เสียงสะท้อนองค์กรครูถึง "ตรีนุช" ศธ.จะต้องเลื่อนวันเปิดเทอมอีกกี่ครั้ง??

สานิตย์ พลศรี

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ให้ความเห็นเกี่ยวกับคำสั่งเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านข้อเขียนสั้นๆ แต่ได้ใจความชัดเจนสะท้อนไปถึง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ที่เพิ่งสั่งเลื่อนวันเปิดภาคเรียนเป็นครั้งที่สองจากวันที่ 17 พฤษภาคม เป็นวันที่ 1 มิถุนายน และเลื่อนอีกรอบล่าสุดเป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564

"ควันหลงคำสั่งเปิดภาคเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ พอผมออกมาพูดต่างได้รับการขานรับจากครูและผู้ปกครองนักเรียนทั่วประเทศ อันตรายจริงๆ ขนาดคนนอกคุกไม่มีสิทธิ์เข้าไปในคุกโดยเด็ดขาด แต่ทำไมนักโทษจึงติดโควิด-19 จนค่อนคุก แล้วโรงเรียนที่มีอยู่เกือบทุกหมู่บ้าน จะเหลืออะไร

หากไม่มีมาตรการควบคุมอย่างเป็นระบบแล้ว กระทรวงศึกษาธิการจะต้องเลื่อนวันเปิดภาคเรียนไปอีกกี่ครั้ง ถ้าเป็นผม ผมมีทางออกอยู่ในสมองของผมมานานแล้ว ขอแสดงความคิดเห็นเผื่อมีใครคิดเอาไปใช้ จะได้เป็นอานิสงส์กับนักเรียน ครู ผู้ปกครองกันบ้าง 

ผมคิดไว้ดังนี้ครับ 1.ใช้การบริหารแบบมีส่วนร่วม กระจายอำนาจไปยังชุมชน สถานศึกษา ครู ให้มีอำนาจในการตัดสินใจว่า มีความพร้อมที่จะเปิดภาคเรียนตอนใหน เวลาใด?

2.สภาพภูมิศาสตร์ของประเทศไทยมีความแตกต่างกัน บางแห่งเป็นหมู่บ้านบนเขา ห่างไกลความเจริญ คนไม่พลุกพล่าน ความพร้อมเปิดเรียนโดยทั่วไปอาจทำได้ตลอด ควบคุมคนเข้า-ออกในหมู่บ้านได้ ปัญหาและอุปสรรคมีน้อยหรือไม่มี มอบให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้บริหารโรงเรียน ครูและชุมชนร่วมกันได้ทันที

3.บางแห่ง บางพื้นที่ อาจสลับเวลาเรียน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันได้ เช่น วันเว้นวัน ไปเรียนหยุดเรียนสลับกันไป เพื่อลดความแออัดลง 4.จัดสรรเงินเพื่อใช้ในการฉีด ฆ่าเชื้อโควิด-19 ในสถานศึกษาตามหลักการแพทย์ เพื่อหยุดเชื้อระบาดทันที

5.ทำการฉีดวัคซีนป้องกันการระบาดของโควิด-19 ให้กับครูและนักเรียนทุกคนก่อนเปิดภาคเรียน ถ้ายังไม่ฉีด ห้ามเปิดเรียนโดยเด็ดขาด

และ 6.โรงเรียนในชุมชนเมือง หากพบการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในบริเวณโดยรอบ หรือเมื่อเห็นว่ามีความเสี่ยงสูง ให้อยู่ในดุลยพินิจของโรงเรียนและชุมชน สามารถตัดสินใจหรือมีอำนาจจัดการได้ทันที 

การบริหารจัดการการศึกษา การพัฒนาคน การกระจายอำนาจ การบริหารแบบมีส่วนร่วม ต้องต่อเนื่อง การบริหารและสั่งการในห้องแอร์แบบคนไม่รู้เรื่องและไม่เข้าใจบริบทของงาน จะไม่ประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง 

ลองนำไปทบทวนดู อาจจะมีประโยชน์อยู่บ้างไม่มากก็น้อย การสั่งเลื่อนเปิดภาคเรียนต้องเตรียมหาคำตอบว่า หากโควิด-19 ยังระบาดอย่างต่อเนื่องแบบทวีความรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ ท่าน รมว.ศธ.ยังจะสั่งเลื่อนเปิดภาคเรียนตลอดไปหรืออย่างไรครับ" 

ด้วยความห่วงใยเรื่องการจัดการศึกษาของชาติ ขอบคุณมากครับ

นายสานิตย์ พลศรี

นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ

18 พฤษภาคม 2564

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)