‘แกนนำครู’จี้ตรวจสอบการทำงานปลัด ศธ. ท้าสรุป‘มี-ไม่มี’มูลสรรหา ผอ.สกสค.

นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ เปิดเผยเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ว่า ตนได้ทำหนังสือชี้แจงถึง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ประธานที่ปรึกษา น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. 

กรณีที่ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ลงนามในคำสั่ง ที่ สป.๓๙๐/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ แต่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการสรรหาบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (ผอ.สกสค.) จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และหนองคาย ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ลงวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔

 

 

สานิตย์ พลศรี

 

โดยในหนังสือชี้แจงมีรายละเอียดดังนี้ “ในเบื้องต้นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่มีนายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. เป็นประธาน ได้โทรศัพท์ติดต่อมายังตนแล้ว และได้รับแจ้งจากตนว่า ไม่สะดวกเดินทางไปให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการฯได้ คณะกรรมการฯได้รับทราบ และแจ้งให้ตนยืนยันข้อมูลและให้เหตุผล โดยไม่ต้องไปพบคณะกรรมการฯก็ได้

แต่ในเวลาต่อมานายสุภัทร ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน (ตามเอกสารที่ส่งมาพร้อมนี้) ว่า “ได้เชิญตนในฐานะผู้ร้องเรียนไปให้ปากคำ แต่ตนไม่ให้ความร่วมมือ การร้องเรียนจะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน ไม่ใช่การกล่าวอ้างลอยๆ ดังนั้น กำหนดเวลา ๑๕ วัน ให้สอบสวนเสร็จสิ้น ก็คงไม่เป็นไปตามนั้น” และนายสุภัทรยังระบุว่า “ไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงที่จะต้องไปนั่งหาข้อมูลเอง”

 

 

ตนจึงขอนำเรียนชี้แจงในรายละเอียดเรื่องนี้ ดังนี้ ๑.นายสุภัทร ปลัด ศธ.ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานสืบหาข้อเท็จจริง เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการ ศธ.นั้น มีความเหมาะสมแล้ว เพราะมีตำแหน่งเป็นข้าราชการสูงในกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องราวทุกเรื่องในกระทรวงศึกษาธิการ คนเป็นปลัดกระทรวงย่อมรู้ และมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้

เพราะมีทั้งการนำไปอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร, มีข่าวการฟ้องร้องในศาลปกครอง, มีการยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.เอาผิด, มีแผ่นปลิวว่อนในกระทรวงศึกษาธิการและในสำนักงานคณะกรรมการ สกสค., มีหนังสือผู้เข้ารับการสรรหาผู้อำนวยการ สกสค.จังหวัด เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๓ ร้องเรียนถึงรัฐมนตรีว่าการ ศธ. และมีการประท้วงเกิดขึ้นในหลายจังหวัดที่ไม่อาจรับได้จากผลการสรรหา ผอ.สกสค.จังหวัด จำนวน ๖๔ จังหวัด เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๓ ฯลฯ

แต่ถ้านายสุภัทร ปลัด ศธ.ไม่มีข้อมูลในเรื่องเหล่านี้เลย ก็อาจถูกคนใน ศธ.ตั้งข้อสังเกตมองได้ว่า นายสุภัทรอาจขาดวุฒิภาวะกับเรื่องงานบริหารหรือไม่ และถ้านายสุภัทรสืบสวนเรื่องนี้แล้ว หากมีความเห็นว่ามีมูลหรือไม่มี ก็ให้บันทึกถึง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ โดยถ้าสรุปว่าไม่มีมูล ก็เสนอให้ยุติเรื่อง แต่หากมีมูลก็เสนอ น.ส.ตรีนุช เพื่อจะได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนในขั้นตอนต่อไป

 

 

๒.เมื่อตัวแทนของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้โทรศัพท์ถึงตน เพื่อให้เข้าไปให้ข้อมูล ตนได้แจ้งว่าไม่สะดวกเดินทางไปให้ข้อมูล เนื่องจากสถานการณ์โควิค-๑๙ ระบาดอย่างรุนแรง แต่ยินดียืนยันข้อมูลที่ร้องเรียนกล่าวหาให้ และได้ประสานกับฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงชุดนี้แล้ว ซึ่งฝ่ายเลขานุการสืบหาข้อเท็จจริงก็เข้าใจ โดยให้ตนส่งเป็นหนังสือยืนยันข้อร้องเรียนกล่าวหาไปให้ก็ได้ และตนก็ได้รีบดำเนินการส่งไปให้แล้ว

๓.การให้ข่าวต่อสื่อมวลชนของนายสุภัทร ปลัด ศธ.ดังกล่าว ตนขอนำเรียนรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ว่า มีอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะการให้สัมภาษณ์ของนายสุภัทร เริ่มตั้งแต่ระบุว่าคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงกรณีการสรรหาผู้อำนวยการ สกสค.จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และหนองคายนั้น แตกต่างไปจากบันทึกข้อความคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ หรือไม่?

เพราะเนื้อหาในบันทึกข้อความดังกล่าวระบุไว้ชัดเจนว่า ตามที่ตนร้องเรียนกล่าวหาในนามสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ได้ขอให้ตรวจสอบการสรรหาผู้อำนวยการ สกสค.จังหวัดที่ผ่านมา ไม่โปร่งใส ไม่เหมาะสม ซึ่งหมายถึงการสรรหาผู้อำนวยการ สกสค.กรุงเทพมหานคร/จังหวัด ๖๔ จังหวัด เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๖๓

รวมทั้งกรณีการสรรหาผู้อำนวยการ สกสค.ครั้งใหม่ในจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และหนองคาย ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ลงวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้สั่งการไปยังสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ให้ชะลอการสรรหาออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนดแล้ว

 

 

ดังนั้น ในประเด็นนี้เพื่อให้เกิดความกระจ่าง สมควรมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงกรณีการสรรหาผู้อำนวยการ สกสค.ชุดนี้ว่า ได้ดำเนินการไปตามคำสั่งการของรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาหรือไม่ เนื่องจากเป็นเรื่องในความสนใจของสังคมคนแวดวงการศึกษาที่อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์เชิงลบของ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้

อีกทั้งจากข่าวคราวตามบันทึกข้อความสั่งการของรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ดังกล่าว เป็นที่รับรู้ของคนในสังคม โดยเฉพาะในแวดวงของครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งเข้าใจกันว่า เป็นการสืบหาข้อเท็จจริงเงื่อนงำการสรรหาผู้อำนวยการ สกสค.จังหวัด/กรุงเทพมหานคร ๖๔ จังหวัด ด้วย

๔.นอกจากประเด็นเรื่องการสืบข้อเท็จจริงเงื่อนงำการสรรหา ผอ.สกสค.จังหวัดแล้ว คนในแวดวงการศึกษาต่างจับตามองถึงประสิทธิภาพการทำงานของนายสุภัทร ปลัด ศธ. กรณีมีการตั้งข้อสังเกตกันว่า เป็นความล่าช้าหรือไม่ในการคัดเลือกข้าราชการเพื่อให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับต้นในสังกัด ศธ.แทนตำแหน่งที่ว่าง รวม ๑๕ ตำแหน่ง

ซึ่งนายสุภัทรได้ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ สั่งเลื่อนมาตั้งแต่วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๔ ซึ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ. จากนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ มาเป็นนางสาวตรีนุช เทียนทอง

 

จนกระทั่งถึงเวลานี้ได้ล่วงเลยมานานเกือบ 4 เดือนแล้ว แต่ยังไม่ปรากฏข่าวคราวความคืบหน้าแจ้งอย่างเป็นทางการให้ข้าราชการ ศธ.ที่มีรายชื่อมีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกในครั้งนี้ได้รับทราบ จนมีข้าราชการจำนวนหนึ่งร้องเรียนผ่านตนมาด้วยว่า ความล่าช้าในเรื่องนี้ได้ส่งผลกระทบทำให้ข้าราชการที่ใกล้จะเกษียณ และราชการได้รับความเสียหาย เพราะแต่ละตำแหน่งล้วนสำคัญในการขับเคลื่อนงานราชการของ ศธ.

ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ๑ ตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา (กอศ.) ๑ ตำแหน่ง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ก.ค.ศ.) ๑ ตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ๒ ตำแหน่ง, รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ๓ ตำแหน่ง, รองศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ๒, รอง ศธภ.๕, รอง ศธภ.๖, รอง ศธภ.๑๐, รอง ศธภ.๑๓ และ รอง ศธภ.๑๗

ดังนั้น จึงขอนำเรียน น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และนายชัยพฤกษ์ ประธานที่ปรึกษา น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้ทำการตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของนายสุภัทร ปลัด ศธ.ว่า ยังสมควรอยู่ในตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการอีกต่อไปหรือไม่ เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์ของทางราชการ” ในหนังสือชี้แจงของนายสานิตย์ นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ที่ส่งถึง น.ส.ตรีนุช และนายชัยพฤกษ์ ประธานที่ปรึกษา น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ระบุ

 

 

ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์

 

นายสานิตย์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ตนขอเรียกร้องผ่านไปถึง น.ส.ตรีนุช และนายชัยพฤกษ์ ประธานที่ปรึกษาของ น.ส.ตรีนุช ได้ตรวจสอบการทำงานของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงศึกษาธิการ (ศบค.ศธ.) ซึ่งมีนายสุภัทร ปลัด ศธ. เป็นประธานกรรมการบริหารศูนย์ ว่าได้ปฏิบัติภารกิจเป็นไปตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งหรือไม่?

โดยเฉพาะที่ระบุว่า มีหน้าที่เฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ประจำวัน เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนดำเนินงานควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด พร้อมให้ความช่วยเหลือข้าราชการ บุคลากร และนักเรียน นักศึกษาในสังกัดที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดนั้น

ตนขอถามว่า ในสถานการณ์ความรุนแรงการระบาดของโรคโควิด-19 ที่หนักขึ้นทุกวัน มีตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่รายงานต่อวันไม่น้อยกว่า 5 พันคน มีนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาติดโควิด-19 เพิ่มขึ้น เพิ่งมีคลัสเตอร์สถานศึกษาระบาดไปยังชุมชน คนใกล้ชิดนักเรียน นักศึกษาที่ จ.สระแก้ว บ้าน รมว.ตรีนุช จนผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วออกคำสั่งให้สถานศึกษาทุกแห่งงดจัดการเรียนการสอนแบบ on-site

และล่าสุดช่วง 1-2 วันนี้ เกิดคลัสเตอร์ในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ในพื้นที่ จ.ลำปาง มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว จำนวน 36 คน และต้องมีการกักตัวนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง รวมประมาณ 800 คน

แล้วทุกวันนี้ ศบค.ศธ.เคยทำหน้าที่ประเมินสถานการณ์เหล่านี้บ้างหรือไม่? เพื่อที่จะประสานแนะนำหน่วยงานต้นสังกัดสถานศึกษาให้งดจัดการเรียนการอสนแบบ on-site ให้เปลี่ยนไปใช้รูปแบบ Online หรือ On อื่นๆ แทน บ้างหรือไม่?

“ถ้าเด็กนักเรียนในโรงเรียนติดเชื้อโควิดที่โรงเรียนแห่งใดก็ตาม นั่นหมายถึงเชื้อโควิดอาจต้องแพร่กระจายไปยังหมู่บ้าน อย่าเสี่ยงกับการเรียน on-site ถ้าปัญหาเกิดขึ้นจะรุนแรงยิ่งกว่าไฟไหม้โรงงานหรือท่อแก๊สเสียอีก ทางที่ดีต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจะดีกว่า”

นายสานิตย์กล่าวอีกว่า ตนขอถามด้วยว่า ศบค.ศธ.ได้เคยทำหน้าที่อะไรบ้าง? ที่บ่งบอกถึงการให้ความช่วยเหลือข้าราชการ บุคลากร และนักเรียน นักศึกษาในสังกัดที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด และมีแผนอะไรแล้วหรือไม่? ที่จะเตรียมการช่วยเหลือเยียวยาเพื่อนๆ ข้าราชการและบุคลากรในรั้ว ศธ.ที่ติดโควิด-19 และยังไม่มีเตียงรักษา

เพราะทราบมาว่า มีรายงานข้าราชการและบุคลากรในรั้ว ศธ.ติดโควิด-19 ต่อเนื่องกันเป็นระยะๆ ล่าสุดเป็นบุคลากรในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และมีแนวโน้มความเป็นไปได้ในความเสี่ยงว่า จะมีข้าราชการและบุคลากรในรั้ว ศธ.ติดโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก เพราะมีข้าราชการและบุคลากรจำนวนหนึ่งที่มีข้อจำกัดไม่สะดวกในการทำงานแบบ Work From Home หรือทำงานที่บ้านได้

“ดังนั้น ถ้า น.ส.ตรีนุช และนายชัยพฤกษ์ ได้พิจารณาแล้วเห็นข้อเท็จจริงว่า ศบค.ศธ.ยังปฏิบัติงานได้ด้อยประสิทธิภาพจริง ยังทำหน้าที่แค่การรวบรวมและรายงานข้อมูลแก่ผู้บังคับบัญชาจริง ก็ควรจะพิจารณาเปลี่ยนแปลงตัวคณะบริหาร ศบค.ศธ.ชุดใหม่ หาคนที่เก่งจริงเข้ามาทำงาน ยิ่งสถานการณ์วิกฤตของประเทศเช่นนี้ จำเป็นต้องอาศัยคนที่มีความรู้ ความสามารถที่แท้จริง” นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ กล่าว 

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)