หยิกแก้มหยอก สิงห์ ราชดำเนิน 10 พฤษภาคม 2564

หยิกแก้มหยอก 10 พฤษภาคม 2564

สิงห์ ราชดำเนิน 

หยิกแก้มหยอก วันที่ 10 เมษายน 2564 เว็บไซต์ Worldometers รายงานสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก วันที่ 9 พฤษภาคม 2021 พบผู้ป่วย ยืนยันทั้งหมด 158,300,573 ราย เสียชีวิตรวม 3,295,974 ราย รักษาหายแล้ว 135,712,009 ราย...อินเดีย 20,658,234 ราย เสียชีวิต 226,169 ราย กัมพูชามีผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็นอย่างน้อย 16,299 ราย ผู้เสียชีวิตมีอย่างน้อย 107 ราย และยังมีผู้ป่วยในโรงพยาบาลแลtโรงพยาบาลสนามอีกอย่างน้อย 5,791 ราย ขณะที่ลาว 105 ราย เช่นเดียวกับเวียดนามที่จำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มอยู่ในช่วงขาขึ้นที่  68 คน...ขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 98 ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 81,274 รายเสียชีวิตสะสม 382 ราย


ไปกันที่กระทรวงศึกษาธิการ ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. เลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ออกไปเป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ตามข้อหารือกับบรรดาบิ๊กๆ หน่วยงานในรั้ววังจันทรเกษม ท่ามกลางความวิตกของครู บุคลากรทางการศึกษา และพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ยังกังวลถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่อาจวางใจได้...

ถึงกระนั้น ครูและบุคลากรทางการศึกษา ก็ยังคงต้องทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ ไม่ว่าจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์ใด ๆ ดังคำปลุกใจของอดีตรัฐมนตรี ศธ.คนหนึ่ง ภูมิอกภูมิใจนักหนาที่บอกกับครูว่า “โรงเรียนหยุดได้ แต่ความรู้หยุดไม่ได้” จนทำให้ตั้งแต่วันที่โควิด-19 เข้ามาประเทศไทยนับเนื่องมาถึงวันนี้ ล่วงเข้ามาปีที่ 2 แล้ว ครูของบ้านเมืองนี้ ก็ยังไม่ได้หยุด แถมยังต้องทำงานหนักกว่าชีวิตที่เคยอยู่ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ถ้า รมต.ศธ.คนใดยังไม่รู้ ก็รู้ไว้ วันใดที่ครูหายไป แล้วจะรู้สึก...

ย้อนกลับไปมองนโยบายอันเป็นวาระที่ ตรีนุช เทียนทอง ให้เตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 วันที่ 1 มิถุนายนที่จะถึง ทั้งอาคาร สถานที่ ครูและบุคลากร ต้องพร้อม ไม่ว่าสอนออนไลน์-ออฟไลน์ ซึ่งมีหลากหลายทางเลือกเพื่อเตรียมนำมาใช้ช่วงเปิดเทอม...

เรื่องอย่างนี้ขึ้นอยู่กับผู้บริหาร ร.ร. อีกนั่นแหละ ต้องลงมาเป็นตัวช่วย หรือ แค่ไปยืนให้กำลังใจเฉย ๆ ก็น่าจะมีคนปลื้มแล้ว เชื่อดิ...แต่มาขัดใจตรงที่สั่งครูลงไป สื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ทำไมยังย้ำคิดย้ำเตือนให้ครูไปเยี่ยมเด็กที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ถึงที่พักอาศัยอีกล่ะ...ไม่แปลกใจบทเรียนจากโควิด-19 ที่ผ่านมา บ่งบอกถึงผู้บริหารสถานศึกษาส่วนใหญ่ในภาพรวมยังขาดตกบกพร่อง นอกจากไม่ใส่ใจเด็กแล้ว ยังวางตนไม่ยอมสัมผัสรับรู้ถึงวิถีชีวิตชุมชนที่ตั้งแวดล้อมอยู่ด้วย...ไม่ใช่ว่าจะไม่เห็นด้วยในเรื่องครูไปเยี่ยมบ้านเด็ก หนุนเต็มที่เลย ถ้าบ้านเมืองไม่ตกอยู่ภายใต้โรคโควิด-19 ระบาด (โรคห่า) สายพันธุ์ใหม่...

จะว่าไปแล้ว เด็กนักเรียนรุ่นใหม่ที่ผู้ปกครองกำลังพาเข้าไปรายงานตัวถึงโรงเรียน หัวหน้าสถานศึกษาเองนั่นแหละ ควรต้องเดินออกมาจากห้องแอร์ช่วยดูแลต้อนรับ ถามไถ่กันตามธรรมเนียม อยากได้ข้อมูลอะไรวันนั้นก็จัดการเสียให้จบ เพื่อ ให้ครูเจ็บน้อยที่สุด กับการไปเสี่ยงเคาะประตูชาวบ้านให้บอกเล่าถึงปัญหา อาจจะได้เชื้อโควิด-19 ติดแถมตามมาก็ได้...

...ไหน ๆก็ไหนๆ เมื่อพูดถึงเรื่องกิจกรรมเยี่ยมบ้านเด็กของคุณครูแล้ว อดที่จะนึกถึง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ตระเวนช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายเด็กยากจนพิเศษ ขาดแคลนทุนทรัพย์และโอกาส จะไม่ทิ้งขว้างใครไว้ข้างทาง โดยที่ สพฐ.เป็นหน่วยงานสำคัญหนุนเสริมการทำงานในทุกมิติอยู่แล้ว และคนลงพื้นที่เก็บข้อมูลส่งให้ กสศ.ก็คือ ครู อีกนั่นแหละ แม้จะไม่ไหวก็ยังบอกไหวเสมอ...

การมอบทุนเด็กยากจนพิเศษสังกัด ร.ร.ของ สพฐ.ก่อนหน้าโควิด-19 ระบาด กิจกรรมการมอบเงินให้กับผู้ปกครอง นักเรียน ต้องมารับเองที่ ร.ร. ต้องถ่ายรูป ส่งรายงานการรับ...ดังนั้น ข้อมูลพื้นฐานเด็กยากจนพิเศษในสถานศึกษาเหล่านี้ควรมีอยู่แล้วทั้ง สพฐ.และ กสศ. เพื่อพร้อมส่งต่อให้มีการติดตามอย่างเป็นระบบ ย่อมมีประโยชน์หลายประการในอนาคตได้แน่นอน ไม่ต้องมาเริ่มต้นให้ครูสำรวจข้อมูลกันใหม่...ไม่ใช่เรื่องสนุกเลยในช่วงโควิด-19 ระบาดเช่นทุกวันนี้... 

ยิ่งกิจกรรมออฟไลน์ที่ ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ.สั่งการ มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทำหน้าที่ออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมกับสถานการณ์ร่วมกับ ศบค.ระดับจังหวัด เช่น การฝึกทักษะอาชีพ หรือการเรียนรู้เรื่องการออมเงินของเด็กแต่ละคน ในช่วงก่อนถึงวันเปิดเรียนมิถุนายนนั้น คุณครูข้างบ้าน อยากจะโทรหาใครสักคนในทีมที่ปรึกษา รมต.ศธ.ใจจะขาด แต่บ่มีใครให้เบอร์ ล้วนแล้วเป็นเบอร์ต้องห้ามแจกโดยไม่ได้รับอนุญาต สาธุ สาธุ...

นี่ไงที่ต้องการบอก ถ้าเป็นยุคก่อน หากผู้บริหารคิดออกมาลักษณะเช่นนี้ จะถูกมองว่า นั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง สั่งการในห้องแอร์ ชั่วโมงนี้จะออกจากบ้านก็ลำบากเสี่ยงสุด ผู้ปกครองเด็กก็ฝืดเคือง มองไปทางไหนล้วนเป็นทางของฝุ่น งานที่จะให้ทำก็ยากสุด ๆ การดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือตัวอย่าง เกษตรพอเพียงบนพื้นที่เล็ก ๆ...หากกระทรวงศึกษาธิการ จะลองยกตัวอย่างความสำเร็จมาให้เห็นและชวนทดลองทำ ก็น่าจะดีกว่าให้เด็กไปเรียนรู้การออมเงิน โดยที่ไม่มีเงินจริง ๆจะให้ออม...

อีกเรื่องที่เข้าท่า แต่จะเข้าทีหรือไม่ ต้องชมกันเอง น่าจะเป็นกิจกรรมออนไลน์ที่ ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. คุยว่าบนเว็บไซต์ของ ศธ. (MOE LEARNING PLATFORMS) จะมีคลังสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ แขวนไว้ โดยส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนมาจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ของ อรรถพล ตรึกตรอง เขานี่แหละ มีวิทยากรที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ มาร่วมบรรยายให้ความรู้ เข้าทีเข้าท่าหน่อย แต่ก็ไม่รับประกันยอดหวิว เอ้ย...ยอดวิว ผู้เข้าชมจะถล่มทลายเท่ากับติ๊กต๊อก เขาไหม เออก็ไม่แน่นะถ้าโดน...

โปรดทราบแบบพลาดไม่ได้! จาก อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ปรับปฏิทินรับนักเรียนฉบับใหม่รับเปิดเทอม มิ.ย.64 (ว่ากันว่าปรับรอบ 4 แล้วในช่วงสถานการณ์โควิด-19) เลื่อนจากปฏิทินเดิม 2 สัปดาห์...ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เลื่อนการจับสลากและประกาศผลเป็น 15 พ.ค. รายงานตัว-มอบตัว 16 พ.ค. / มัธยมศึกษาปีที่ เลื่อนวันสอบเป็นวันที่ 22 พ.ค.คัดเลือกความสามารถพิเศษวันที่ 19 พ.ค. จับสลาก 24 พ.ค. มอบตัว 29 พ.ค. /ส่วนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เลื่อนวันสอบเป็นวันที่ 23 พ.ค. คัดเลือกความสามารถพิเศษ 19 พ.ค. รายงานและมอบตัวพร้อมกัน 30 พ.ค...ขณะที่ โรงเรียนที่มีลักษณะพิเศษที่จัดสอนสำหรับเด็กพิการ/ผู้ด้อยโอกาส สอบและคัดเลือก วันที่ 15-19 พ.ค. ประกาศผล 23 พ.ค. รายงานตัวและมอบตัวภายใน 29 พ.ค.นี้...และสุดท้ายที่ สพฐ.ปล่อยมิได้ คือ ต้องตามเก็บเด็กที่ยังไม่มีที่เรียน โดยให้ผู้ปกครองยื่นความจำนงภายในวันที่ 25-27 พ.ค. ประกาศผลวันที่ 29 พ.ค. และมอบตัววันที่ 30 พ.ค.2564...แต่จะให้ไปยื่นกันที่ไหน ไปทางไหนยังไง ไม่รู้ เพราะไม่ระบุ หรือจะให้ผู้ปกครองต้องช่วยตัวเอง จูงลูก ๆ ตระเวนหาที่เรียนกันเองแบบไร้จุดหมายท่ามกลางโรคระบาด คงไม่ใช่เรื่องดี แน่ ๆ ก็แค่ สำนึกง่าย ๆ ของ ผอ.ร.ร. ถ้าที่ไหนมีเมตตา ก็อาจได้พึ่งพาอาสา แต่หากที่ไหนมี ผอ.แบบธุระไม่ใช่ ให้ไปตายดาบหน้า ผู้ปกครองเดินน้ำตาไหลโป๊ก ๆ แน่นอน...

ตบท้ายติดตามกิจกรรม ศธ. เรียนรู้เพื่อการสอน สอนเพื่อการเรียนรู้ ยาวเหยียดตั้งแต่วันที่ 12-28 พฤษภาคม 2564 ดำเนินการถ่ายทอดสดผ่านระบบ obec channel, zoom, facebook live, youtube live นำโดย รมว.ศธ. ตรีนุช เทียนทอง เหมาคนเดียว 2 รอบ ท่ามกลางเสียงทักท้วงจากชุมชนการศึกษา ในท่วงทำนอง ผิดพลาด ผิดเวลา ผิดจังหวะ อาจกลายเป็น แดนเซอร์ ม.1 หลงทาง เพราะ รุ่นพี่ ๆ คนดีในรั้วเสมาพาหลงทิศนะสิครับ บ้าย บาย...แล้วมาร่วมเสวนาเรื่องนี้กันต่อแบบยาวๆ ที่ เสวนากับบรรณาธิการ edunewssiam.comสวัสดีครับ

“สิงห์ ราชดำเนิน” 

 

EunewsSiam : หยิกแก้มหยอก   

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)