กางแนวปฏิบัติสถานศึกษาเปิดเทอม’64 ใช้ On ไหน! Site-Air-line-Hand-Demand

สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com นำเสนอข้อมูลแนวปฏิบัติการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ของสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ปกครองและนักเรียน นักศึกษา ได้รับทราบที่มาที่ไปว่า เหตุใดสถานศึกษานั้นๆ จึงจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ On Site หรือ On Air หรือ Online หรือ On Hand หรือ On Demand หรือเป็นแบบผสมผสาน

เริ่มจากนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 เรื่องการเลื่อนเวลาเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ของ ศธ.

โดยมีสาระสำคัญระบุว่า “ตามที่ผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.ได้ร่วมประชุมหารือเรื่องการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เนื่องจากสถานการณ์โดยรวมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อาจจะมีความรุนแรงมากขึ้น และจะกระทบต่อการจัดการเรียนการสอน จึงมีมติให้เลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จากวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2564 นั้น

แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ทั่วประเทศมีความรุนแรงอยู่ในหลายพื้นที่ ซึ่ง ศธ.มีความห่วงใยความปลอดภัยทางสุขภาพและระวังป้องกันนักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนและสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของ ศธ.ไม่ต้องเสี่ยงกับการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประกอบกับศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้เห็นชอบการเลื่อนเวลาเปิดภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2564 แล้ว

รมว.ศธ.จึงประกาศกำหนดแนวปฏิบัติการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ดังนี้

ข้อ 1.ให้โรงเรียนและสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของ ศธ.เลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564

ข้อ 2.โรงเรียนหรือสถานศึกษาแห่งใดมีความพร้อมและประสงค์จะเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ก่อนวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาแห่งนั้น ดำเนินการดังนี้

(1)โรงเรียนหรือสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ให้จัดการเรียนการสอนเฉพาะรูปแบบการจัดการศึกษาทางไกล (On Air , Online , On Demand , On Hand ผ่านทางไปรษณีย์) เท่านั้น

(2)โรงเรียนหรือสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) หรือพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) สามารถจัดการเรียนการสอนได้ทั้ง 5 รูปแบบ (On Site , On Air , Online , On Hand , On Demand) โดยรูปแบบ On Site นั้น โรงเรียนหรือสถานศึกษาต้องผ่านเกณฑ์การประเมินความพร้อมของระบบ Thai Stop Covid + (TSC+) และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน

ทั้งนี้ โรงเรียนและสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของ ศธ.ต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขโดยเคร่งครัด”

นอกจากนี้ ในส่วนของสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้นำทีมประชุมทางไกลมอบนโยบายการเตรียมการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 และการดำเนินการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อเร็วๆ นี้  

โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการทุกสำนัก ร่วมประชุมทางไกลผ่านระบบ Video Conference ถ่ายทอดสดจากห้องปฏิบัติการ DOC อาคาร สพฐ.5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ

ดร.อัมพร เริ่มต้นด้วยการกำชับให้เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในสังกัดได้ปฏิบัติตามมาตรการของ ศบค.เป็นที่ตั้ง โดยเมื่อวันที่ 18 พ.ค.2564 ศบค.ได้แบ่งพื้นที่ควบคุมออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1) พื้นที่สีแดงเข้ม เป็นส่วนที่มีการแพร่ระบาดสูงสุด ประกอบด้วย 4 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ

2) พื้นที่สีแดง หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด ประกอบด้วย 17 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครศรีธรรมราช นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ยะลา ระนอง ระยอง ราชบุรี สมุทรสาคร สงขลา และสุราษฎร์ธานี

และ 3) พื้นที่สีส้มหรือพื้นที่ควบคุม อีก 56 จังหวัดที่เหลือ

โดย ศบค.ได้ผ่อนคลายมาตรการการใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน และกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมากตามระดับสถานการณ์ของพื้นที่ โดยพื้นที่สีแดงเข้ม 4 จังหวัด ห้ามใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน และกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมาก

ขณะที่พื้นที่สีแดง 17 จังหวัด ให้ใช้อาคารสถานที่เปิดเรียนได้ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

ส่วนที่เหลือ 56 จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีส้ม ให้เปิดเรียนได้ตามมาตรการของ ศบค.

นายอัมพร กล่าวต่อว่า สำหรับการเปิดภาคเรียน 1/2564 ที่เลื่อนจากวันที่ 1 มิถุนายน ไปเป็นวันที่ 14 มิถุนายนนี้ มีเงื่อนไขให้ปฏิบัติคือ

1) ในพื้นที่สีแดงเข้ม 4 จังหวัด ยังไม่อนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนแบบ On-Site คือไม่อนุญาตให้เด็กมาเรียนที่โรงเรียน รวมถึงการใช้อาคารสถานที่ และห้ามบุคลากรหรือมีการมารวมกลุ่มของคนจำนวนเกินกว่า 20 คน และให้เปิดภาคเรียนในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 เท่านั้น

2) จังหวัดอื่นสามารถเลื่อนการเปิดภาคเรียนไปได้เช่นเดียวกัน หากโรงเรียนใดอยู่ในพื้นที่ 17 จังหวัด หรือ 56 จังหวัด ให้ทำการประเมินตนเองบนพื้นฐานความพร้อม โดยผู้อำนวยการโรงเรียนร่วมกับคณะครู และกรรมการสถานศึกษา หากมีความประสงค์ที่จะเปิดเรียนก่อนวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ให้ทำเรื่องเสนอไปยังคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดนั้นๆ พิจารณา

และหากได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบ โรงเรียนก็สามารถเปิดทำการเรียนการสอนแบบ On-Site คือให้เด็กมาเรียนที่โรงเรียนได้ ซึ่งแม้ว่าจะอนุญาตให้นักเรียนมาโรงเรียนได้ แต่มาตรการในการรักษาความปลอดภัยก็ยังต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม 4 จังหวัด ต้องการเปิดสอนออนไลน์ ซึ่งจะต้องมีครูมาสอนออนไลน์ และมีความจำเป็นต้องใช้อาคารสถานที่ โรงเรียนจะต้องเสนอแผนมาตรการที่ครูสามารถมาสอนได้อย่างปลอดภัย และต้องมาไม่เกิน 20 คน ตามมาตรการที่ ศบค.กำหนด

โดยดำเนินการเสนอมายังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเสนอต่อมาที่ สพฐ. และ สพฐ.จะนำแผนเสนอขอไปยัง ศบค.พิจารณา เมื่อได้รับการพิจารณาอนุญาต โรงเรียนจึงจะสามารถเปิดเรียนออนไลน์ได้

ส่วนโรงเรียนที่ไม่อยู่ใน 4 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม และจะมีการเปิดการเรียนการสอน On-Site หากอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง อาจต้องใช้วิธีการสลับมาเรียน หรือรูปแบบอื่น และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย

นอกจากนั้น หากต้องการเปิดภาคเรียนตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2564 เป็นต้นไป ให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาแห่งนั้น ดำเนินการประเมินความพร้อมตามระบบ Thai Stop COVID Plus (TSC+) ของกระทรวงสาธารณสุข ที่มี 44 ข้อ โดยต้องผ่านทุกข้อ และต้องเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่ออนุญาตให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาแห่งนั้น สามารถจัดการเรียนการสอนได้ก่อนวันที่ 14 มิ.ย.2564

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวปิดท้ายด้วยขั้นตอนเมื่อเลื่อนการเปิดภาคเรียนเป็นวันที่ 14 มิ.ย.2564 แล้ว ในเรื่องของเวลาเรียนทดแทนให้อยู่ในดุลยพินิจของแต่ละโรงเรียนว่า จะชดเชยอย่างไร เพื่อให้ได้เวลาเรียนครบถ้วนตามหลักสูตร ขอให้สถานศึกษาติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพิจารณารูปแบบการจัดการเรียนการสอน โดยยึดหลักความปลอดภัยสูงสุดของเด็ก ครู และผู้ปกครองเป็นที่ตั้ง

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)