ส่อง “พระสมเด็จ” พิมพ์เส้นด้าย แบบไม่ตัดปีก หรือที่นักสะสมพระเรียกกันว่า “ทดลองพิมพ์”
“พระสมเด็จ” พิมพ์เส้นด้าย ทดลองพิมพ์ เป็นชุดเดียวกับทดลองพิมพ์อื่นๆ ที่คุณพ่อผู้เขียนได้สะสมมา (อ่านพระสมเด็จ เกศบัวตูม ทดลองพิมพ์)เนื้อมวลสารพระเหมือนกัน คือ เป็นเนื้อมวลสารวัดระฆัง มีความแห้ง ยุบ เหี่ยว ย่น ที่ธรรมชาติจากการเวลาที่ผ่านมากว่า 150 ปี
คุณพ่อยังยืนยันเสมอว่า แนวทางการเก็บพระสมเด็จของท่าน คือ เพื่ออนุรักษ์พุทธศิลป์ และช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนา เมื่อ 15 ปีก่อน ท่านมีโอกาสเจอพระสมเด็จทดลองพิมพ์แบบนี้ ในพิมพ์ต่างๆ เช่น เกศบัวตูม พิมพ์ใหญ่ พิมพ์เศียรโต พิมพ์ฐานแซม ฯลฯ จึงได้เก็บสะสมมา
จุดตัดสินใจในการเก็บพระสมเด็จชุดนี้ของคุณพ่อ คือ เนื้อหามวลสารมีความแห้ง ความเก่าถึงยุค ตามแนวทาง อาจารย์ไพศาล มุสิกะโปดก ผู้ชำนาญการธรรมชาติวิทยา ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์พระสมเด็จ ที่ให้แนวทางไว้ว่า ธรรมชาติพระสมเด็จที่ผ่านกาลเวลามากว่า 150 ปี จะต้องมีร่องรอยของการ “ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง” ปรากฎในองค์พระสมเด็จ
ทดลองพิมพ์ที่พบเจอ
ผู้เขียนได้ค้นหาข้อมูล แล้วก็พบว่า มีพระสมเด็จ ทดลองพิมพ์ อยู่จำนวนหนึ่ง โดยมีพิมพ์ต่างๆ มากมาย เช่น พิมพ์ใหญ่ พิมพ์ไกเซอร์ พิมพ์เกศบัวตูม พิมพ์ฐานแซม พิมพ์เส้นด้าย ฯลฯ โดยมีวรรณะสีของพระสมเด็จที่แตกต่างกัน เช่น สีเขียว สีแดง สีเหลืองขาว เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบพระสมเด็จ ทดลองพิมพ์ หรือ พระสมเด็จ ไม่ตัดปีก ในหนังสือ "พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม จักรพรรดิแห่งพระเครื่องไทย" โดย "ชมรมนักอนุรักษ์สะสมพระเครื่องสยาม" ของนายกล้า เกษสุรินทร์ชัย หรือ เสี่ยกล้า ประธานชมรม ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้ออกวางจำหน่ายด้วย
ซึ่งเสี่ยกล้าบอกว่า เคยเห็นพระสมเด็จ ไม่ตัดปีก มาตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบแล้ว ซึ่งมีพระสมเด็จ ไม่ตัดปีก 2 ประเภท คือ "จงใจไม่ตัดปีก" และ "ลืมตัดปีก" มีความแตกต่างกันตรงขอบที่ปรากฎ คือ แบบจงใจไม่ตัดปีก ขอบพระจะเรียบร้อย มีเนื้อเกินที่เหลือเท่าๆ กัน ดูสวยงามกว่า ขณะที่พระสมเด็จ แบบลืมตัดปีก ขอบจะไม่เรียบร้อย เหมือนไม่ได้เก็บงานให้ดี
เสี่ยกล้าบอกอีกว่า ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะเก็บพิมพ์แบบนี้ไว้ และให้ดูที่ “เนื้อมวลสารพระ” เป็นสำคัญ ซึ่งทั้ง 2 แบบ มีความสวยงามที่แตกต่างกัน แล้วแต่ว่าใครจะชอบ และเลือกที่จะสะสม
พระสมเด็จ พิมพ์เส้นด้าย ความหมายทางคติธรรม
พระสมเด็จ พิมพ์เส้นด้าย มีข้อมูลปรากฏในหนังสือ ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ พระสมเด็จฯ ของ อ.ตรียัมปวาย ว่า พิมพ์เส้นด้ายนี้ เป็นพิมพ์ที่ถอดเค้าพุทธลักษณะไปจากพุทธศิลปประณีตของพิมพ์ทรงพระประธาน โดยย่อรายละเอียดเข้ามาไว้ในพุทธศิลปสังเขปโมเดิร์น แอ็บสแตร็กส์ ส่วนโค้งนูนของพระเศียร ความนูนหนาของลำพระองค์ ความลึกของหว่างพระพาหา (ตั้งแต่ไหล่ถึงศอก) ทั้งหมดนี้ถูกลดลงกลายเป็นลักษณะเกลี้ยงๆ เรียบๆ แง่สันต่างๆ ได้รับการย่อลงมาเหลือเพียงลักษณะคมบาง โดยเฉพาะส่วนของพระพาหา ที่วาดมน คมเรียว ดุจวงเส้นด้าย จึงได้ชื่อว่า “พิมพ์เส้นด้าย”
อาจารย์โชค เพิ่มพูล ผู้ศึกษาพระสมเด็จ เจ้าของเพจธรรมมณีแห่งเสน่ห์Amulet ได้ตั้งข้อสันนิษฐาน ในคติธรรมที่แฝงอยู่ในพระสมเด็จ พิมพ์เส้นด้าย ซึ่ง อ.โชค เรียกพิมพ์แบบนี้ว่า พิมพ์เส้นด้าย สายสูตร
เส้นด้าย คือ เส้นด้ายที่เจ้านายหรือสมเด็จพระสังฆราชจับโยงไป เพื่อทำกิจกรรมทางศาสนาเช่น ยกช่อฟ้า หรือเททองหล่อพระพุทธรูป เป็นต้น
สายสูตร คือ เชือกหุ้มผ้าขาวสำหรับทรงถือในการหล่อพระพุทธรูปหรือยกช่อฟ้า เป็นต้น
ฐานเส้นด้าย มีเส้นฐาน ๔ ฐาน หมายถึง มหาสติปัฎฐานสูตร พระสูตรสำคัญในพระพุทธศาสนาเป็นการฝึกสติ และใช้สตินั้นไปในการปฏิบัติ แบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ
กายานุปัสสนา การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย
เวทนานุปัสสนา การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา
จิตตานุปัสสนา การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต
ธัมมานุปัสสนา การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม
และในพิมพ์เส้นด้ายนี้เอง ยังให้คติธรรมแฝงในเรื่อง “มัชฌิมาปฏิปทา” หลักทางสายกลาง คือ ความสมดุล ความเหมาะสม การไม่ยึดถือสุดทาง พระพุทธเจ้าทรงกำหนดหลักทางสายกลางไว้ชัดเจน คือ อริยมรรคมีองค์ 8 เมื่อย่นย่อแล้ว คือ “ไตรสิกขา” ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา
มวลสารและผงวิเศษในแบบฉบับของ อ.ตรียัมปวาย
จากข้อมูลในหนังสือปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ พระสมเด็จฯ ของ อ.ตรียัมปวาย ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับมวลสารและผงวิเศษที่ผสมลงในการสร้างพระสมเด็จ ไว้ว่า
ผงวิเศษ 5 ประการ
ประกอบด้วย “ผงดินสอพอง” เป็นส่วนใหญ่ ผสมด้วย ดินโป่ง ดินตีนท่า ดินหลักเมือง เถ้าไส้เทียนในพระอุโบสถ ดอกกาหลง ยอดสวาท ยอดรักซ้อน ไคลเสมา ไคลประตูเมือง ไคลประตูพระบรมมหาราชวัง ไคลเสาตะลุงช้างเผือก ราชพฤกษ์ พลูร่วมใจ พลูสองหาง กระแจะตะนาว และน้ำมันหอมเจ็ดรส ตามมูลสูตรกรรมวิธีผงวิเศษ อิทธิวัสดุเหล่านี้สมเด็จฯ เอามาปั้นเป็นแท่งดินสอวรรณเหลืองหม่น ใช้ในการเขียนสูตร อักขระ เลข ยันต์ เป็นผงวิเศษทั้ง 5 ประการ ซึ่งเป็นอิทธิวัสดุหลักในเนื้อพระสมเด็จฯ ช่วยให้มวลสารเกิดความนุ่มและความซึ้ง
ผงใบลานเผา
ผงถ่านของใบลานจารึกอักษร เลขยันต์ และสูตรต่างๆ ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้จารสูตรพุทธาคมและอักขระเลขยันต์ต่างๆ ลงในใบลาน แล้วสุมไฟ เก็บรวบรวมงใบลานเผานั้นมาสร้างพระสมเด็จ
เกสรดอกไม้
เป็นเกสรดอกไม้นานาพรรณตามบุราณคติการสร้างพระเครื่อง ได้แก่ เกสรบัวทั้งห้า คือ ปุณฑริก หรือ โกมุท นิโลบล สัตตบงกต สัตบรรณ ปัทมะ (บัวขาวหรือบัวเผื่อน บัวเขียว บัวแดง บัวขาบ บัวหลวง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัวบูชาพระประธานในพระอุโบสถ นอกนั้นจะเป็นเกสรบุปผชาติต่างๆ เช่น พุทธรักษา สารภี ยี่สุ่น พิกุล บุนนาค กาหลง ชงโค คัดเค้า รักซ้อน ฯลฯ นำมาตากแห้งแล้วผดผสสมเนื้อพระ
เนื้อว่าน 108
เป็นหัวว่านป่านานาชนิด คติโบราณถือว่ามีคุณมหัศจรรย์ เช่น พระเจ้าห้าพระองค์ ว่านมหาเศรษฐี มหาวนชัยมงคล เสน่ห์จันทน์ ฉิมพลี นางคำ นางล้อม สี่ทิศ พญาลิ้นงู หนังแห้ง คางคก กระบือชนเสือ ไพลดำ หอมแดง สบู่เลือด ฯลฯ
ทรายเงิน ทรายทอง
คือ ผงตะไบของแผ่นเงินแผ่นทอง ที่ลงอักขระเลนยันต์และสูตรต่างๆ สำหรับการสร้างพระ มักลงท้ายด้วย พระยันต์ 108 และ นะ ปถัง 14 เอามาผสมในเนื้อพระสมเด็จ
น้ำมันจันทน์
ได้แก่ น้ำมันจันทน์หอมพระพุทธมนต์ ซึ่งสำเร็จด้วยการปลุกเสกพระพุทธคุณ 108 เป็นน้ำมันที่สกัดจากไม้จันทน์หอม และไม้เนื้อหอม 7 ชนิด เรียกว่า น้ำมัน 7 รส เป็นตัวประสานมวลสาร เช่นเดียวกับน้ำมันตังอิ๊ว
เถ้าธูป
เป็นเถ้าธูปที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รวบรวมไว้จากกระถางธูปที่บูชาพระของท่าน และจากที่บูชาในพระอุโบสถ แล้วนำมากรองให้ละเอียด ผสมกับเนื้อพระ
และมวลสารทั้งหมดนี้เมื่อผสมเข้ากันจะทำให้เนื้อพระสมเด็จเกิดความนุ่มและความซึ้ง ยิ่งผ่านกาลเวลานานเท่าไหร่ ความนุ่มและความซึ่งที่ปรากฏนั้นก็จะยิ่งชัดเจน เมื่อส่องแล้วดูสบายตา นุ่มนวล
ส่วน มวลสารและผงวิเศษ จาก “หนังสือหลักสูตรการศึกษาพระเครื่องพระสมเด็จ โดยสํานักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และศูนย์พระเครื่องบารมีสมเด็จโต” กล่าวถึง ผงและมวลสาร ของพระสมเด็จ ประกอบไปด้วย มวลสารหลักคือ ปูนเปลือกหอย เป็นหลัก ผสมเข้ากับมวลสารและผงวิเศษอื่นๆ ที่มีคุณวิเศษมากมาย ดังนี้
1. ปูนเปลือกหอยที่ตำในครก ผ่านตระแกรงร่อนจนได้ผงขาวละเอียด หินปูน ปูนเพชร
2. ผงพุทธคุณทั้ง 5
- ผงกฤติยาคม อนุภาพในทางแคล้วคลาดปลอดภัย
- ผงปถมัง อานุภาพคงกระพันชาตรี
- ผงอิทธิเจ อานุภาพทางเมตตามหานิยม
- ผงตรีนิสิงเห อนุภาพทางมหาเสน่ห์
- ผงมหาราช อนุภาพทางเสริมอำนาจ บารมี
3. ไม้มงคลต่างๆ ว่านเกษร 108
4. ดินมงคลจากที่ต่างๆ เช่น ดินเจ็ดป่า เจ็ดโป่ง ดินหลักเมือง
5. ทรายเงิน ทรายทอง
6. ผงถ่าน คำภีร์ใบลานจารย์ที่ชำรุด นำมาตากแห้งและเผา
7. กระยาหารต่างๆ เช่น ข้าวสุก กล้วย ขนุนสุก
8. เกสรดอกไม้
9. น้ำพุทธมนต์
10. น้ำอ้อยเคี่ยว น้้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว
11. เศษพระกำแพงหัก
12. พระธาตุ แร่ รัตนชาติ
13. ฯลฯ
พระสมเด็จ พิมพ์เส้นด้าย ทดลองพิมพ์ (ไม่ตัดปีก)
พระสมเด็จ องค์นี้เอง เป็นพิมพ์เส้นด้าย โดยลักษณะของขอบพระนั้นมีความเรียบร้อย ดูสวยงาม คิดว่าเป็นแบบพระสมเด็จ ที่จงใจไม่ตัดขอบ วงแขนขวาพระประธานมีความเรียวเล็กกว่าวงแขนด้านซ้าย พระเกศมีความเรียวเล็กจรดซุ้ม ฐานทั้ง 3 ชั้น ก็เรียวบาง และแซมด้วยก้อนอัญมณีสีดำ 2 ก้อน บริเวณทั้งชั้นที่ 1 และ 2
ด้านหลังเป็นผิวเรียบ ปรากฏความ “ยุบ แยก ย่น หด เหี่ยว แห้ง” ทั้งองค์พระ และมีรอยแตกแบบธรรมชาติปรากฏให้เห็น
พระสมเด็จที่ผ่านกาลเวลามากว่า 150 ปี จะเผยให้เห็นธรรมชาติของผิวพระที่มีความมันวาว ดูนุ่มนวล หนึกนุ่มเป็นธรรมชาติ เนื้อที่มันวาว นุ่มนวล เมื่อส่องด้วยกล้องกำลังขยายสูง ความมันที่เห็น คือ แคลไซซ์ (Calcite) ที่เกิดขึ้น เป็นการทำปฏิกิริยาของแคลเซียมออกไซด์ที่ผ่านกาลเวลามากว่าร้อยปี เนื่องจากมวลสารหลักในพระสมเด็จ คือ ปูนเปลือกหอย ได้ทำปฏิกิริยานั่นเอง
“ภาพพระสมเด็จ พิมพ์เส้นด้าย ทดลองพิมพ์ จากกล้องกำลังขยายสูง”
สิ่งที่เราไม่ควร “หลงลืม” ในการสะสมพระสมเด็จ หรือพระเครื่องของเกจิอาจารย์ที่เราเคารพนับถือแล้ว คือ การสืบทอดต่อไปยังรุ่นลูกหลาน เพื่อให้รู้ว่าประเทศไทยมีความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนามากเพียงใด และน้อมนำหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาปฏิบัติอยู่เสมอ
อ้างอิง : 1. https://youtu.be/bxr4XeFJgkI
เรื่องโดย : อาภาวรรณ โสภณธรรมรักษ์ คอลัมน์นิสต์ สำนักข่าว EduNewsSiam
คุยกับคอลัมนิสต์ที่ : arphawan.s@gmail.com
(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)