ร่วมศึกษาพระกริ่งเฉลิมพล ตอกโค้ด เนื้อทองคำผสม (ทองคำ 9.79 เปอร์เซ็นต์)


ชมพระกริ่ง (
Phra Kring | 帕克林) เฉลิมพล ตอกโค้ด เนื้อทองคำผสม พระสะสมขอพ่อที่นำไปตรวจค่าธาตุต่างๆ และออกใบรับรองเรียบร้อย โดย "ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์-พระเครื่องไทย" พบว่า มีค่าทองคำ (AU) 9.79% และยังพบค่าทองแดง (CU) 80.67% รวมถึงธาตุต่างๆ อีกหลากหลายค่า

 

ความสวยงามของพระกริ่ง และลวดลายที่ละเอียดลออตามแบบฉบับของพระพิมพ์วังได้สะดุดตาพ่อผู้เขียนยิ่งนัก เมื่อมีโอกาสได้มาจึงได้สะสมพระชุดทองคำผสมในหลากหลายแบบ และได้นำพระชุดทองคำผสมไปตรวจค่าธาตุต่างๆ และเช็คเปอร์เซ็นต์ทองคำที่ผสมอยู่ในพระเครื่องแต่ละองค์

 

พระกริ่งกับความเป็นมาที่เชื่อพระหมอยาสามารถรักษาโรคได้


ตามความเชื่อของพระพุทธศาสนา เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีหลากหลายพระองค์นับตั้งแต่บรรพกาล ซึ่งหนึ่งในพระพุทธเจ้าหลายพระองค์นั้นมีพระไภษัชยคุรุพระพุทธเจ้า อันเป็นที่มาของพระกริ่งทั้งหลาย

 

พระไภษัชยคุรุ เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ตั้งปณิธาน 12 ประการ ที่จะช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ที่เกิดจากโรคทางกายและใจ และให้มีชีวิตยืนยาว จึงขนานนามพระองค์ว่า พระหมอยา หรือ เอี๊ยะซือฮุก โดยเป็นที่นับถือกันมากในกลุ่มชาวจีนและชาวทิเบต

 

การสร้างพระกริ่งพระไภษัชยคุรุ ตามพุทธวิธีดั้งเดิมของจีนและของทิเบตจะต้องประกอบด้วยปัญจโลหะ 5 อย่าง คือ ดีบุก ทองแดง เงินทองและปรอท ซึ่งถือตัวแทนสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์คือพระไวโรจนะพุทธะ พระอักโษภยะพุทธะ พระรัตนสัมภวะพุทธะพระอมิตาภพุทธะ และพระอโมฆสิทธิพุทธะ ต้องอุดกริ่งด้วยกริ่งที่ประกอบด้วยมหาพุทธคม 5 ประการ นับเป็นการสร้างที่สลับซับซ้อนมาก

 

ในประเทศจีนสมัยราชวงศ์ถัง พระไภษัชยคุรุได้รับการยกย่องเทียบเท่าพระศากยมุนี และมีการสร้างประติกรรมรูปเคารพทั้งแบบยืนและนั่ง ส่วนในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่จะเป็นแบบนั่ง คือ พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิ บนพระหัตถ์ถือหม้อน้ำมนต์ หรือเจดีย์เก็บตำรายา (แบบหลังพบมากในวัดจีนเมืองไทย)

 

คามเชื่อเรื่องพระกริ่ง ได้เผยแผ่เข้ามาทางเขมรในสมัย โดยมีหลักฐานในการสร้างพระกริ่งปทุมสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นพระกริ่งที่สร้างโดยพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ หรือพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งเป็นผู้สร้างนครวัด 

 

หลังจากนั้นแนวคิดเรื่องพระกริ่งจึงเริ่มเผยแผ่เข้ามาในเมืองไทย ซึ่งผู้ที่สร้างพระกริ่งครั้งแรก คือสมเด็จพระสังฆราช กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ผู้สร้างพระกริ่งปวเรศ ที่เป็นตำนานและเป็นที่เสาะหาสำหรับผู้ศรัทธา

 

ถ้าผู้สร้างและผู้ใช้พระกริ่งสามารถเข้าถึงพระกริ่งได้อย่างแท้จริงจะสามารถนำพระกริ่งไปอาราธนาใช้ได้ทั้งในการรักษาโรคภายนอกเช่น ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ไม่สบาย และโรคภายในคือ กิเลส ความโลภ โกรธ หลง ที่อยู่ในใจให้หมดไป จึงถือได้ว่าเป็นพุทธคุณชั้นสูงที่รักษาได้ทั้งทางโลกและทางธรรม

พระกริ่ง เฉลิมพล ตอกโค้ด 

ที่มาของชื่อ พระกริ่งเฉลิมพล

เฉลิมพล มาจากชื่อของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพล ฑิฆัมพร หรือ พระองค์ชายกลาง  เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา) กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล

 

เสด็จพระองค์ชายกลาง มีความเกี่ยวข้องกับการสร้างหลวงปู่ทวด วัดช้างให้ เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมิตรที่สนิทสนมของท่าน มีนามว่า คุณอนันต์ คนานุรักษ์ คหบดีใหญ่ปักษ์ใต้ ได้มอบมอบพระเครื่องหลวงปู่ทวดเนื้อว่านปี 2497 ให้กับเสด็จพระองค์ชายกลาง 

 

ครั้งหนึ่งรถยนต์พระที่นั่งเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ แต่พระองค์เองไม่มีอันตรายแม้แต่รอยขีดข่วน ทำให้พระองค์ท่านเกิดความศรัทธาในองค์หลวงปู่ทวด วัดช้างให้ อย่างสูง และเมื่อทางวัดช้างให้ ในสมัยพระอาจารย์ทิม เป็นเจ้าอาวาส และคุณอนันต์ คนานุรักษ์ จะจัดสร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดปี 2505 พระองค์ท่านจึงปวารณาตัวขอเป็นผู้อุปถัมภ์ในการจัดสร้าง จนกลายเป็นพระหลวงพ่อทวด รุ่น พ.ศ. 2505 ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงมาจนถึงยุคปัจจุบัน 

 

ขณะนั้นเองเสด็จพระองค์ชายกลาง ยังได้ทรงโปรดจัดสร้าง "พระกริ่ง" ที่มีพุทธลักษณะที่งดงาม โดยให้ช่างแกะแม่พิมพ์และทำการหล่อพระกริ่งขึ้น และพระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ได้เททองปลุกเสกด้วย

ชมภาพและวิดีโอพระกริ่ง เฉลิมพล ตอกโค้ด เนื้อทองคำผสม (ทอง 9.79%)




พระกริ่ง เฉลิมพล ตอกโค้ด

 

พระกริ่ง เฉลิมพล ตอกโค้ด

 

พระกริ่ง เฉลิมพล ตอกโค้ด

 

 

 

พระกริ่งเฉลิมพล ตอกโค้ด องค์นี้เอง ได้มีการตอกโค้ดคำว่าเฉลิมพลใต้ฐานพระกริ่ง ซึ่งโค้ดมีการเขยื้อนเล็กน้อย ทำให้อักษรดูเหลื่อมกันอยู่นิดหน่อย และมีรอยจารใต้ฐานพระ เหนือโค้ด พุทธลักษณะโดยทั่วไปดูสวยงาม อ่อนช้อย มีความสมบูรณ์แบบตามแบบพระพิมพ์วัง


จากการนำไปตรวจค่าธาตุต่างๆ ที่
 "ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์-พระเครื่องไทย" พบว่า พระกริ่งเฉลิมพล ตอกโค้ด  มีค่าทองคำ (AU) 9.79% และยังพบค่าทองแดง (CU) 80.67% รวมถึงธาตุต่างๆ อีกหลากหลายค่า


อ้างอิง :
1.พระไภษัชยคุรุ-พระหมอยา ที่มาพระกริ่งทั้งหลาย และพระกริ่งปวเรศ https://www.silpa-mag.com/history/article_47004

2.พระกริ่งคืออะไร https://bit.ly/2Xl5xZy

3.พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร https://bit.ly/3vwHVxN




เรื่องโดย : อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมน์นิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam

คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)