สอศ.ร่วมสถาบันขงจื่อ มข. เปิดศูนย์อบรมครูภาษาจีนท้องถิ่น

วันนี้ (3 ส.ค. 64) ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(เลขาธิการกอศ.) ร่วมเป็นเกียรติ และกล่าวในพิธีเปิดศูนย์อบรมครูภาษาจีนท้องถิ่น สถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผ่านระบบออนไลน์โดย เปิดเผยว่า ศูนย์อบรมครูภาษาจีนท้องถิ่น       มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนทักษะและเทคนิคการสอนภาษาจีน ตลอดจนสามารถนำเทคโนโลยีในปัจจุบันมาผนวกและสร้างเป็นสื่อนวัตกรรม หรือสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนภาษาจีน และเปิดโอกาสให้ครูไทยสอนภาษาจีน ได้เรียนรู้การพัฒนาเทคนิคและวิธีการสอนจากวิทยากรเจ้าของภาษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการสอนภาษาจีนโดยตรง และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้แก่เยาวชนของประเทศ พัฒนาเด็กไทยให้มีศักยภาพ และเป็นกำลังสำคัญของประเทศไทยในการแข่งขันระดับอาเซียน และระดับนานาชาติต่อไป

         

        เลขาธิการกอศ.กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ได้ทำความร่วมมือกับ สถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2559 โดยได้จัดโครงการฝึกอบรมต่าง ๆ เช่น โครงการฝึกอบรมภาษาจีนสำหรับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เพื่ออบรมภาษาจีนให้แก่นักเรียน นักศึกษา และผลักดันนักเรียน นักศึกษาให้มีโอกาสได้ศึกษาด้านเทคโนโลยีการรถไฟ ซึ่งมีนักเรียน นักศึกษากว่า 200 คน ที่ได้เข้าร่วมโครงการ และมีโอกาสเดินทางไปศึกษาภาษา วัฒนธรรมจีน และเทคโนโลยี ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน และโครงการฝึกอบรมพัฒนาภาษาจีน ให้แก่ครู และบุคลากรในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา การอาชีวศึกษาให้ได้มาตรฐานสากลเทียบเท่ากับนานาประเทศ 

 ด้าน รศ.ดร เกิ่ง จวิน ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ฝ่ายจีน) กล่าวว่า สถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดําเนินการด้านการเรียนการสอนมาเป็นระยะเวลากว่า 15 ปี ได้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง พัฒนาและปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพ โดยได้นำประสบการณ์ด้านการจัดอบรมครูภาษาจีนท้องถิ่น มาเป็นจุดเด่น ทั้งยังมีประสบการณ์ทั้งในด้านการเรียนการสอนและการพัฒนาหลักสูตร ภาษาจีน

ศูนย์ปฏิบัติการและฝึกอบรมครูภาษาจีนในท้องถิ่น เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับ ผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ จัดทำฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญด้านการฝึกอบรมครูภาษาจีน สำรวจความต้องการด้านหลักสูตรและมุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของครูสอนภาษาจีนในท้องถิ่น พัฒนาหลักสูตรอบรมให้มีคุณภาพสูง มีหลักสูตรที่หลากหลายและสอดคล้องกับความต้องการในแต่ละระดับและภูมิภาค พร้อมทั้งคำนึงถึง ความต้องการในการฝึกอบรม เนื้อหาในการอบรม วิธีการฝึกอบรมและผลของการอบรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และกระบวนการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง