'ตรีนุช'ร่วมอภิปรายเวทีโลก! ชูจัดการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมคนรุ่นใหม่

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า ตนได้เข้าร่วมประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี ในระหว่างการประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (UNESCO World Conference on Education for Sustainable Development (ESD) ซึ่งองค์การยูเนสโกร่วมกับรัฐบาลสหพันธรัฐเยอรมนีได้จัดประชุมขึ้นในรูปแบบทางไกล ถ่ายทอดสดจาก Berlin Congress Center กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เมื่อเร็วๆ นี้

ตนในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้นำเสนอข้อริเริ่มของประเทศไทยด้านการส่งเสริม ESD ผ่านวิดิทัศน์ โดยได้กล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในฐานะที่เป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ให้บรรลุผลภายในปี พ.ศ.2573 ว่า ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในปัจจุบันและจะเร็วขึ้นไปอีกในอนาคต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทั่วโลกต้องมีพันธกรณีในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม  

"ดิฉันเชิญชวนให้โลกตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาในการเตรียมความพร้อมให้กับคนรุ่นใหม่ ให้มีทักษะที่จำเป็นเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก และประเด็นปัญหาระดับโลกต่างๆ ที่เกิดขึ้น"

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทย ได้มีการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งมีความสอดคล้องกับแนวคิดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

"อีกทั้งในปัจจุบัน ประเทศไทยได้พัฒนากิจกรรมนอกหลักสูตร ซึ่งมุ่งเน้นประเด็นปัญหาระดับโลก อาทิ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ การลดภัยพิบัติ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม การส่งเสริมสมรรถนะของนักเรียนให้มีความรู้ความเข้าใจแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก และค่านิยมต่างๆ ซึ่งเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน" รมว.ศธ.ไทย กล่าว   

อนึ่ง การประชุมระดับโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการประชุมเพื่อสร้างความตระหนักต่อข้อท้าทายของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนบทบาทสำคัญของการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ESD) ในการส่งเสริมให้เกิดการบรรลุเป้าหมาย SDGs โดยเฉพาะในสภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19

และผลักดันการดำเนินการตามกรอบการดำเนินงานด้าน ESD ฉบับใหม่ (The new global framework ESD for 2030 for the period of 2020-2030) รวมถึงแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงาน โดยการให้ข้อตกลงร่วมกันด้านนโยบายการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในรูปแบบแถลงการณ์กรุงเบอร์ลิน (Berlin Declaration) 

การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยรัฐมนตรีศึกษา ผู้ปฏิบัติงานด้านการกำหนดนโยบายการศึกษา และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ผู้แทนหน่วยงานภาคประชาสังคม หน่วยงานภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญ รวมจำนวนกว่า 2,500 คน จากทุกภูมิภาคทั่วโลก 

 

 (โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)