หยิกแก้มหยอก 9 มิถุนายน 2564

หยิกแก้มหยอก 9 มิถุนายน 2564

สิงห์ ราชดำเนิน

 

 

“หยิกแก้มหยอก” ย่างเข้าสู่วันที่ 9 เดือนมิถุนายน 2564  เว็บไซต์ worldometers รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ยังคงเป็นความน่ากลัวของประชากรทั่วโลก ขณะที่พื้นที่ กทม.คลัสเตอร์ใหม่ยังพุ่ง ยังไง ๆ ฉีดวัคซีนดีกว่าไม่ฉีด ...มาตามนัด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน  ตรวจเยี่ยมครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ไปฉีดวัคซีนโควิด-19 สถานีกลางบางซื่อ อย่างเป็นทางการเป็นวันแรก โดยมี ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และ 2 รมช.ศธ. ต้อนรับ ตั้งเป้าครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกสังกัดฉีดให้ได้วันละ 5,000 คน ก่อนเปิดเรียนที่ 1 วันที่ 14 มิถุนายนนี้...ครูเชียงใหม่ฉีดแล้วกว่า 4 พันคน (เน้อ)...

 

...กับนาทีที่มีเธอ เกศทิพย์ ศุภวานิช โฆษก ศธ. ตีฆ้องเล่างานเอ่ยนามครบ ตั้งแต่ ตรีนุช เทียนทอง ผลักดันขอให้ ครม.เห็นชอบ ให้ครูได้รับการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มแรกๆ เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา ตามด้วย สุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. ผลักดันเรื่องนี้ผ่าน ศปก.ศบค. เพื่อให้ครูได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้น ไม่ใช่แค่ครูในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้มนะ แต่รวมถึงครูทั้งประเทศอีกด้วย...ถ้าไม่บอกก็บ่ฮู้นะเนี่ย กับเรื่อง สุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ.ทำหนังสือถึง ผจว./สา'สุขทุกจังหวัด แถมแนบมติ ครม.วันที่ 25 พ.ค.64ไปด้วย ย้ำว่าหากจังหวัดใดได้รับการจัดสรรวัคซีน ขอให้ฉีดครูเป็นกลุ่มแรกๆ พร้อมประสานศึกษา'จังหวัด ศธจ.และสำนักงานเขตพื้นที่ทางการศึกษา (สพท.) รวบรวมรายชื่อทั้งครูรัฐ เอกชน เสนอให้ผู้ว่าฯแต่ละจังหวัดรับทราบ...โฆษก ศธ.คนใหม่ล่าสุด เธอเก็บทุกเม็ดมาบอกโอ้..ไฟแรงจริง ๆ เพราะเธอ...เคลียร์ทุกอย่างจบครบประเด็น

 

...อ้าว! เหมือนว่าจะเสร็จแล้วกับร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….จากที่เป็นข้อกังวลของครู บุคลากรทางการศึกษา ใน 3 ประเด็น ที่ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียว ได้คืนสิ่งที่ครูคัดค้าน แก้กลับไปใช้คำเรียกตามเดิม คือ ให้วิชาชีพครู เป็นวิชาชีพชั้นสูง, ปรับแก้ใบรับรองการประกอบวิชาชีพครู เป็นใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และปรับแก้หัวหน้าสถานศึกษา เป็นผู้บริหารสถานศึกษา เล่นเอาเสียงชื่นชมกระหึ่มทั้งประเทศ...แต่ไม่ทันข้ามราตรีกาล สมบัติ นพรัก คณบดีวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) ส่งสัญญาณเตือนเหมือนว่าจะสำคัญ อย่าเพิ่งดีใจเกินไป ศึกนี้ยังไม่สะเด็ดน้ำ เพราะยังมีประเด็นในอีกหลายมาตราที่มีปัญหาเชื่อมโยงกับมาตราอื่นรออยู่ข้างหน้า ถ้าไม่กล้าชนก็คงตกในภาวะจำนนไปอีกนาน...ในภาพกว้างที่ซ่อนอยู่ในซอกเล็ก สมบัติ นพรัก เคาะออกมาให้เห็นเบา ๆเป็นน้ำจิ้ม เมื่อแก้เป็นผู้บริหารสถานศึกษาแล้วจะให้มีใบอนุญาตฯหรือไม่ หรือให้ครูมีใบอนุญาตฯแต่คุรุสภาไม่มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานคุณวุฒิ จะเป็นผู้ออกใบเซอร์ได้อย่างไร ฮา....เมื่อชี้โพรงให้กระรอกแล้ว มีรึพวกคุณพลอย คุณพ่วง  คุณประสงค์ออกนาม ที่ไม่ยอมออกแรง จะไม่ออกมายืนถ่ายภาพกลุ่มทำท่าชี้ไปที่กฎหมายการศึกษาฉบับนี้ ยังเอื้อผลประโยชน์ให้ภาคเอกชนทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ในหลายมาตรา แบบนี้ถือเป็นการออกกฎหมายให้เกิดการทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่ ดูท่าจะไม่จบง่ายๆซะแล้ว ...ขณะที่ ธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย  รักษาการประธานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย ( ค.อ.ท.) ยังคลางแคลงใจ ว่า สาระบัญญัติของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังไม่มีมาตราใดที่กล่าวถึงหน่วยงานการศึกษาในระดับจังหวัดและเขตพื้นที่การศึกษาแต่อย่างใด แต่กลับให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าไปจัดการประชุมประธานคณะกรรมการสถานศึกษา แทนที่จะเป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าหน่วยงานการศึกษาในระดับจังหวัดโดยตรงเป็นผู้รับผิดชอบ ก็น่านนะสิ ...

 

...พอมองไปถึง โครงสร้าง ศธ.ใหม่ที่จะเกิด กำลังจะกลายเป็นแผ่นดินไหวในใจเหล่าผู้บริหาร ตามด้วยคำพูดเดิม ๆ ที่มองว่าเป็นโครงสร้างอำนาจที่รวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.มาตรา 106 ให้อำนาจปลัดกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของฝ่ายข้าราชการประจำ แล้วในระดับจังหวัดและเขตพื้นที่การศึกษาจะมีหรือไม่ หรือจะให้ปลัด ศธ.มอบอำนาจการบังคับบัญชาครูให้ผจว. ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจ หมดหวังให้สถานศึกษาได้มีอิสระจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างที่หวัง  จะจริงหรือไม่? ต้องฟัง ตรีนุช เทียนทอง จะปล่อยซิงเกิ้ลไหนออกมาแจง...สุดท้ายแล้ว ในประเด็นเรื่องโครงสร้าง ศธ. ที่องค์กรครูทั่วประเทศยกอ้างว่ามีกว่า 300 องค์กร ฟังดูน่าเกรงขาม จะออกมาร่วมขับเคลื่อนเรียกร้องขอให้บรรดานักการเมืองสายครูรุ่นพี่ในสภาช่วยแก้ไข ในร่าง พ.ร.บ.มาตรา 106, มาตรา 88 และมาตรา 93  ที่เอื้อต่อการกระจายอำนาจ  โดยบั่นส่วนกลางให้เล็กลง และให้อำนาจหน่วยงานการศึกษาในพื้นที่ปฏิบัติให้มากขึ้น โว้วๆ ถ้าทำได้ดังว่า ศธ.ส่วนกลางก็จะกลายเป็นร้านสะดวกซื้อทันที ...

...ลองฟัง พี่ๆ รุ่นใหญ่ ที่คร่ำหวอดในลีลาการต่อสู้ มีความเห็นมาถึงที่ควรรับฟังด้วยความสงบนิ่ง ให้พินิจถึง ศธ.ในอดีตซึ่งเคยมีข้าราชการใส่ชุดดำย่ำเท้าพบผู้นำ ล้วนมุ่งประโยชน์เพื่ออันใดหลังปฏิรูปการศึกษา ผ่านมาแล้วกว่า 20 ปี เห็นแล้วว่ามีคำตอบ ทั้ง ๆที่มีเขตพื้นที่ มีแท่ง 5 แท่ง งบสูงลิ่วกว่านานาชาติ แต่การศึกษาไทยคุณภาพต่ำสุดในอาเซียน ยังไม่เห็น ผอ.เขตพท.คนไหน จะไม่สบายใจให้เห็นบ้างปะไร ...สุดเจ็บไปถึงติ่งมหาสมุทร  เจอหน้าป้าคนเดิม ๆ นั่งขายหนังสือข้างตึก สกศค.มาตั้งแต่ก่อนปฏิรูปการศึกษา ส่งเสียงทักว่า ทำไมเขาไม่เรียกร้องเพื่อเด็กบ้าง ผู้แทนครู องค์กรครูที่ตั้งขึ้นมายุคหลัง ๆ ทำไมถึงผิดเพี้ยน นี่ขนาดเขาอุดหนุน ป้าก็ยังบ่รู้สึกว่ารัก เพราะอยากรู้นักว่าทั้งคุรุสภา สกสค. พังเพราะพวกไหน บักหน้าด้านดีแท้เด้ โอ...คิดไปก็เท่านั้น...

...ถ้าให้ “สิงห์ ราชดำเนิน” คุยถึงเรื่องนี้ มีทั้งยาวและเศร้าเคล้ากันไป...จึงเป็นที่มาของการตั้งข้อสังเกตถึงในกลุ่มขององค์กรครูด้วยกันว่า เหตุใดจึงไม่ได้นำเสนอประเด็นที่ 4 คือ การปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. เพื่อรองรับการกระจายอำนาจ ไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาหรือศธ.พิจารณาแก้ไข ซะตั้งแต่ตอนแรก ๆ จะได้ไม่มาท้วงติงกันภายหลัง หรือใครอาจจะพอใจในระดับพอประมาณแค่นี้ก่อน ...ซึ่งดูเหมือนว่า เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มองต่างมุมว่า ข้อเรียกร้องของกลุ่มคัดค้านไม่พูดถึงคุณภาพการศึกษา ทั้งๆ ที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ เน้นเรื่องคุณภาพผู้เรียนและครู แบบที่ พ.ร.บ.การศึกษาฯ พ.ศ.2542 ไม่เคยพูดถึง ก็จะปรากฎอยู่ใน  มาตรา 8  มาตรา 14  มาตรา 25 มาตรา 27  และ 28 มาตรา 52  วิงวอนขออย่าทำลายหลักการของการออกแบบ พ.ร.บ.ใหม่ตามแนวคิดข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ซึ่งไม่ใช่ร่างของรัฐบาล เลย..เพราะฉะนั้น ตรีนุช หรือครูเหน่ง แห่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อย่ามัวนั่งตั้งรับแบบเดิม คงต้องเร่งระดมสมองเคลียร์ปัญหากฎหมายการศึกษาฉบับนี้ให้ลงตัว เพื่อประโยชน์ของครู ผู้เรียนและบุคลากรทางการศึกษาอย่างแท้จริง สุดท้ายกฎหมายฉบับนี้ต้องตกเป็นเครื่องมือ เอื้อประโยชน์ให้กับเหลือบไรนักการเมืองการศึกษา อย่างที่หลายฝ่ายกังวล.. 

...แน่นอนว่า ที่สุดแล้ว ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ คงยอมงอไม่ยอมหักเมื่อใดปรับเสร็จก็จะเป็นร่าง พ.ร.บ.การศึกษา ฉบับของรัฐบาล และ ฉบับที่สองเป็นของสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.ค.ค.ท.) มีหลักการและรายละเอียดแตกต่างกันไปส่งเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร หากไม่มีอะไรพลิกผันเป็นวิกฤตในรัฐบาลเสียก่อน ไม่นานคงได้เห็นแน่ๆ ...

...หันมาดู ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ในกรอบวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาฯ ในวาระแรกไปแล้ว ในการอภิปรายตลอด 3 วัน 3 คืน ยังไม่จบ ต้องเข้าสู่ขั้น “กรรมาธิการ” อีกรอบ...งบประมาณรายจ่ายปี 2565 ลดลงจากปี 2564 ถึง 1.85 แสนล้านบาท หรือลดลง 5.66% ในจำนวนนี้มีงบ ศธ. ถึง 2.45 หมื่นล้านบาท อยู่ในนั้น นับว่าถูกตัดเยอะมาก ทั้งที่การศึกษาจำเป็นที่ต้องพัฒนาเด็กไทยแข่งขันกับประเทศอื่นได้ในอนาคต...ฟังเสียง ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ยิ้มสู้เสียงยังสดใสแบบใจพร้อม ที่ว่า งบฯที่ถูกตัดเป็นส่วนของบุคลากรทางการศึกษา และงบอุดหนุนรายหัวเด็กนักเรียน ส่วนที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากอัตราการเกิดที่ลดลง ได้งบมาแค่นี้ก็ยังสามารถดูแลการศึกษาได้อย่างทั่วถึง...เมื่อนายว่านำไปแล้วก็ต้องว่าตาม อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ที่ถูกเฉือนไปถึง 3.6 พันล้าน นับมากพอสมควร แต่ก็เข้าใจรัฐบาล ต้องจัดเรียงลำดับความสำคัญของโครงการใหม่ เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ ไม่มีปัญหา...แม้เหตุเกิดที่โน่นหรือที่ไหน ผลคงอยู่ที่ ศธ.

...ว่าแล้ว อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. ก็ตีกลองประชุมผู้บริหารระดับสูง ผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และบุคลากร สพฐ. ครั้งที่ 10/2564  กระทรวงศึกษาธิการ หารือข้อราชการและโครงการต่างๆ ที่ สพฐ.กำลังดำเนินการ ตามด้วยวางยุทธศาสตร์การติดตาม รับฟังประเมินผลการดำเนินงานการเปิดภาคเรียนวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ของทุกโรงเรียน เป็นไปตามมาตรการที่วางไว้หรือไม่...เท่าที่ติดตามงานในช่วงหลัง ๆ เห็นความเป็นระบบ จากการสำรวจติดตาม พบว่า โรงเรียนที่มีความพร้อมสามารถเปิดเรียนมาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน มีกว่า 12,571 โรงทั่วประเทศ แบ่งเป็นจัดการเรียนการสอนแบบ Onsite จำนวน 5,865 แห่ง, Onair 2,377 แห่ง, ondemand 2,187 แห่ง, online 2,926 แห่ง และ onhand 8,603 แห่ง ทุกแห่งจัดได้อย่างเรียบร้อย  ว้าว..ตามด้วย สถานศึกษาที่จะเปิดภาคเรียนช่วงตั้งแต่วันที่ 2-13 มิถุนายน มีจำนวน 171 แห่ง  ส่วนสถานศึกษาที่จะเปิดภาคเรียนในวันที่ 14 มิถุนายน มีจำนวน 15,956 แห่ง ก็มีการกำชับติดตามใกล้ชิด ชนิดให้ประเมินสรุปผลกันเป็นรายวัน  เรียกว่าล้อมคอกระวังและป้องกันกันแบบสุด ๆกันไปเลย ต้องชมทุกคนใน สพฐ.กันแล้วล่ะ  ...

...ปิดท้ายกันแบบใจสั่งมายังประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่องแนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นนั้น ในส่วนโรงเรียนสังกัด สพฐ. อัมพร พินะสา  สั่งสั้น ๆ แต่ค่อนข้างลงลีก ให้คณะกรรมการสถานศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษา เป็นผู้กำหนดในการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม ค่าใช้จ่ายส่วนใดไม่มีความจำเป็นก็ควรหาวิธีลดภาระให้กับผู้ปกครอง ม้วนเดียวจบไม่ต้องรอทดเวลาแจง ...ขณะที่ สุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. ตอกย้ำอีกครั้งถึงแนวปฏิบัติการเก็บเงิน เป็นการประกาศภาพรวมทั้งประเทศ ซึ่งสถานศึกษาและผู้ปกครองจะต้องไปทำข้อตกลงร่วมกัน เช่น ค่ากิจกรรมเรียนว่ายน้ำ เรียนพิเศษเสริม ค่าสิ่งอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ เป็นต้น ดังนั้น ในนามของความห่วงใย ค่ากิจกรรมเหล่านี้หากไม่ได้จัดการเรียนการสอนจริง ก็ต้องคืนค่าธรรมเนียมที่ไม่ได้ทำ คืนให้กับผู้ปกครองเขาไป ย่อมได้ชื่อว่า ดำรงค่าแห่งความเป็นครูผู้ให้ ย่อมต้องมีอยู่ในจิตวิญญาณไม่ว่าเอกชนหรือรัฐ...

 

สิงห์ ราชดำเนิน

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)