ์ให้ดำรงพระยศเป็นวังหลัง พระราชทาน วังหลัง เป็นที่ประทับ พร้อมทั้งบัญญัติศัพท์นามวังหลังว่า กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข เป็นครั้งแรก


ถัดมาในช่วงรัตนโกสินทร์
  กรมพระราชวังบวรสถานมงคลจะประทับอยู่ที่พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) มาโดยตลอด (ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ) ตำแหน่งวังหน้าถูกยกเลิกไปในสมัย ร.๕ หลังจากการเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ หลังจากนั้นจึงมีตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นมาแทน โดยพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นพระองค์แรกที่ทรงดำรงตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร 


พื้นที่ของ
วังหน้าปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ส่วนพื้นที่ วังหลังปัจจุบันคือ พื้นที่โรงพยาบาลศิริราช


พระสมเด็จพิมพ์วังหลวง พระพิมพ์วังหน้า ควบคุมและออกแบบโดยกรมช่างสิบหมู่

การออกแบบและกำกับดูแลการสร้างพระสมเด็จประเภทพิมพ์วังหลวง วังหน้านั้น จากข้อมูลของ นพ.ฐิติกร พุทธรักษา ที่รวมรวมข้อมูลไว้ในสถาบันพุทธรักษา และ รศ.ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล ผู้เขียนบล็อกพระเครื่องเรื่องใหญ่ ให้ข้อมูลเช่นเดียวกันว่า พระสมเด็จพิมพ์วังหลวง พระพิมพ์วังหน้า ควบคุมและออกแบบโดยกรมช่างสิบหมู่ โดยกรมช่างสิบหมู่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี หรือภูมินทรภักดีผู้กำกับกรมช่างสิบหมู่สมัยรัชกาลที่ 4 และในสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนต้น ซึ่งกรมหมื่นภูมินทรภักดี ทรงรับราชการกำกับกรมช่างสิบหมู่ คอยออกแบบ และ กำกับดูแล การออกแบบ พระสมเด็จ วังหลวง วังหน้า และท่านก็มีอิทธิพลในการออกแบบพิมพ์พระสมเด็จ จนเจ้าประคุณสมเด็จโต สิ้นชีพิตักษัย ในปี 2415


สมัยก่อนช่างไทยมีมากกว่า
10 หมู่ แต่ที่เรียกว่า ช่างสิบหมู่ ก็เพื่อรวมช่างในหมวดสำคัญๆ เอาไว้ก่อน และต่อมาได้แตกแขนงไปตามลักษณะของงานนั้นๆ เช่น ช่างเลื่อย ช่างก่อ ช่างดอกไม้เพลิง ช่างไม้สำเภา ช่างปืน ช่างสนะ(จีน) ช่างสนะ (ไทย) ช่างขุนพราหมณ์เทศ ช่างรัก ช่างมุก ช่างปากไม้ ช่างเรือ ช่างทำรุ ช่างเขียน ช่างแกะ ช่างสลัก ช่างกลึง ช่างหล่อ ช่างปั้น ช่างหุ่น ช่างบุ ช่างปูน ช่างหุงกระจก ช่างประดับกระจก ช่างหยก ช่างชาดสีสุก ช่างดีบุก ช่างต่อกำปั่น ช่างทอง


 

มวลสารและผงวิเศษพระสมเด็จพิมพ์วังจากตำรา อ.ตรียัมปวาย 

จากข้อมูลในหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ พระสมเด็จฯ ของ  อ.ตรียัมปวาย  ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับมวลสารและผงวิเศษที่ผสมลงในการสร้างพระสมเด็จ ไว้ว่า

 

ผงวิเศษ 5 ประการ

ประกอบด้วยผงดินสอพองเป็นส่วนใหญ่ ผสมด้วย ดินโป่ง ดินตีนท่า ดินหลักเมือง เถ้าไส้เทียนในพระอุโบสถ ดอกกาหลง ยอดสวาท ยอดรักซ้อน ไคลเสมา ไคลประตูเมือง ไคลประตูพระบรมมหาราชวัง ไคลเสาตะลุงช้างเผือก ราชพฤกษ์ พลูร่วมใจ พลูสองหาง กระแจะตะนาว และน้ำมันหอมเจ็ดรส ตามมูลสูตรกรรมวิธีผงวิเศษ อิทธิวัสดุเหล่านี้สมเด็จฯ เอามาปั้นเป็นแท่งดินสอวรรณเหลืองหม่น ใช้ในการเขียนสูตร อักขระ เลข ยันต์ เป็นผงวิเศษทั้ง 5 ประการ ซึ่งเป็นอิทธิวัสดุหลักในเนื้อพระสมเด็จฯ ช่วยให้มวลสารเกิดความนุ่มและความซึ้ง 

 

ผงใบลานเผา

ผงถ่านของใบลานจารึกอักษร เลขยันต์ และสูตรต่างๆ ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้จารสูตรพุทธาคมและอักขระเลขยันต์ต่างๆ ลงในใบลาน แล้วสุมไฟ เก็บรวบรวมใบลานเผานั้นมาสร้างพระสมเด็จ

 

เกสรดอกไม้

เป็นเกสรดอกไม้นานาพรรณตามบุราณคติการสร้างพระเครื่อง ได้แก่ เกสรบัวทั้งห้า คือ ปุณฑริก หรือ โกมุท นิโลบล สัตตบงกต สัตบรรณ ปัทมะ (บัวขาวหรือบัวเผื่อน บัวเขียว บัวแดง บัวขาบ บัวหลวง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัวบูชาพระประธานในพระอุโบสถ นอกนั้นจะเป็นเกสรบุปผชาติต่างๆ เช่น พุทธรักษา สารภี ยี่สุ่น พิกุล บุนนาค กาหลง ชงโค คัดเค้า รักซ้อน ฯลฯ นำมาตากแห้งแล้วผดผสมเนื้อพระ

 

เนื้อว่าน 108

เป็นหัวว่านป่านานาชนิด คติโบราณถือว่ามีคุณมหัศจรรย์ เช่น พระเจ้าห้าพระองค์ ว่านมหาเศรษฐี มหาวนชัยมงคล เสน่ห์จันทน์ ฉิมพลี นางคำ นางล้อม สี่ทิศ พญาลิ้นงู หนังแห้ง คางคก กระบือชนเสือ ไพลดำ หอมแดง สบู่เลือด ฯลฯ

 

ทรายเงิน ทรายทอง

คือ ผงตะไบของแผ่นเงินแผ่นทอง ที่ลงอักขระเลนยันต์และสูตรต่างๆ สำหรับการสร้างพระ มักลงท้ายด้วย พระยันต์ 108 และ นะ ปถัง 14 เอามาผสมในเนื้อพระสมเด็จ 

 

น้ำมันจันทน์

ได้แก่  น้ำมันจันทน์หอมพระพุทธมนต์ ซึ่งสำเร็จด้วยการปลุกเสกพระพุทธคุณ 108 เป็นน้ำมันที่สกัดจากไม้จันทน์หอม และไม้เนื้อหอม 7 ชนิด เรียกว่า น้ำมัน 7 รส เป็นตัวประสานมวลสาร เช่นเดียวกับน้ำมันตังอิ๊ว

 

เถ้าธูป

เป็นเถ้าธูปที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รวบรวมไว้จากกระถางธูปที่บูชาพระของท่าน และจากที่บูชาในพระอุโบสถ แล้วนำมากรองให้ละเอียด ผสมกับเนื้อพระ

 

และมวลสารทั้งหมดนี้เมื่อผสมเข้ากันจะทำให้เนื้อพระสมเด็จเกิดความนุ่มและความซึ้ง ยิ่งผ่านกาลเวลานานเท่าไหร่ ความนุ่มและความซึ่งที่ปรากฏนั้นก็จะยิ่งชัดเจน เมื่อส่องแล้วดูสบายตา นุ่มนวล 

 

ส่วน มวลสารและผงวิเศษ จากหนังสือหลักสูตรการศึกษาพระเครื่องพระสมเด็จ โดยสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และศูนย์พระเครื่องบารมีสมเด็จโต กล่าวถึง ผงและมวลสาร ของพระสมเด็จ ประกอบไปด้วย มวลสารหลักคือ ปูนเปลือกหอย เป็นหลัก ผสมเข้ากับมวลสารและผงวิเศษอื่นๆ ที่มีคุณวิเศษมากมาย ดังนี้

 

1. ปูนเปลือกหอยที่ตำในครก ผ่านตระแกรงร่อนจนได้ผงขาวละเอียด หินปูน ปูนเพชร 

2. ผงพุทธคุณทั้ง

- ผงกฤติยาคม อนุภาพในทางแคล้วคลาดปลอดภัย

- ผงปถมัง อานุภาพคงกระพันชาตรี

- ผงอิทธิเจ อานุภาพทางเมตตามหานิยม

- ผงตรีนิสิงเห อนุภาพทางมหาเสน่ห์

- ผงมหาราช อนุภาพทางเสริมอำนาจ บารมี

3. ไม้มงคลต่างๆ ว่านเกสร 108

4. ดินมงคลจากที่ต่างๆ เช่น ดินเจ็ดป่า เจ็ดโป่ง ดินหลักเมือง

5. ทรายเงิน ทรายทอง

6. ผงถ่าน คำภีร์ใบลานจารที่ชำรุด นำมาตากแห้งและเผา 

7. กระยาหารต่างๆ เช่น ข้าวสุก กล้วย ขนุนสุก 

8. เกสรดอกไม้

9. น้ำพุทธมนต์

10. น้ำอ้อยเคี่ยว น้้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว 

11. เศษพระกำแพงหัก

12. พระธาตุ แร่ รัตนชาติ

13. ฯลฯ

ผนึกกำลังพุทธคุณด้วยคาถาชินบัญชร” 

พระสมเด็จที่ท่านมีนั้นถ้ายิ่งผนึกกำลังจากพระคาถาชินบัญชรที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ปรับปรุงขั้นใหม่ด้วยแล้ว ยิ่งสร้างพลังในการคุ้มครองตัวท่าน เนื่องจากพระคาถาได้อัญเชิญพระพุทธเจ้าทั้ง 28 พระองค์ และพระอรหันต์สำคัญมากมาย รวมทั้งอัญเชิญพระสูตรสำคัญ ทั้ง 7 สูตร ทำให้มีพลังในการคุ้มครองให้พ้นจากภัยอันตราย, เมตตามหานิยม, แคล้วคลาด, อยู่ยงคงกระพัน, มหาอุด, ป้องกันภูตผีปีศาจ ฯลฯ  ก็จะยิ่งทำให้เกิดสิริมงคลแก่ผู้ศรัทธา 

พระสมเด็จ สายวัง 

พระสมเด็จสายวัง ด้านหลังปิดอัญมณีสีขาวเม็ดใหญ่


พระสมเด็จองค์นี้ เป็นพิมพ์ใหญ่ เกศจรดซุ้ม พระอุระ (อก) เป็นทรงตัววี (V) มีการปิดทองเก่าด้านหน้าขององค์พระ ในส่วนฐานพระประธานทั้ง 3 ชั้น มีการฝังอัญมณีชิ้นเล็กๆ ซึ่งมีร่องรอยของทองเก่าที่เคยปิดทับอยู่ ด้านหลังพระสมเด็จประดับด้วยอัญมณีเล็กใหญ่ มีอัญมณีสีขาวเม็ดใหญ่อยู่ตรงกลาง และห้อมล้อมด้วยอัญมณีเม็ดเล็กสีต่างๆ เช่น สีแดง สีเขียว สีนำเงิน ล้อมรอบ และถูกจัดเรียงอย่างสวยงาม สมส่วน 


ภาพพระสมเด็จสายวัง ด้านหลังปิดอัญมณีสีขาวเม็ดใหญ่จากกล้องกำลังขยายสูง

พระสมเด็จ สายวัง

พระสมเด็จ สายวัง

พระสมเด็จ สายวัง

พระสมเด็จ สายวัง

พระสมเด็จ สายวัง


อ้างอิง 1.บล็อกพระเครื่องเรื่องใหญ่ 

2.สถาบันพุทธรักษา 

 

 

เรื่องโดย : อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมน์นิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam 

คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)