“ครูไม่พร้อม” ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กระหึ่มโซเชียล..โยงภาพลักษณ์'ตรีนุช'

 

กระแสโซเชียลเรื่องนี้ มีที่มาเกิดขึ้นนับเนื่องจากช่วงปลายเดือนเมษายน 2564 ภายหลังจากที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูง ศธ. และได้มีมติให้เลื่อนวันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จากวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 มาเป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2564 ในขณะที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กลายพันธุ์รุนแรงและยังกระจายวงกว้างอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ

ต่อมา น.ส.ตรีนุช ได้หารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้แก่ครูและบุคลากรการศึกษา ซึ่งเป็นผู้อยู่ใกล้ชิดกับนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง เพราะหากเปิดเทอมแล้วครูและบุคลากรการศึกษาติดเชื้อโควิด-19 ก็อาจจะกลายเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ที่ส่งผ่านเชื้อไปยังผู้อื่นได้เป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ ขึ้นมา

โดยได้ข้อสรุปเบื้องต้นในขณะนั้นว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่ครูและบุคลากรการศึกษา จะจัดลำดับความสำคัญฉีดให้กับครูและบุคลากรการศึกษาที่อยู่ในจังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดงและมีความเสี่ยงสูงก่อน แต่ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามความสมัครใจของครู โดย ศธ.จะไม่บังคับ

ขณะเดียวกัน น.ส.ตรีนุชได้มอบหมายให้สำนักงานปลัด ศธ., สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำรวจจำนวนครูและบุคลากรในแต่ละจังหวัด

โดยจำแนกตามพื้นที่ที่มีความเสี่ยงตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพื่อรวบรวมข้อมูลนำไปหารือกับ ศบค.ต่อไป 

วันรุ่งขึ้น 29 เมษายน 2564 น.ส.ตรีนุช เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้รับทราบเรื่องที่ ศธ.ให้เลื่อนวันภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 และเห็นด้วยในหลักการตามที่ ศธ.เสนอขอให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดพื้นที่สีแดงเป็น priority หรือลำดับความสำคัญแรกๆ ที่จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขแสดงความเห็นว่า อาจต้องให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณาดูโคตาวัคซีนที่แต่ละจังหวัดได้รับ โดยครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่กรุงเทพฯควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อน เพราะ กทม.เป็นพื้นที่สีแดงจัด

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 น.ส.ตรีนุช นำทีมแถลงข่าว “ศธ.รวมพลังจัดการศึกษาปลอดภัยใต้วิกฤตโควิดระลอกสาม” โดยมีการเปิดเผยถึงผลการสำรวจพบว่า สถานศึกษาส่วนใหญ่จะเน้นการเรียนการสอนที่โรงเรียน หรือ On-site

สำทับด้วย นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. ที่กล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาว่า ขณะนี้ ศธ.กำลังรวบรวมรายชื่อครูทุกอำเภอทุกสังกัด ส่งให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดสรรวัคซีนให้กับครูทั้ง 6 แสนคน คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินสัปดาห์นี้ และพร้อมจะทยอยฉีดได้ทันก่อนเปิดภาคเรียนวันที่ 1 มิถุนายน 2564

ทันทีที่ปรากฏข่าวความชัดเจนเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษามีความเป็นไปได้จริง และพร้อมจะทยอยฉีดได้ก่อนเปิดภาคเรียนวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ประกอบกับ น.ส.ตรีนุชยังเปิดเผยถึงผลการสำรวจสถานศึกษาส่วนใหญ่อยากเปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียน หรือ On-site

พลันก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ “ครูไม่พร้อม” ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กระหึ่มโซเชียล โดยเฉพาะในเฟซบุ๊กกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษากลุ่มต่างๆ โดยมีครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนมากโพสต์แสดงความคิดเห็นไม่พร้อมด้วยเหตุผลต่างๆ นานา

ซึ่งผู้บริหารระดับสูงในหลากหลายหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด ไม่ว่า สพฐ., สอศ., สช. และ กศน. ควรจะต้องรีบขยับสดับตรับฟังด้วยความเอาใจใส่ พร้อมทั้งรีบทำความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับคุณครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ยังมีความรู้สึกไม่พร้อมเหล่านี้

เพราะอย่าลืมว่า น.ส.ตรีนุชได้มีนโยบายเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่แรกว่า “การฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามความสมัครใจของครู ศธ.จะไม่บังคับ”

ขอยกตัวอย่างครูและบุคลากรทางการศึกษาที่โพสต์แสดงความคิดเห็นไม่พร้อมฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเฟซบุ๊กกลุ่มต่างๆ ดังนี้

ครูไทยเราเป็นเบาหวาน ความดัน ภูมิแพ้ เยอะ คุ้มหรือเอาชีวิตไปฉีด , ...วัคซีน ไม่มีคุณภาพ ผลข้างเคียง คือ เป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ คุ้มหรือเงินเยียวยาแค่ 400,000 บาท ต้องออกจากการเป็นครู แค่วัคซีนมีคุณภาพ ก็ไม่เอามาฉีดให้ , โรงเรียนไหนเรียน On-site เริ่มฉีดท่านผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นตัวอย่างก่อนเลยครับ , รมต.ไม่รู้หรือว่าครูส่วนมากเขาไม่ยอมฉีดวัคซีนเพราะอะไร? , วัคซีนแบบนี้ใครกล้าเสี่ยง

อิโรคนี้มันติดได้เฉพาะครูสู่เด็กว่างั้น เด็กกับเด็กไม่ติดต่อกันว่างั้นเหอะ... , พวก รมต.เก็บไว้ฉีดกันเองเหอะ... , ขอยี่ห้อที่มีคุณภาพและปลอดภัย ถ้าไม่ปลอดภัยช่วยประกันจ่ายหนี้แทนด้วยนะคะ ครูหนี้สินเยอะคนละหลายล้าน , ครม.ทุกคน ต้องฉีดชนิดเดียวกันนี้เป็นตัวอย่างก่อน คนเขาจะได้มั่นใจ , ฉีดครูแต่ไม่ฉีดนักเรียน มีค่า = 0.0001% , ม่ายยยยยยยฉีดดดดด

ปิ๊งนั่นปิ๊งนี่...อย่าลืมนะ โดยพฤติกรรมนักเรียนเสี่ยงกว่าครู เพราะนักเรียนอยู่ในกลุ่มหมู่มาก.. , โควิด แพร่หรือติดเชื้อโดยครูเป็นสาเหตุต้นตอพาหะหรือไงครับ ฉีดครูก็โอเค แต่เด็กในโรงเรียน ครอบครัวนักเรียน ระหว่างการเดินทางมาเรียน และอื่นๆ อีกมากมายอันจะเป็นเหตุการแพร่ระบาด อีกสาเหตุที่ชัดเจนที่สุด คือ การรวมตัวของคนหมู่มาก

ตลกล่ะครับ...คิดแบบรอบคอบยังครับรวดเร็วทันใจ...สมกับคำว่า ผดก..ไม่สนผลกระทบที่จะเกิดตามมากับบุคลากรและเด็ก...ผมขอเชิญให้พวกท่านๆ ทั้งหลายฉีดก่อนเลยนะครับสำหรับวัคซีนชิโนแวคนะ..ส่วนผมขอรอ... , กลัวแพ้นี่หละครับครูใครกล้าฉีด

เชื่อว่าทุก ร.ร.อยากสอน on site และครูและนักเรียนก็อยากพบปะกัน โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ (ป.1-3) เป็นวัยที่เด็กเรียนรู้จดจำภาษาได้ดีที่สุด เรื่องการฉีดวัคซีน เชื่อว่าครูร้อยละ 99.99 อยากฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพพร้อมกับประสิทธิภาพ ไร้ผลข้างเคียงที่เสี่ยงต่อชีวิต ท่านรักชีวิตท่าน รักครอบครัวท่าน ครูก็เช่นกันค่ะ

ฉีดวัคซีนไม่มีใครตาย ส่วนตายเพราะโรคส่วนตัว หัวใจล้มเหลว ร่างกายอ่อนแอ ความดัน สรุปไม่มีใครตายเพราะวัคซีน #ความเชื่อมั่นหายไปเกินครึ่ง ขนาดเงิน แสนยังเหนียว , รอเสียเงินฉีดครับ , ขอไฟเซอร์นะคะ , เป็นเรื่องละเอียดอ่อน นะครับให้ครูฉีดวัคซีน ที่มีแต่ข่าวผลกระทบหลังฉีด

ยิ่งคนมีโรคประจำตัวอีก บ้านไกล รพ.อีก เสี่ยงมากกับชีวิต , ฉีดแล้วมันไม่ติดหรือกันอาการหนักเฉยๆ , ผู้ออกนโยบายง่าย แต่ผู้ปฏิบัติยาก สงสารครูผู้สอนครับ ,ถามครูยังว่าพร้อมฉีดไหม , ใช่ค่ะถามครูหรือยังว่า เค้าพร้อมจะฉีดไหม

ครูฉีด แต่นักเรียนไม่ได้ฉีด จะมีค่าอะไร...สุดท้ายหากนักเรียนติดเชื้อก็เป็นตราบาปกับครู ครูรอดนักเรียนไม่รอด หรือว่าโควิดไม่กล้ายุ่งกับนักเรียน , โรงเรียนไหนอยาก Onsite บอกที ไปถามโรงเรียนไหนคะ , กระทรวงจะพร้อมหรือโรงเรียนจะพร้อม ในฐานะแม่ไม่พร้อมให้ลูกออกไปเสี่ยงหรอกค่ะ #Save ปอดลูก #Save ปอดทุกคนในครอบครัว ฯลฯ

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างส่วนน้อยของเสียงสะท้อนจากกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษา กรณีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งต้องการหยิบยกนำเสนอให้ ผู้บริหารระดับสูงใน ศธ. โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ได้รับรู้เท่าทันความรู้สึกของครูและบุคลากรทางการศึกษา ณ ห้วงเวลานี้

เพื่อให้เร่งรีบปรับจูนสร้างความเข้าใจและสร้างแนวร่วม “ศธ.รวมพลังจัดการศึกษาปลอดภัยใต้วิกฤตโควิดระลอกสาม” ได้อย่างบรรลุผล ไปพร้อมๆ กับการสร้างภาพลักษณ์ให้กับ “น.ส.ตรีนุช เทียนทอง” ได้ดูดีขึ้นในสายตาของครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ

เฉพาะอย่างยิ่งในมุมมอง "ความเหมาะสมกับตำแหน่งเจ้ากระทรวงศึกษาธิการ"...!! 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)