88 เปอร์เซ็นต์ ให้ทบทวนนโยบายอาชีวะจังหวัดเดียวกันห้ามเปิดหลักสูตรซ้ำซ้อน

นายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) เปิดเผย สำนักข่าว EdunewsSiam เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ว่า ตามที่นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ได้กำหนดนโยบาย และมอบหมายให้ประธานอาชีวศึกษาจังหวัดต่างๆ พิจารณาการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ภายในจังหวัด

โดยตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 ไม่ให้สถานศึกษาสังกัด สอศ.ในแต่ละจังหวัดเปิดสอนหลักสูตรสาขาวิชาที่ซ้ำซ้อน, ให้งดรับนักศึกษา ปวช.1, ปวส.1 ในวิทยาลัยสารพัดช่างที่มีนักศึกษาต่ำกว่า 750 คน โดยให้คงสถานะเดิม คือจัดการสอนวิชาชีพระยะสั้นและเทียบโอน

ส่วนวิทยาลัยสารพัดช่างที่มีนักศึกษาเกิน 750 คน ให้เปลี่ยนบริบทเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิค ฯลฯ รวมทั้งให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเปิดสอนเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องกับเกษตรเท่านั้น เป็นต้น

ซึ่งได้สร้างความหวั่นวิตกและทำลายขวัญกำลังใจของบุคลากรที่คิดว่า จะได้รับผลกระทบหลายๆ ด้านตามมา

“ดังนั้น ช่วงที่ผ่านมาเครือข่าย ค.ร.อ.ท.จึงได้ทำหนังสือถึง ดร.รอยล จิตรดอน ประธานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรียกร้องให้คณะกรรมการ กอศ.ได้มอบหมายนายสุเทพให้ทบทวนนโยบายดังกล่าว และได้ศึกษาถึงผลกระทบ รวมทั้งให้บุคลากรได้มีส่วนร่วมในการวางแผนดำเนินการด้วย และที่สำคัญควรผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ กอศ.ก่อนที่จะนำสู่การปฏิบัติ

นายเศรษฐศิษฏ์ กล่าวด้วยว่า ล่าสุดเครือข่าย ค.ร.อ.ท.ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของบุคลากรอาชีวะ ครูอาจารย์ นักศึกษา และผู้ปกครอง ที่มีต่อนโยบายของนายสุเทพ โดยเฉพาะนโยบายไม่ให้สถานศึกษาสังกัด สอศ.ในแต่ละจังหวัดเปิดสอนหลักสูตรสาขาวิชาที่ซ้ำซ้อนกัน

ทั้งนี้ เพื่อรวบรวมความคิดเห็นนำเสนอต่อทั้งบอร์ด กอศ. และนายสุเทพ เลขาธิการ กอศ. ได้ประกอบการพิจารณาทบทวนนโยบายดังกล่าวด้วย

ซึ่งผลการสำรวจความคิดเห็นออกมาแล้ว ส่วนใหญ่ไม่ขานรับนโยบายนายสุเทพ โดยจากการสำรวจ 1,779 คน ส่วนใหญ่ 88.3% เห็นควรให้ผู้กำหนดนโยบายมีการทบทวน เพื่อเปิดโอกาสรับฟังผู้ที่มีส่วนได้เสีย และศึกษาผลกระทบในด้านต่างๆ โดยเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ก่อนที่จะพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไปหรือไม่

ส่วนอีก 11.7% เห็นว่านโยบายนายสุเทพดังกล่าวเหมาะสมแล้ว ให้ดำเนินการตามนโยบายนี้ต่อไป

“สำหรับข้อเสนอแนะจากผู้แสดงความคิดเห็น มีอาทิ เห็นควรให้ยกเลิกนโยบายนี้ เพราะมีปัญหาด้านการเดินทาง มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยนโยบายนี้อาจทำให้เด็กบางกลุ่มเข้าไม่ถึงบริการการศึกษาอาชีวะ โดยเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ควรมีสิทธิเลือกเรียนวิทยาลัยแห่งใดก็ได้ที่ใช้เงินน้อยเหมาะสมกับฐานะของเขา” ประธาน ค.ร.อ.ท. กล่าว

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)