มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา เจ้าภาพใหญ่ สร้างแม่ไก่วิศวกรสังคม

 

มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา เจ้าภาพใหญ่ 

สร้างแม่ไก่วิศวกรสังคมราชภัฏกลุ่มรัตนโกสินทร์ 

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จัดโครงการ "อบรมแกนนำวิศวกรสังคม (แม่ไก่) มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มรัตนโกสินทร์" เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตามอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏได้อย่างยั่งยืน

โดยมีผู้เข้าร่วม รวม 200 คน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มรัตนโกสินทร์ จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี และ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี ขอเข้าร่วมเครือข่าย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เปิดเผยว่า โครงการนี้ดำเนินการเพื่อให้นักศึกษาและคณาจารย์ในโครงการได้มีโอกาสเรียนรู้ และเสริมสร้างทักษะในการสร้างเครื่องมือเข้าหาชุมชน เพื่อรู้จักคุณค่าอดีต เข้าใจปัจจุบัน และพัฒนางาน แก้ไขปัญหาและต่อยอดสู่อนาคตได้

โดยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ใช้เวลา 3 วันในการอบรม เน้นการให้ "เครื่องมือ" สำคัญในการสร้างทักษะวิศวกรสังคม จำนวน 5 เครื่องมือ ได้แก่ นักศึกษาสามารถแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและอารมณ์ความรู้สึก ยอมรับความเห็นต่างเพื่อหาจุดร่วมในการพัฒนา เข้าใจและเคารพวิถีชีวิตของเพื่อนร่วมงานและคนในชุมชน เพื่อเลือกเวลาและประเด็นการมีส่วนร่วมได้อย่างเหมาะสม (put the right man to the right job)

ได้รู้จักคุณค่าอดีต เข้าใจปัจจุบัน เพื่อวางแผนอนาคตได้ ให้ความสำคัญกับการค้นหาขั้นตอนกระบวนการในประเด็นที่สนใจ รู้จักทุกขั้นตอนอย่างถ่องแท้ เพื่อเลือกพัฒนาได้ตรงเป้าหมาย หรือ "เกาให้ถูกที่คัน" ตามบริบทและศักยภาพ

รวมถึงนักศึกษาได้คิดวิเคราะห์เพื่อสร้างกระบวนการพัฒนางานที่ได้รับมอบหมาย และมีแนวทางประยุกต์ใช้กระบวนการที่ทันสมัย อาทิ Design thinking, Business model canvas, Lean business model, Service design และ Startup process 

ซึ่งทั้งหมดที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างทักษะวิศวกรสังคมที่มุ่งเป้าในการสร้างนักศึกษาให้เป็นนักคิด นักสื่อสาร นักประสาน และนักสร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตามอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏได้อย่างยั่งยืน และที่สำคัญคือการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและการทำงานในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"กระบวนการอบรมสร้างแกนนำวิศวกรสังคม (แม่ไก่) จำนวนกว่า 200 คน ของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 6 แห่งในครั้งนี้ ช่วยสร้างนักศึกษาให้เป็นนักคิด นักสื่อสาร นักประสาน และนักสร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นตามอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏตั้งอยู่ได้อย่างยั่งยืน และสุดท้ายสามารถต่อยอดสู่ชีวิตประจำวันและการทำงานหลังจบการศึกษา เป็นบุคลากรคุณภาพของประเทศได้ในที่สุด" ผศ.ดร.ลินดากล่าว

 

EunewsSiam : ส่องราชภัฏ

tulacom@gmail.com

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)