ตัดงบฯลงทุน สพฐ. 1.5 พัน ล. 'ร.ร.ดีสี่มุมเมือง-คุณภาพชุมชน'ถูกหั่นตามคาด

รองศาสตราจารย์ ดร.สุรวาท ทองบุ ส.ส.พรรคก้าวไกล ระบบบัญชีรายชื่อ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ด้านการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้พิจารณาต่อเนื่องร่างงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในส่วนของงบฯค่าดำเนินงาน 12,001.3 ล้านบาท และงบฯลงทุน 13,171.5 ล้านบาท

โดยสรุปคณะอนุกรรมาธิการฯมีมติไม่ปรับลดงบฯค่าดำเนินงาน 12,001.3 ล้านบาท ให้คงเดิม ส่วนงบฯลงทุน 13,171.5 ล้านบาทนั้น คณะอนุกรรมาธิการฯมีมติให้ปรับลดลงจำนวน 1,555 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้างของโรงเรียนคุณภาพของชุมชน และโรงเรียนดีสี่มุมเมือง

ทั้งนี้ ตนได้ให้ข้อเสนอแนะ 1.ยืนยันหลักการให้ตัดครุภัณฑ์ สิ่งก่อสร้างที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน ให้คงค่าซ่อมแซมอาคารและครุภัณฑ์ที่จำเป็นในการเรียนปัจจุบันโดยเฉพาะออนไลน์ และ 2.ในปีต่อไปควรตั้งงบฯพัฒนาคุณภาพโรงเรียนไปพร้อมๆ กับการดูแลโรงเรียนขนาดเล็ก

และ 3.ปีนี้ให้นำงบประมาณค่าดำเนินงานที่คงเหลือไว้เพื่อเป็นงบฯพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนโครงการต่าง ๆ 2,340.96 ล้านบาท (ดูเอกสาร) ไปเพิ่มเป็นรายการค่าจ้างครู ธุรการ ภารโรง และบุคลากรอื่นๆ ทุกตำแหน่งให้เพียงพอต่อเนื่องตรงเวลา โดยเฉพาะนำงบฯไปจ้างคืนอัตราธุรการ ภารโรงที่ลาออกหรือเกษียณฯ จ้างให้มีครบทุกโรงเรียน โดยเฉพาะต้องจ้างครูทดแทนครูที่เกษียณฯปี 2562 และ 2563 ที่กำลังสอบบรรจุและรอการคืนอัตราอยู่ไปพลางก่อนด้วย

นอกจากนี้ ตนได้เสนอเป็นหลักการในที่ประชุมพิจารณาร่างงบประมาณ สพฐ.เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 ด้วยว่า ต้องการให้ สพฐ.ตั้งงบฯดูแลเด็กเรียนออนไลน์ จ้างครูและบุคลากรให้ต่อเนื่องทุกตำแหน่ง รวมทั้งค่าเดินทางของนักเรียนไปเรียนในโรงเรียนควบรวม ตลอดจนงบฯดูแลโรงเรียนที่จำเป็นต้องซ่อมแซมหรือรื้อแล้วสร้างใหม่

โดยงบฯสนับสนุนการเรียนออนไลน์ ได้แก่ 1) โครงสร้าง/เครือข่าย/สัญญาณอินเทอร์เน็ต ไฟฟ้า ฯลฯ 2) อุปกรณ์ ครุภัณฑ์ ที่จำเป็น 3) บทเรียน/แอพลิเคชัน/แพลตฟอร์ม ฯลฯ 4) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ใช้สอย ตอบแทนและวัสดุ รวมถึงค่าพาหนะเดินทางอื่นๆ ค่าจ้างครู บุคลากร โดยต้องตั้งงบฯให้กระจายทุกโรงเรียนทั่วประเทศ 29,542 แห่ง

ไม่ใช่ตั้งงบฯกระจุกไว้แต่เพียง 349 โรงเรียน คือโรงเรียนคุณภาพของชุมชน 183 แห่ง โรงเรียนดีสี่มุมเมือง 77 แห่ง และโรงเรียน Stand Alone 89 แห่ง เท่านั้น

ดังนั้น ตนจึงเสนอเป็นหลักการให้ตัดงบฯโรงเรียนทั้ง 3 ประเภทเหล่านี้ออก หรือให้ปรับลดลง โดยให้ไปเสนอแปรญัตติงบฯเพิ่มมาใหม่, ตัดงบฯสร้างอาคารใหม่(เพิ่ม) โดยคงงบผูกพันจากปีที่แล้ว (สร้างต่อให้เสร็จ)

ตัดงบฯครุภัณฑ์ที่ยังไม่จำเป็นเร่งด่วน และไม่มีโอกาสใช้ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี พ.ศ.2565 นี้, ตัดงบฯอบรม รายงาน ประกวด แข่งขัน ประเมิน จัดแสดง งบรับรอง พิธีการ ค่าที่ปรึกษา ประชุมต่างประเทศ เป็นต้น

"ส่วนการจัดหาวัคซีนคุณภาพป้องกันโควิด-19 ให้ใช้เงินกู้ หากไม่พอจึงใช้งบฯที่ตัดนี้  โดยให้เร่งฉีดให้เร็วทั้งครูและนักเรียน"

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)