'3 รมต.ศธ.' มอบเงินเดือนช่วยเด็กด้อยโอกาส คนการศึกษาข้องใจ "กสศ." ใช้เงิน?

 

 

'3 รมต.ศธ.'มอบเงินเดือนช่วยเด็กด้อยโอกาส

คนวงการศึกษาข้องใจ "กสศ." ใช้เงิน?

เหตุใด? ความต้องการช่วยเหลือไม่ลด

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. มอบเงินเดือน 3 เดือน ให้กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลน และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19)

ทั้งนี้ นางสาวตรีนุช เปิดเผยว่า พวกเรามีความตั้งใจไม่รับเงินเดือนเป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเน้นในด้านการศึกษา จึงได้มอบเงินให้กับ กสศ. สำหรับเป็นหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักเรียนสังกัดโรงเรียนพักนอนในพื้นที่ห่างไกล, กลุ่มนักเรียนกำพร้า และกลุ่มเด็กพิการ ออทิสติก

โดยส่วนตัวให้ความสำคัญกับกลุ่มนักเรียนสังกัดโรงเรียนพักนอนในพื้นที่ห่างไกลที่มีความขาดแคลน จำนวน 14 แห่ง โดยสนับสนุนเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในการดูแลความปลอดภัย เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ เครื่องวัดอุณหภูมิ ฯลฯ ค่าใช้จ่ายในการรับส่งนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลกรณีที่เจ็บป่วย ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงอุปกรณ์และสถานที่ของโรงเรียน ตลอดจนการจัดทำคู่มืออนามัยและการรักษาตัวจากโควิด-19 เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่อีกด้วย

"ทั้งนี้ สัดส่วนการจัดสรรเงินเดือนช่วยเหลือในเบื้องต้น จะพิจารณาตามจำนวนของนักเรียนและระยะทางที่ตั้งของโรงเรียน" รมว.ศธ.กล่าว 

คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า ตนประสงค์ช่วยเหลือกลุ่มนักเรียนกำพร้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 174 คน ตั้งแต่การเข้าดูแล การคุ้มครอง ตลอดจนถึงการฟื้นฟู ซึ่งจะทำงานร่วมกับศูนย์ประสานช่วยเหลือเด็กในภาวะวิกฤต และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รวมถึงสถาบันการศึกษา เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้นักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษา

"โดยจะเน้นให้เข้าถึงนักเรียนที่มีความขาดแคลนอย่างแท้จริง และเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่ขยายเพิ่มขึ้นจากภารกิจดำเนินการเดิมของ กสศ."

ด้าน นางกนกวรรณ กล่าวเสริมว่า สำหรับกลุ่มเด็กพิการ ออทิสติก เป็นกลุ่มที่ตนให้ความช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อมั่นว่าเด็กพิเศษกลุ่มนี้สามารถพัฒนาศักยภาพและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ โดยจะช่วยเหลือกลุ่มเด็กพิการ ออทิสติก ที่มีฐานะยากจน จำนวน 57 คน

"และมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำรวจผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม ทั้งนี้ รูปแบบการช่วยเหลือจะพิจารณาเป็นรายกรณีตามความจำเป็นและเหมาะสม เช่น ทุนการศึกษา"

ขณะที่ นายไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุน กสศ. กล่าวว่า การสนับสนุนของ รมว.ศธ.และ รมช.ศธ. รวม 3 ท่านในครั้งนี้ เป็นการเริ่มต้นที่จะช่วยผลักดันให้เกิด “หลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้กับคนทุกวัย” ตามภารกิจของ กสศ. เพื่อช่วยให้เด็กทุกคนมีโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา

ซึ่ง กสศ.จะเร่งดำเนินการส่งต่อความช่วยเหลือให้แก่นักเรียนแต่ละกลุ่มอย่างเต็มที่ และให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของ 3 รัฐมนตรีหญิงแห่งกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมติดตามและรายงานผลความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง

"หลังจากนี้ กสศ.เล็งขยายการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือทางการศึกษา ไม่จำกัดเพียงส่วนของภาครัฐ แต่จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนสามารถเข้ามาร่วมผลักดันและสานต่อโครงการจากการนำร่องของทั้ง 3 รัฐมนตรีด้วย" รองผู้จัดการกองทุน กสศ. กล่าว

อนึ่ง สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานด้วยว่า ที่ผ่านมามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในแวดวงการศึกษาจำนวนมาก ในทำนองข้องใจสงสัยผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการทำงานช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาสและด้อยโอกาสทางการศึกษา มีความซ้ำซ้อนกันในหลากหลายหน่วยงานเกินไปหรือไม่ จนเกิดช่องว่างทำให้เด็กและเยาวชนจำนวนมากที่ขาดและด้อยโอกาสจริงๆ ไม่ได้รับการช่วยเหลือ 

แหล่งข่าวในแวดวงการศึกษา กล่าวว่า ในส่วนของหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ก็ได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเด็กขาดและด้อยโอกาส อาทิ เงินทุนการศึกษา เงินสนับสนุนชุดนักเรียน หนังสือเรียน และอุปกรณ์การศึกษา เป็นต้น

ในขณะเดียวกันล่าสุด 2-3 ปีมานี้ ยังมีการผลักดันจากบุคคลบางฝ่ายจนสามารถตั้งเป็นกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. ซึ่งมีบรรดาผู้บริหารที่คุ้นหน้าคุ้นตา และได้รับการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนกองทุนปีละหลายพันล้านบาท

"แต่ทำไมประเทศไทยถึงยังคงประสบปัญหาเด็กขาดโอกาสและเด็กด้อยโอกาสอีกเป็นจำนวนมากจากตัวเลขของ กสศ.ที่อ้างถึง อีกทั้งยังมีแนวโน้มความต้องการความช่วยเหลือที่ไม่ได้ลดน้อยลงเลยแต่อย่างใด" 

ยิ่งจากกรณีนายไกรยส รองผู้จัดการกองทุน กสศ.ระบุว่า กสศ.เล็งขยายการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือทางการศึกษาสำหรับเด็กขาดและด้อยโอกาส โดยไม่จำกัดเพียงการสนับสนุนของภาครัฐ แต่จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและภาคประชาชน สามารถเข้ามาร่วมผลักดัน และสานต่อโครงการช่วยเหลือจากการนำร่องของ 3 รัฐมนตรี ศธ.ดังกล่าวด้วย

น่าจะยิ่งสร้างความเคลือบแคลงสงสัยใคร่ได้รับความกระจ่างในระบบการบริหารงานของ กสศ.ว่า มีการบริหารใช้จ่ายเงินกันอย่างไร งบประมาณและเงินสนับสนุนจากแหล่งอื่นๆ ได้นำมาใช้จ่ายเป็นเงินช่วยเหลือทางการศึกษาสำหรับเด็กขาดโอกาสและด้อยโอกาสในสัดส่วนเท่าใด และมีการใช้จ่ายเพื่อให้ทุนวิจัยแก่บุคคลต่างๆ โดยเฉพาะอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไปมากน้อยเพียงใดหรือไม่? อย่างไร?

"จริงๆ แล้วกองทุน กสศ.ควรนำงบฯและเงินที่ได้จากแหล่งต่างๆ มาจัดสรรเพื่อเป็นทุนการศึกษาสำหรับเด็กขาดโอกาสและด้อยโอกาสเท่านั้นหรือไม่? ไม่ควรใช้จ่ายเงินไปในด้านอื่นๆ หรือไม่? ซึ่งเป็นเรื่องสงสัยที่บรรดาผู้บริหารกองทุน กสศ.ควรออกมาแถลงให้เกิดความกระจ่างแก่สังคม โดยเฉพาะคนในแวดวงการศึกษาที่ติดตามการทำงานของ กสศ.มาโดยตลอด" แหล่งข่าวในแวดวงการศึกษาคนเดิม กล่าว

 

 

 (โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)