กศน.สอบตก! ครูสอนอังกฤษ-ศูนย์ฝึกอาชีพ-แหล่งเรียนรู้-สะเต็ม-'N-Net'

สตง.รายงาน กศน.สอบตก! สร้างครูต้นแบบสอนอังกฤษ-ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน-แหล่งเรียนรู้ตำบล-สะเต็มศึกษา-ผล N-Net

สำนักข่าว EdunewsSiam รายงานว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการดำเนินงานของสำนักงาน ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงศึกษาธิการ

ในภารกิจส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ตามโครงการพัฒนาทักษะครูต้นแบบการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร

การปรับปรุงระบบการเรียนรู้ การพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน การวัดและประเมินผล เพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ มาตรฐาน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ และการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างทั่วถึง ตอบสนองความต้องการของคนทุกช่วงวัย ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 3 (ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน

ตลอดจนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านการศึกษานอกระบบ (Non-Formal National Test : N-Net) ของสำนักงาน กศน.

โดย สตง.ตรวจพบปัญหา อุปสรรคและข้อจำกัดในภารกิจต่างๆ ดังกล่าวหลกหลายประการ ที่ทำให้การดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด พร้อมทั้ง สตง.ได้แจ้งข้อเสนอแนะให้กับผู้บริหารสำนักงาน กศน.รีบหาทางแก้ไขโดยด่วน

ทั้งนี้ สตง.ได้ตรวจสอบจากผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานของสำนักงาน กศน. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560-2562 ภายใต้แผนงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน เพื่อให้ทราบถึงผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค ตลอดจนข้อจำกัดต่างๆ

เพื่อให้ข้อเสนอแนะกับผู้บริหารหน่วยงานในการแก้ไขปรับปรุงและการพัฒนางานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

จากการตรวจสอบผลการดำเนินงานของสำนักงาน กศน. มีประเด็นข้อตรวจสอบและข้อสังเกตที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ดังนี้

1.ในภารกิจส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ตามโครงการพัฒนาทักษะครูต้นแบบการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร  

พบว่า ครู และบุคลากร กศน.ต้นแบบที่ได้รับการอบรม ยังไม่สามารถเป็นวิทยากรแกนนำได้ตามเป้าหมายที่กำหนด โดยการสัมภาษณ์ครู และบุคลากร กศน.ต้นแบบ จำนวน 18 คน มีเพียง 6 คน หรือร้อยละ 33.33 ที่สามารถขยายผลโดยถ่ายทอดความรู้ในรูปแบบ Communicative Language Teaching (CLT) ได้ ซึ่งต่ำกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 80

ส่วนครู และบุคลากร กศน.ต้นแบบ 12 คน ยังไม่ได้นำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติการขยายผล

นอกจากนี้ ครู และบุคลากร กศน.ต้นแบบยังไม่ได้นำเทคนิคการสอนตามแนวทางภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารที่ได้รับการอบรม มาใช้ในการจัดทำแผนการเรียนรู้สาระวิชาภาษาอังกฤษ มีเพียงนำความรู้จากการอบรมมาใช้ก่อนการนำเข้าสู่บทเรียน ทำให้นักศึกษา กศน.ขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ

ทั้งนี้ มีสาเหตุสำคัญคือ สำนักงาน กศน.ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินศักยภาพของผู้เข้ารับการอบรมในการเป็นวิทยากรแกนนำ ไม่มีแนวทาง การปฏิบัติการขยายผล หรือการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และขาดการนิเทศติดตามครู และบุคลากร กศน.ที่ผ่านการพัฒนา รวมทั้งขาดการรายงานผลการดำเนินงานในเชิงคุณภาพ

2.ในภารกิจการปรับปรุงระบบการเรียนรู้ การพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน การวัดและประเมินผล เพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ มาตรฐาน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ และการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างทั่วถึง ตอบสนองความต้องการของคนทุกช่วงวัย ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 3 (ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน

จากการตรวจสอบของ สตง.พบสภาพปัญหาสำคัญ ประกอบด้วย

2.1 สำนักงาน กศน.ได้จัดทำโครงการภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารด้านอาชีพ โดยให้สถานศึกษาจัดอบรมแก่ประชาชนในพื้นที่ แต่จากการสัมภาษณ์ประชาชนที่เข้ารับการอบรมในสถานศึกษา กศน. ที่ สตง.สุ่มตรวจ 5 แห่งใน 5 อำเภอ จำนวน 100 คน

พบว่าประชาชนร้อยละ 80 ที่เข้าอบรมในแต่ละสถานศึกษา ได้นำความรู้ภาษาอังกฤษไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ หรือพัฒนางาน ต่ำกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีประชาชนนำความรู้ไปใช้ประโยชน์คิดเป็นร้อยละ 26.67, 16.00, 55.00, 25.00 และ 65.00 ตามลำดับ

มีสาเหตุสำคัญมาจาก การกำหนดหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารด้านอาชีพตามแนวทางการดำเนินงานขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติ ไม่มีการสำรวจความต้องการของประชาชน ทำให้หลักสูตรที่จัดอบรมไม่สอดคล้องกับการนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ

2.2 สำนักงาน กศน.ได้กำหนดภารกิจในการเพิ่มและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชาชน เพื่อเข้าสู่การแข่งขันของประเทศ ผ่านการดำเนินงานโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน โดยให้สถานศึกษา กศน.เป็นฐานการจัดการศึกษาต่อเนื่อง ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนการฝึกอบรมอาชีพ

จากการตรวจสอบของ สตง.โดยสัมภาษณ์ประชาชนที่ผ่านการอบรม จำนวน 200 คน ปรากฏว่ามีเพียง 37 คน หรือร้อยละ 18.50 ที่นำความรู้จากการอบรมไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด

สาเหตุสำคัญมาจาก ประชาชนไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์และวัตถุดิบที่เหมาะสม ไม่มีช่องทางการตลาดในการจำหน่ายสินค้า หรือช่องทางการประกอบอาชีพตามที่ได้รับการอบรม

2.3 สำนักงาน กศน.ได้จัดทำกิจกรรมจัดสร้างแหล่งการเรียนรู้ในระดับตำบล โดยการพัฒนา กศน.ตำบล/แขวง ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และการจัดกิจกรรมการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีคุณภาพและทั่วถึงสำหรับประชาชน

จากการสุ่มตรวจของ สตง. จำนวน 15 แห่ง พบว่ายังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้ครบถ้วนตามมาตรฐานที่กำหนด โดยเฉพาะการเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารของชุมชน โดยยังไม่สามารถพัฒนาระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศระดับชุมชน ไม่มีการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพ กศน.ตำบล และงานนำเสนอความรู้ข้อมูลข่าวสารสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจาก สำนักงาน กศน.ไม่ได้กำหนดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการติดตามและรายงานผลการดำเนินการของ กศน.ตำบลให้เป็นไปตามวัตประสงค์

2.4 การส่งเสริมให้ครู กศน.มีการจัดการเรียนการสอนแบบสะเต็มศึกษา (STEM Education) ที่เชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด

โดยจากการตรวจสอบสัมภาษณ์ครู กศน.ตำบล จำนวน 93 คน ที่เข้ารับการอบรมตามโครงการบูรณาการสะเต็มศึกษา ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) พบว่า ส่วนใหญ่ 86 คน คิดเป็นร้อยละ 92.47 ยังไม่สามารถบูรณาการจัดกิจกรรมหรือการเรียนการสอนตามแนวทางสะเต็มศึกษาได้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด

อีกทั้งจากการตรวจสอบการดำเนินงานส่งเสริมการเรียนการสอนแบบสะเต็มศึกษาของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา กศน. จำนวน 5 แห่ง พบเพียง 2 แห่ง ที่ได้ดำเนินการจัดโครงการหรือกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนการสอนแบบสะเต็มศึกษา ด้วยการจัดอบรมให้กับครู กศน.ตำบล รวมจำนวน 30 คน

แต่ครู กศน.ตำบลส่วนใหญ่ จำนวน 26 คน คิดเป็นร้อยละ 86.67 ยังไม่สามารถบูรณาการจัดกิจกรรมหรือการเรียนการสอนตามแนวทางสะเต็มศึกษาได้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด

โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก ครู กศน.ที่เข้ารับการอบรมยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนแบบสะเต็มศึกษา รวมทั้งครู กศน.ตำบลส่วนใหญ่ไม่ได้จบการศึกษาขาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และสำนักงาน กศน.ก็ยังไม่มีหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยใช้กระบวนการ “สะเต็มศึกษา”

ทั้งนี้ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้มีข้อเสนอแนะไปยังเลขาธิการ กศน.ได้พิจารณาและดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งหมดโดยด่วนแล้ว

นอกจากนี้ ในรายงานผลการตรวจสอบของ สตง. ยังให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านการศึกษานอกระบบ (Non-Formal National Test : N-Net) ของสำนักงาน กศน. ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ด้วย

N-Net เป็นการทดสอบเพื่อวัดความรู้และความคิดของนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 จัดโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ.

สตง.ได้ตรวจสอบเอกสารรายงานค่าสถิติพื้นฐานผลการทดสอบ N-Net ทั่วประเทศ (ทุกระดับ) ปีงบประมาณ พ.ศ.2560-2562 พบว่า ผลการทดสอบแต่ละระดับ/สาระการเรียนรู้ในระยะเวลา 3 ปี ส่วนใหญ่มีผลคะแนนเฉลี่ยไม่เป็นไปตามเป้าหมายตามตัวชี้วัดแผนพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2560-2579 โดยมีผลคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 50

ยกเว้น สาระทักษะการดำเนินชีวิต ระดับประถมศึกษา ปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ในการทดสอบครั้งที่ 2 ปีการศึกษา 2559 และครั้งที่ 1 ปีการศึกษา 2560 เท่านั้น ที่ผลคะแนนการทดสอบ N-Net ทั่วประเทศ มีคะแนนเฉลี่ยผ่านเกณฑ์ร้อยละ 50 โดยอยู่ที่ 53.61 และ 52.01 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการ กศน.พิจารณาดำเนินการดังนี้ 1.ให้มีการติดตามผลการยกระดับผลทดสอบ N-Net ตามแนวทางและวิธีการที่สำนักงาน กศน.เสนอให้สถานศึกษา กศน.นำไปพิจารณาปรับปรุง

และ 2.ให้สำนักงาน กศน.รวบรวมข้อมูลรูปแบบ เทคนิค และวิธีการเรียนการสอนของสถานศึกษา กศน.ที่มีผลการทดสอบ N-Net อยู่ในลำดับต้นๆ หรือมีแนวโน้มผลคะแนนเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี เพื่อนำมาสรุปเป็นองค์ความรู้ให้กับสถานศึกษา กศน.อื่นๆ ได้นำไปปรับใช้

เพื่อยกระดับผลการทดสอบ N-Net และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายตัวชี้วัดแผนพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2560-2579

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)