ครูฯร้องถึง "ตรีนุช" สั่งต้นสังกัดเลิกภารกิจ 'กระทรวงสำรวจ' ในภาวะโควิด-19

 

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานว่า เฟซบุ๊กชื่อ ตรีนุช เทียนทอง ได้โฟสต์ข้อความเนื้อหาเกี่ยวกับการแถลงข่าว ‘#จุดยืนลดภาระทางการศึกษา’ อาทิ

“ดิฉันขอกราบขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงาน โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้นำเสนอการจัดการ ต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ใน 3 ประเด็นนี้ ค่ะ

1 #เยียวยานักเรียน ทุกคนทุกสังกัด 2,000 บาทต่อคน ตอนนี้กระทรวงฯเรามีความพร้อมเป็นอย่างมากที่จะจัดส่งเงินเยียวยาให้ผู้ปกครองภายใน 5-7 วัน หลังจากได้รับการโอนจัดสรรจากกระทรวงการคลัง ซึ่งความพร้อมที่เรามีนี้ ต้องขอขอบคุณเพื่อนครูทั่วประเทศที่ช่วยรวบรวมข้อมูลให้ค่ะ อาจมีความไม่สะดวกบ้าง ดิฉันต้องขออภัยด้วย แต่ยินดีที่พวกเราได้ร่วมกันช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายให้แก่นักเรียนและผู้ปกครองของเรา

2 #อินเตอร์เน็ตฟรี สำหรับการเรียนออนไลน์ การสนับสนุนอินเทอร์เน็ตนี้ ต้องขอขอบคุณกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงาน กสทช. ด้วยนะคะ ที่ร่วมช่วยเหลือนักเรียนและนักศึกษา โดยการช่วยเหลือนี้จะมีระยะเวลาตั้งแต่ 15 ส.ค. ถึง 15 ต.ค. 64 ค่ะ

3 #ลดภาระของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ในสภาวะเช่นนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ปกครองคือความปลอดภัยของนักเรียน ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ดังนั้น กระทรวงฯประเมินแล้วว่า ความรู้บางเรื่องที่ไม่ได้มีความจำเป็นในตอนนี้ เราควรพักไว้ก่อน เพื่อให้นักเรียนไม่ต้องเครียดที่จะต้องเรียนครบชั่วโมงและทำการบ้าน ครูจะได้ไม่ต้องรวบรัดการสอนที่จะให้ครบตามตัวชี้วัด รวมถึงการประเมินใดที่เป็นภาระแก่ครูก็ลดหรืองดไปก่อน

ดิฉันขอบอกอย่างจริงใจกับทุกท่านว่า ความช่วยเหลือของกระทรวงฯจะไม่ได้จบเพียงเท่าที่มีในวันนี้ค่ะ เราจะต้องทบทวนและหาแนวทางช่วยเหลือกับทุกปัญหาทางการศึกษาที่เกิดขึ้น รวมถึงหาแนวทางป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตด้วย ดิฉันต้องขอบคุณเพื่อนครูทุกคนอีกครั้งที่ช่วยกันเติมเต็มความรู้ให้กับเด็กนักเรียนของเราอย่างเต็มที่

#ตรีนุชเทียนทอง”

ปรากฏว่า มีกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้าไปร่วมกดไลค์กว่า 1 พันคน กดแชร์กว่า 1 พันครั้ง และร่วมแสดงความคิดเห็นต่อโพสต์ดังกล่าว จำนวนกว่า 100 คน

เช่น Mr-por…ได้แสดงความเห็นว่า การเรียนออนไลน์มีปัญหามากมายทุกด้านนั้นจริง การวัดคุณภาพของเด็กก็มีปัญหาไม่น้อย ไม่ว่าใครเสนอวิธีการอะไรมา ก็คงแก้ปัญหาได้เฉพาะเด็กบางกลุ่ม แต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้กับเด็กอีกหลายกลุ่ม แถมอาจจะเพิ่มปัญหาอีกด้วยซ้ำ เพราะเด็กแต่ละกลุ่มนั้นก็มีความแตกต่างกันไปตามสภาพของแต่ละบุคคล ให้นักวิชาการ นักบริหารที่มีประสบการณ์ สติปัญญา ดีกรีเก่งขนาดไหน ก็จะไม่สามารถหาวิธีการที่ใช้กับเด็กทุกคนได้

ก็อย่างเช่น ให้เด็กส่งงานแทนการสอบ แล้วเด็กที่ไม่เคยเข้าเรียนเลย ด้วยข้ออ้างต่าง ๆ จะทำอย่างไร ก็คงโยนปัญหาให้ครูติดตามอีกตามเคย สั่งง่ายครับ ใครๆ ก็สั่งได้ แต่การปฏิบัติไม่ง่ายเหมือนสั่ง หรือให้สอบออนไลน์ รู้ได้อย่างไงว่าคนที่ทำข้อสอบคือตัวเด็กจริง หรือไม่ใช่เทคโนโลยีช่วยทำข้อสอบ จะเปิดโปรแกรมให้เด็กทำข้อสอบให้เห็นภาพหน้าชัดเจน สภาพ ปัจจัย สิ่งแวดล้อมเด็กแต่ละคนได้ไหม

หรือจะโยนภาระให้เป็นปัญหากับครูอีกเหรอ ตอนนี้เงิน 2,000 บาท ให้ครูแจกไม่ยาก แต่ขั้นตอนที่ท่านๆ จะกำหนดการเบิกจ่ายในช่วงที่ครูกับเด็กไม่เจอกัน คงไม่ง่ายอย่างที่ท่านๆ จะสั่งนะครับ

แน่นอนว่าคงจะถามผมว่า แล้วจะให้ทำอย่างไร ครูแต่ละคนก็คงหลากหลายความคิด เช่น ให้เด็กที่เรียนออนไลน์ได้เต็มรูป น่าจะมีอยู่ 30-40% เลื่อนชั้น อีกมากกว่าครึ่งซ้ำชั้น ก็คงมีปัญหาดราม่าความเหลื่อมล้ำ มีปัญหาพร้อมร้องให้ครูเป็นจำเลย หรือจะหยุดเรียนทั้งปีก็เป็นแนวคิดดี ก็จะเกิดปัญหาการเสียโอกาสเด็กอีก จะให้เลื่อนชั้นอัตโนมัติก็มีปัญหาด้านคุณภาพผู้เรียน

แต่ทางออกที่เหมาะสมที่สุดจากความคิดผม เปิดเรียนได้เมื่อไรอาจจะเป็น ธ.ค.64-ม.ค.65 ตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล (ก็ขึ้นกับวัคซีนคุณภาพจะมาเร็ว ช้า) เรามาเริ่มนับ 1 ใหม่ โดยเปิดเทอม 1 ปีการศึกษา 64 การเรียนออนไลน์ที่ผ่านมาถือว่าเป็นการเรียนล่วงหน้า หรือเรียนเสริมศักยภาพตนเอง

แล้วให้ ร.ร.ปรับหลักสูตรแบบเฉพาะกาล ปรับชั่วโมงเรียน ตัดวิชาหรือกิจกรรมที่ไม่จำเป็นออก ใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ จาก 2 เทอม ให้จบภายใน 5-6 เดือน แล้วอาจจะขยับเปิดเทอมปี 65 เป็นเดือน ก.ค-ส.ค.65 แล้วค่อยๆ ขยับเปิดเรียนปี 66-67 จนเข้าสู่ภาวะปกติดังที่เคยปฏิบัติมา ก็น่าจะพอที่จะเป็นไปได้ครับ”

ทั้งนี้ ยังมีอีกหลากหลายโพสต์เกี่ยวกับภารกิจการศึกษาบนเฟซบุ๊กชื่อ ตรีนุช เทียนทอง ที่มีครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนมากได้เข้ามาร่วมกดไลค์ กดแชร์ และร่วมแสดงความคิดเห็น 

จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เพื่อสะท้อนความคิดเห็นไปถึง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรียกร้องให้สั่งงดภารกิจการสั่งการของหน่วยงานต้นสังกัดใน ศธ.เกี่ยวกับการสั่งสำรวจข้อมูลต่างๆ ในระดับพื้นที่ จนได้ชื่อเรียกขานใหม่ในขณะนี้ว่า “กระทรวงสำรวจ”

เพื่อเป็นการลดภาระงานให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเสี่ยงอันตรายถึงเสียชีวิต

พร้อมทั้งเรียกร้องให้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการแสดงความคิดเห็นเรื่องทางการศึกษาต่างๆ ที่สะท้อนผ่านเฟซบุ๊กของผู้บริหารระดับสูงใน ศธ.โดยตรง อาทิ ในเฟซบุ๊กของ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ดังกล่าว ที่เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นอยู่ในเวลานี้

 

 (โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)