ชวนชม “พระสมเด็จรูปเหมือนสมเด็จโตฯ พิมพ์ 3 บาตร” นับเป็นพระสมเด็จพิมพ์จารึก หรือที่สายอนุรักษ์เรียกว่าสายประวัติศาสตร์ที่บันทึกความสำคัญในช่วงเวลานั้น เพื่อสืบทอดถึงลูกหลานต่อไป
“พระสมเด็จรูปเหมือนสมเด็จโตฯ พิมพ์ 3 บาตร” พบในบันทึกหลวงปู่คำ วัดอัมรินทร์ ภิกษุผู้ช่วยสมเด็จโต สร้างพระสมเด็จ และในหนังสือ สมเด็จโต โดยอาจารย์แฉล้ม โชติช่วง และนายมนัส ยอขันธ์ นับเป็นพิมพ์จารึกประวัติศาสตร์
พ่อผู้เขียนได้พระสมเด็จรูปเหมือนสมเด็จโตฯ พิมพ์ 3 บาตร มาจากคุณยายที่สามีเป็นทหาร มีพระสมเด็จสะสมไว้มากมายหลากหลายพิมพ์ ทั้งพิมพ์นิยม และพิมพ์แปลกๆ ที่เข้าตานักสะสมพระสมเด็จสายอนุรักษ์ พิมพ์นี้เองที่พ่อตัดสินใจเก็บสะสมและเก็บรักษาเนื่องจาก เห็นจากภาพปกหลังหนังสือ “สมเด็จโต” ของอาจารย์แฉล้ม โชติช่วง และนายมนัส ยอขันธ์ พร้อมกับส่องดูเนื้อมวลสารแล้ว “เข้าตา” เลยทีเดียว จึงเก็บพิมพ์นี้ไว้ศึกษา
พระสมเด็จรูปเหมือนสมเด็จโตฯ พิมพ์ 3 บาตร ของเหล่านักสะสมสายอนุรักษ์
"อ.สรุพล ศาลไม้สัก" เซียนพระรุ่นปู่ บอกว่า เก็บสะสมมานานแล้ว เมื่อมีคนมาเผยแพร่ก็เลยนำออกมาให้ชม สะสมไว้หลักร้อยองค์ มี 3 พิมพ์ พิมพ์ธรรมดา พิมพ์ตาลปัต พิมพ์ปฐมเทศนา เก็บทุกองค์ที่จับแล้วมีพลัง
“พิมพ์ 3 บาตร มีพุทธคุณเมตตา แคล้วคลาด เหนียว” อ.สรุพล ผู้เล่นพระแบบจับพลัง กล่าว เมื่อส่องกับกล้องกำลังขยายสูง จะเห็นมวลสารต่างๆ เม็ดเขียว เม็ดขาว เม็ดแดง ฯลฯ ซึ่งเป็นมวลสารตามตำรา
เซียนพระรุ่นปู่เลือกสะสมพระสายวัง และสายประวัติศาสตร์ เพราะว่าเป็นพระที่สมเด็จสร้างขึ้นจริง มีอยู่จริง นอกจากนี้ยังเปิดการประกวดพระทั้งพระสมเด็จ และพระสายอื่นๆ เน้นพระแท้ ในสายอนุรักษ์
“เล่นพระแบบจับพลัง ทำให้เรารู้ว่าพระองค์นี้ผ่านพิธีปลุกเสกมั้ย ช่วยชีวิตคนได้ ปัดหนักให้เป็นเบาได้ มีพลังคุ้มครองให้กับผู้ที่บูชา” อ.สรุพล ให้ความเห็น
ด้าน ใหญ่ ชินบัญชร มีสะสมพระสมเด็จพิมพ์นี้เช่นกัน ให้ความเห็นว่า ของปลอมทำแบบนี้ไม่ได้ เนื่องจากเนื้อมวลสารมีความ แห้ง ยุบ แยก ย่น ตามกาลเวลาที่ชัดเจน เห็นแคลไซซ์ และความมันวาว การแตกลายที่ชัดเจน ไม่แน่ใจว่าจริงๆ ว่าจะเรียกพิมพ์อะไร แต่มีบาตร 3 ใบ เลยเรียกว่าพิมพ์ 3 บาตร นับเป็นพระสายวัง
“เราดูเนื้อพระเป็นหลัก แล้วเป็นรูปเหมือนสมเด็จโต พร้อมบาตร 3 ใบ นับเป็นพิมพ์พิเศษของสายอนุรักษ์ เก็บพระตามที่เก็บมาดั้งเดิม ตากับปู่เก็บมาแบบนี้ เราก็เลยเก็บตาม และอยากให้คนศึกษาพระที่คนรุ่นก่อนเก็บกันมา และมีนักสะสมสายอนุรักษ์หลายท่านที่เก็บสะสมพิมพ์นี้เหมือนกัน เช่น เสี่ยกล้า "ชมรมนักอนุรักษ์สะสมพระเครื่องสยาม" ของนายกล้า เกษสุรินทร์ชัย หรือ เสี่ยกล้า ประธานชมรม” ใหญ่ ชินบัญชร ให้ข้อมูล
นายกล้า เกษสุรินทร์ชัย หรือ เสี่ยกล้า มีพระรูปเหมือนสมเด็จฯ พิมพ์บาตรน้ำมนต์ 3 บาตร และเป็นพิมพ์ 1 ในปกหลังของหนังสือพระสมเด็จ อ.แฉล้ม โชติช่วง ในบันทึกปู่คำ ซึ่ง อ.โจ้ก บ้านสมเด็จ ซึ่งเก็บพระสมเด็จตามตำรา เสริมข้อมูลว่า
ในประวัติบอกว่า มีข้าราชการท่านหนึ่งอยากแกะบล็อกพิมพ์ทรงนี้ แต่สมเด็จฯ ท่านไม่ให้ทำรูปเหมือนท่าน แต่เมื่อทำมาแล้วท่านก็ให้ทำเพียงเท่านี้พอ ดังนั้นพิมพ์นี้จะมีไม่ พระสมเด็จยุคแรกๆ จะเป็นเนื้อกระยาหารเยอะ ที่มีความหนึกนุ่ม ถ้าสร้างก่อนตำแหน่งสมเด็จฯ จะมีเปลือกหอยไม่เยอะ มวลสารละเอียด มีการสร้างจริงและมีบันทึกของปู่คำอยู่จริง ในหนังสือ อ.แฉล้ม โชติช่วง และในบันทึกบอกอีกว่า หลายๆ พิมพ์ชาวบ้านก็ช่วยกันกดจริง บันทึกขึ้นมาเพื่อให้ช่วยกันสืบทอด
มวลสารและผงวิเศษพระสมเด็จพิมพ์วังจากตำรา อ.ตรียัมปวาย
จากข้อมูลในหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ พระสมเด็จฯ ของ อ.ตรียัมปวาย ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับมวลสารและผงวิเศษที่ผสมลงในการสร้างพระสมเด็จ ไว้ว่า
ผงวิเศษ 5 ประการ
ประกอบด้วย “ผงดินสอพอง” เป็นส่วนใหญ่ ผสมด้วย ดินโป่ง ดินตีนท่า ดินหลักเมือง เถ้าไส้เทียนในพระอุโบสถ ดอกกาหลง ยอดสวาท ยอดรักซ้อน ไคลเสมา ไคลประตูเมือง ไคลประตูพระบรมมหาราชวัง ไคลเสาตะลุงช้างเผือก ราชพฤกษ์ พลูร่วมใจ พลูสองหาง กระแจะตะนาว และน้ำมันหอมเจ็ดรส ตามมูลสูตรกรรมวิธีผงวิเศษ อิทธิวัสดุเหล่านี้สมเด็จฯ เอามาปั้นเป็นแท่งดินสอวรรณะเหลืองหม่น ใช้ในการเขียนสูตร อักขระ เลข ยันต์ เป็นผงวิเศษทั้ง 5 ประการ ซึ่งเป็นอิทธิวัสดุหลักในเนื้อพระสมเด็จฯ ช่วยให้มวลสารเกิดความนุ่มและความซึ้ง
ผงใบลานเผา
ผงถ่านของใบลานจารึกอักษร เลขยันต์ และสูตรต่างๆ ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้จารสูตรพุทธาคมและอักขระเลขยันต์ต่างๆ ลงในใบลาน แล้วสุมไฟ เก็บรวบรวมใบลานเผานั้นมาสร้างพระสมเด็จ
เกสรดอกไม้
เป็นเกสรดอกไม้นานาพรรณตามบุราณคติการสร้างพระเครื่อง ได้แก่ เกสรบัวทั้งห้า คือ ปุณฑริก หรือ โกมุท นิโลบล สัตตบงกต สัตบรรณ ปัทมะ (บัวขาวหรือบัวเผื่อน บัวเขียว บัวแดง บัวขาบ บัวหลวง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัวบูชาพระประธานในพระอุโบสถ นอกนั้นจะเป็นเกสรบุปผชาติต่างๆ เช่น พุทธรักษา สารภี ยี่สุ่น พิกุล บุนนาค กาหลง ชงโค คัดเค้า รักซ้อน ฯลฯ นำมาตากแห้งแล้วบดผสมเนื้อพระ
เนื้อว่าน 108
เป็นหัวว่านป่านานาชนิด คติโบราณถือว่ามีคุณมหัศจรรย์ เช่น พระเจ้าห้าพระองค์ ว่านมหาเศรษฐี มหาวนชัยมงคล เสน่ห์จันทน์ ฉิมพลี นางคำ นางล้อม สี่ทิศ พญาลิ้นงู หนังแห้ง คางคก กระบือชนเสือ ไพลดำ หอมแดง สบู่เลือด ฯลฯ
ทรายเงิน ทรายทอง
คือ ผงตะไบของแผ่นเงินแผ่นทอง ที่ลงอักขระเลนยันต์และสูตรต่างๆ สำหรับการสร้างพระ มักลงท้ายด้วย พระยันต์ 108 และ นะ ปถัง 14 เอามาผสมในเนื้อพระสมเด็จ
น้ำมันจันทน์
ได้แก่ น้ำมันจันทน์หอมพระพุทธมนต์ ซึ่งสำเร็จด้วยการปลุกเสกพระพุทธคุณ 108 เป็นน้ำมันที่สกัดจากไม้จันทน์หอม และไม้เนื้อหอม 7 ชนิด เรียกว่า น้ำมัน 7 รส เป็นตัวประสานมวลสาร เช่นเดียวกับน้ำมันตังอิ๊ว
เถ้าธูป
เป็นเถ้าธูปที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รวบรวมไว้จากกระถางธูปที่บูชาพระของท่าน และจากที่บูชาในพระอุโบสถ แล้วนำมากรองให้ละเอียด ผสมกับเนื้อพระ
และมวลสารทั้งหมดนี้เมื่อผสมเข้ากันจะทำให้เนื้อพระสมเด็จเกิดความนุ่มและความซึ้ง ยิ่งผ่านกาลเวลานานเท่าไหร่ ความนุ่มและความซึ่งที่ปรากฏนั้นก็จะยิ่งชัดเจน เมื่อส่องแล้วดูสบายตา นุ่มนวล
ส่วน มวลสารและผงวิเศษ จาก “หนังสือหลักสูตรการศึกษาพระเครื่องพระสมเด็จ โดยสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และศูนย์พระเครื่องบารมีสมเด็จโต” กล่าวถึง ผงและมวลสาร ของพระสมเด็จ ประกอบไปด้วย มวลสารหลักคือ ปูนเปลือกหอย เป็นหลัก ผสมเข้ากับมวลสารและผงวิเศษอื่นๆ ที่มีคุณวิเศษมากมาย ดังนี้
1. ปูนเปลือกหอยที่ตำในครก ผ่านตระแกรงร่อนจนได้ผงขาวละเอียด หินปูน ปูนเพชร
2. ผงพุทธคุณทั้ง 5
- ผงกฤติยาคม อนุภาพในทางแคล้วคลาดปลอดภัย
- ผงปถมัง อานุภาพคงกระพันชาตรี
- ผงอิทธิเจ อานุภาพทางเมตตามหานิยม
- ผงตรีนิสิงเห อนุภาพทางมหาเสน่ห์
- ผงมหาราช อนุภาพทางเสริมอำนาจ บารมี
3. ไม้มงคลต่างๆ ว่านเกสร 108
4. ดินมงคลจากที่ต่างๆ เช่น ดินเจ็ดป่า เจ็ดโป่ง ดินหลักเมือง
5. ทรายเงิน ทรายทอง
6. ผงถ่าน คำภีร์ใบลานจารที่ชำรุด นำมาตากแห้งและเผา
7. กระยาหารต่างๆ เช่น ข้าวสุก กล้วย ขนุนสุก
8. เกสรดอกไม้
9. น้ำพุทธมนต์
10. น้ำอ้อยเคี่ยว น้้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว
11. เศษพระกำแพงหัก
12. พระธาตุ แร่ รัตนชาติ
13. ฯลฯ
ผนึกกำลังพุทธคุณด้วยคาถา “ชินบัญชร”
พระสมเด็จที่ท่านมีนั้นถ้ายิ่งผนึกกำลังจากพระคาถา “ชินบัญชร” ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ปรับปรุงขั้นใหม่ด้วยแล้ว ยิ่งสร้างพลังในการคุ้มครองตัวท่าน เนื่องจากพระคาถาได้อัญเชิญพระพุทธเจ้าทั้ง 28 พระองค์ และพระอรหันต์สำคัญมากมาย รวมทั้งอัญเชิญพระสูตรสำคัญ ทั้ง 7 สูตร ทำให้มีพลังในการคุ้มครองให้พ้นจากภัยอันตราย, เมตตามหานิยม, แคล้วคลาด, อยู่ยงคงกระพัน, มหาอุด, ป้องกันภูตผีปีศาจ ฯลฯ ก็จะยิ่งทำให้เกิดสิริมงคลแก่ผู้ศรัทธา
พระสมเด็จ พิมพ์ 3 บาตร
พระสมเด็จ พิมพ์ 3 บาตรองค์นี้ เป็นพระพิมพ์รูปเหมือนสมเด็จฯ โต และมีบาตรทั้งหมด 3 ใบ วางเรียงกันอย่างสวยงาม เนื้อมวลสารออกสีขาวเหลือง จะสังเกตเห็นมวลสารเล็กๆ ได้ด้วยตาเปล่า ทั้งสีเขียว สีแดง สีดำ ขนาดเล็กใหญ่ต่างกันไป ด้านหลังเห็นรอยหลุดร่อนของมวลสารจนเป็นรูพรุน สังเกตได้ถึงความแห้ง ยุบ ย่น ตามกาลเวลา
ส่องพระสมเด็จ พิมพ์ 3 บาตร จากกล้องกำลังขยายสูง
อ้างอิง : https://www.youtube.com/watch?v=xy3vpQIk3Vg ใหญ่
https://www.youtube.com/watch?v=LQfqtVmfz1A อ.สุรพล
https://www.youtube.com/watch?v=w-CEt20cvGs อ.กล้า
เรื่องโดย : อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมน์นิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam
คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com
(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)