นศ.วก.ไชยาผลิตเครื่องล้างไข่เค็มพลังแสงอาทิตย์ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน

นายสราวุฒิ รัตนมณี นักศึกษาชั้นปวส. 2 สาขางานเทคนิคซ่อมตัวถังและสีรถยนต์  วิทยาลัยการอาชีพไชยา(วก.ไชยา) จังหวัดสุราษฏร์ธานี พร้อมทีมคิดค้นเครื่องล้างไข่เค็มดินพอกเล่าถึงแรงบันดาลใจว่า  ไข่เค็มไชยา  เป็นผลิตภัณฑ์ดีเด่นของจังหวัดที่คนโดยทั่วไปรู้จักกันดี ซึ่งก่อนนำไข่เค็มมาแปรรูปหรือประกอบอาหารรับประทานนั้น จะต้องล้างดินที่พอกไข่เค็มออกให้หมดจนกระทั่งเปลือกไข่สะอาดและไม่แตกร้าว  สามารถนำไปต้ม  นึ่ง  หรือปรุงอาหารได้ตามต้องการ  จึงศึกษาขั้นตอนการล้างไข่เค็มแบบเดิมของร้านผลิตไข่เค็มในจังหวัดสุราษฎร์ฯพบว่า การล้างดินพอกไข่เค็มออกและทำความสะอาดเปลือกไข่ให้มีสีขาวสะอาด เพื่อนำมาต้ม จำหน่ายวันละประมาณ  2,000 ฟอง โดยจากการทดลองล้างไข่เค็มจำนวน 300 ฟอง      ใช้คนงาน จำนวน 1 คน  ต้องใช้น้ำ ประมาณ 90 ลิตร  ใช้เวลาล้างไข่เค็ม 1 ชั่วโมง 20 นาที     พบว่าแต่ละวันจะมีไข่แตกร้าวเนื่องจากขั้นตอนการล้างโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5  และพบว่าน้ำที่นำมาล้างไข่เค็มเกิดการสูญเปล่าในกระบวนการล้างจำนวนมาก  จากปัญหาดังกล่าว  ตนและเพื่อน ๆ จึงมีแนวคิดที่จะสร้างเครื่องล้างไข่เค็มระบบรีไซเคิลน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีครูสัจกร ทองมีเพชร ครูสาขาวิชาเทคนิคเครื่องกล เป็นครูที่ปรึกษา

“เครื่องล้างไข่เค็มระบบรีไซเคิลน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นเครื่องล้างไข่เค็มชนิดแบบใช้ดินพอกไข่ที่เป็นระบบน้ำไหลผ่านล้างทำความสะอาดไข่เค็มแล้วไหลวนภายในถังล้างอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ลดปริมาณการใช้น้ำและลดเวลาในการล้างไข่เค็ม ซึ่งเครื่องล้างไข่เค็มประกอบด้วย 4 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ส่วนที่  1  อุปกรณ์ล้างดินพอกไข่เค็ม  สำหรับล้างดินพอกออกจากไข่เค็ม  สามารถล้างได้ครั้งละ  30  ฟอง  ใช้เวลาล้าง  30  วินาที  ทำงานโดยใช้มือหมุน  หรือมอเตอร์ไฟฟ้า  ขนาด 12 โวลต์  เป็นตัวขับเคลื่อนแปรงล้างไข่เค็ม มีอุปกรณ์ควบคุมการเปิดปิดมอเตอร์แบบกดปุ่ม  มีสวิตซ์ไฟฉุกเฉิน (Safety Switch) และอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้ารั่วลงดิน ส่วนที่  2  อุปกรณ์บำบัดน้ำเสีย  ตัวเครื่องสามารถบรรจุน้ำสำหรับล้างไข่เค็ม  40  ลิตร สามารถนำน้ำที่ใช้ล้างดินพอกไข่เค็มแล้วกลับมาใช้ใหม่ ด้วยอุปกรณ์คัดแยกตะกอนหยาบโดยวิธีตกตะกอนซึ่งสามารถระบายตะกอนทิ้งได้  และใยโพลีเอสเตอร์สำหรับกรองน้ำมีระบบไหลเวียนของน้ำโดยใช้ปั้มน้ำไฟฟ้า 220 โวลต์สามารถล้างไข่เค็มได้ จำนวน 2,000 ฟองต่อการเปลี่ยนน้ำหนึ่งครั้ง  ส่วนที่  3  อุปกรณ์ล้างไข่เค็มขั้นสุดท้ายเป็นถาดบรรจุน้ำสำหรับล้างไข่เค็มครั้งสุดท้ายก่อนนำไข่เค็มวางใส่ถาดเก็บไข่ และส่วนที่ 4 แผงควบคุมการทำงานของเครื่องล้างไข่เค็ม มีจำนวน 2 ชุด ซึ่งชุดที่ 1 ควบคุมการทำงานของมอเตอร์ปั้มน้ำ และชุดที่ 2 ควบคุมการทำงานของมอเตอร์ขับชุดแปรงล้างทำความสะอาดไข่เค็ม  ซึ่งเป็นชุดแผงควบคุมการทำงานของมอเตอร์ และระยะเวลาในการล้างทำความสะอาดไข่เค็มโดยชุดแผงควบคุมซึ่งประกอบด้วย หม้อแปลงไฟฟ้าจากกระแสสลับแรงเคลื่อน 220 V เป็นไฟฟ้ากระแสตรงแรงเคลื่อน 12 V พร้อมสวิตช์และหลอดไฟแสดงสถานะ การทำงาน และสายกราวด์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในขณะใช้งาน และมีไทม์เมอร์รีเลย์ใช้ในการปรับตั้ง และควบคุมระยะเวลาในการทำงานของมอเตอร์ขับชุดแปรงล้างทำความสะอาดไข่เค็ม”

นายสราวุฒิ เล่าต่อไปอีกว่า เครื่องล้างไข่เค็มระบบรีไซเคิลน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยประหยัดต้นทุนทั้งเรื่องของเวลา โดยไข่เค็ม 300 ฟอง ใช้เวลาในการล้างดินพอก เพียง 5 นาที  และประหยัดน้ำได้กว่า 10 เท่าจากเดิมที่ล้างด้วยแรงงานคน โดยสามารถล้างไข่เค็มได้ จำนวน 2,000 ฟองต่อการใช้น้ำ 40 ลิตร ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม  เกิดประสิทธิภาพโดยไข่ไม่เกิดความเสียหายหรือแตกร้าวระหว่างการล้างไข่เค็ม และสะอาด ถูกสุขลักษณะ ช่วยรักษาสุขภาพร่างกายจากการต้องใช้มือจุ่มน้ำนานๆในการล้างไข่ และที่สำคัญ เครื่องล้างไข่เค็มระบบรีไซเคิลน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถเลือกใช้ได้ทั้งระบบไฟฟ้ากระแสตรงจากพลังงานแสงอาทิตย์  หรือ ระบบไฟฟ้ากระแสสลับจากไฟบ้าน หรือใช้มือหมุน ในกรณีไม่ใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ หากสนใจติดต่อวิทยาลัยการอาชีพไชยา ฝ่ายแผนงานและความร่วมมือ งานวิจัยพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ ครูสัจกร ทองมีเพชร Line ID /โทร. 090-685-5252

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)