เตือน‘ตรีนุช’เร่งใช้หลักสูตรสมรรถนะ ระวังเป็นเครื่องมือ‘สำนักพิมพ์’ขายตำรา

 

'องค์กรครู'ส่งหนังสือเตือน! 'ตรีนุช'

เร่งใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ

ระวัง?โดนหลอกเอื้อสำนักพิมพ์ขายตำราใหม่

'ครู-นักวิชาการ' สงสัย ศธ.ไม่ประชาพิจารณ์

 

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานความคืบหน้ากรณีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้ประกาศเรื่อง ศธ.ปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ

เช่น ช่วงชั้นประถมศึกษาตอนต้น ลดเวลาเรียนลงจาก 1,000 ชั่วโมง เหลือ 800 ชั่วโมง, เรียน 7 กลุ่มสาระการเรียนรู้ แทน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้, ปลดล็อกตัวชี้วัดการเรียนรู้ เป็นต้น รวมทั้งเพิ่มสมรรถนะหลักจากเดิม 5 ด้าน เป็น 6 ด้าน ได้แก่ การจัดการตนเองอย่างมีสุขภาวะ, การคิดขั้นสูงและการเรียนรู้, การสื่อสารด้วยภาษา, การจัดการและการทำงานเป็นทีม, การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการยั่งยืน

โดยวางแผนนำหลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ไปใช้ในกรอบเวลา 3 ปี คือ ปีการศึกษา 2565 เริ่มใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ สำหรับระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม, ปีการศึกษา 2566 ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะระดับมัธยมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม และใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะสำหรับระดับประถมศึกษาในทุกโรงเรียน และปีการศึกษา 2567 ใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะในทุกโรงเรียนทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา

รวมทั้งคาดว่าจะจัดให้นำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าวนี้ ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้ประมาณวันที่ 1 กันยายน 2564 และจะทยอยเผยแพร่คู่มือและหลักสูตรที่มีตัวอย่างสถานการณ์และกิจกรรมการเรียนรู้ที่ปรับใช้ในพื้นที่และในรูปแบบการสอนออนไลน์ต่อไปนั้น

ปรากฏว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมามีกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนมากในโลกโซเชียล ต่างสะท้อนความคิดเห็นสอดรับกันในทำนองตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะของ ศธ.ดังกล่าว เป็นการดำเนินการอย่างรวดเร็วมาก จนครูและบุคลากรทางการศึกษาส่วนใหญ่แทบไม่ได้ร่วมเสนอความคิดเห็นในลักษณะของการประชาพิจารณ์แต่อย่างใด

สอดรับกับคำให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ศธ.ของ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุชัดเจนว่า

“สิ่งที่เห็นจากการเปลี่ยนแปลงการใช้หลักสูตรแต่ละครั้ง คือการโจมตีหลักสูตรเดิมว่าไม่ดี ทั้งที่หลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ มีจุดบกพร่องที่ควรจะแก้ไขหลายเรื่อง แต่ ศธ.ไม่เปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็น เพื่อนำมาปรับใช้แต่อย่างใด กลับเชื่อว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ดี 100% ทั้งที่คณะกรรมการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรร่างหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฐานสมรรถนะ ยังแยกแยะไม่ออกด้วยซ้ำระหว่างความรู้ ทักษะ สมรรถนะ และเจตคติ โดยนำทุกอย่างมารวมอยู่ใต้กรอบสมรรถนะทั้งหมด และเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งสมรรถนะเรื่องการคิดขั้นสูงของเด็ก ถูกมองว่าสูงเกินไปหรือไม่ ไกลจากข้อเท็จจริงของมาตรฐานการศึกษาไทยที่จะทำให้เด็กไทยทั่วไปก้าวไปถึงขั้นนั้นได้”

อีกทั้งยังสอดรับกับกระแสข่าวที่ว่า ในช่วงปลายสมัยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ก่อนที่จะพ้นจากเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายณัฏฐพลได้มีการติดตามรับฟังเสียงสะท้อนความคิดเห็นของครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ต่างๆ เกี่ยวกับหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ และว่ากันว่า หลังจากนั้นนายณัฏฐพลได้เรียกประชุมผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. และได้ข้อสรุปในแนวทางให้ยกเลิกการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะออกไปก่อน แต่แนวทางนี้กลับเงียบหายไปพร้อมกับการพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ

กระทั่งนางสาวตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.คนใหม่ ได้ประกาศเรื่องแผนการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าว เมื่อเร็วๆ นี้ ท่ามกลางวิกฤตประเทศ จากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19

สานิตย์ พลศรี

วันเดียวกันนี้ (19 สิงหาคม ๒๕๖๔) นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ได้ทำหนังสือสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ที่ สค.ชย.๐๒3/๒๕๖๔ ส่งถึง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องขอให้พิจารณาทบทวนการประกาศใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าว

ใจความในหนังสือที่ สค.ชย.๐๒3/๒๕๖๔ ระบุว่า "ด้วยสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ได้เฝ้าติดตามการทำงานของนางสาวตรีนุช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาโดยตลอด ตั้งแต่ได้รับตำแหน่งนี้เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่า นางสาวตรีนุชได้รับข้อมูลในการบริหารจัดการในกระทรวงศึกษาธิการจากคณะทำงานที่ผิดหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 16 ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกฟ้องตามมาตรา 157 ฐานละเว้น หรือมีเจตนาส่งเสริมให้บุคคลได้รับผลประโยชน์จากการใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการ

การปรับหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.รีบประกาศใช้เป็นการเร่งด่วน ท่ามกลางวิกฤตของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นางสาวตรีนุช คิดได้อย่างไร

นางสาวตรีนุช ควรทบทวนให้ดีกว่านี้ คนที่เป็นคณะทำงานให้กระทรวงศึกษาธิการและทำเรื่องนี้ ไม่เคยสอนหนังสือเด็ก ไม่เคยเป็นครูในโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทมาก่อน ในขณะเดียวกัน ณ วันนี้ประชาชนคนไทยต่างตั้งคำถามว่า “ทำไมหลักสูตรการศึกษาที่ผ่านมาของกระทรวงศึกษาธิการ จึงไม่พัฒนาเด็กได้สำเร็จ” ภาพรวมของคุณภาพเด็กนักเรียนตกต่ำมาก ถ้าดูจากผลสอบ O-NET, PISA ตกต่ำมาเป็นเวลามากกว่า 20 ปี

แต่ความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรในแต่ละครั้ง ไม่เคยมีข้าราชการ ศธ.ออกมารับผิดชอบที่สร้างความเสียหายให้กับเด็กไทยทั้งประเทศเสียโอกาสที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณภาพ และถ้าสังเกตจะมีความพยายามเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่า ศธ.คนใหม่เกือบทุกครั้ง

จึงมีข้อสงสัยว่า นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ มีความเข้าใจเรื่องเหล่านี้มากน้อยเพียงเท่าใด อาจเป็นเครื่องมือของคนกลุ่มใดหรือไม่ ถึงกล้าตัดสินใจปรับเปลี่ยนเรื่องสำคัญเช่นนี้ ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตของประเทศ

การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรแต่ละครั้ง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ทราบหรือไม่ว่า ต้องใช้เวลาสำหรับการประเมินหลักสูตรใหม่ 3-6 ปี จึงจะรู้ว่าประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลว นางสาวตรีนุชก็ถูกเปลี่ยนตัวจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ไปแล้ว ทิ้งความรับผิดชอบไปแล้ว ไม่ทันเห็นผลงานหรือความล้มเหลวที่ปรากฏ

ดังนั้น นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป พวกเราสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ และสมาคม ชมรมครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ต่างๆ จะร่วมกันทำการบันทึกชื่อนักการเมืองเหล่านี้ไว้ เมื่อสร้างความเสียหาย จะแจ้งให้ประชาชนได้ลงโทษบุคคลเหล่านี้ จะไม่ยอมให้มาทำอะไรก็ได้เหมือนในอดีตอีกต่อไป บ้านเมืองเสียโอกาส เด็กเสียโอกาส พ่อแม่สูญเสียความหวัง ประเทศชาติพัฒนาไม่ได้

จึงขอเรียกร้องให้นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงไปทำประชาพิจารณ์เรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะ ไปสัมผัสกับพี่น้องครู ผู้บริหารโรงเรียน ที่เป็นผู้สอนจริง ตามสภาพจริงในแต่ละพื้นที่ว่า พี่น้องครู ผู้บริหารโรงเรียนจะเห็นด้วยหรือไม่ และจะได้รับทราบว่าทำไมแต่ละหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงไม่ประสบความสำเร็จ จะได้รู้ว่าเกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง

เมื่อรู้ความจริงแล้ว ค่อยกลับมาตัดสินใจใหม่ ก็ยังไม่สายเกินไป เพราะเป็นการตัดสินใจจากข้อมูลจริง ศึกษาให้รู้จริง แล้วจึงค่อยทำด้วยความระมัดระวังให้มากขึ้น เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก ถ้าทำเพียงเพื่อใช้งบประมาณก้อนนี้ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์กับสำนักพิมพ์เอกชนบางแห่ง ที่เฝ้าตั้งตารอรับส่วนบุญขายหนังสือเรียนหลักสูตรใหม่ พวกเราองค์กรครูและบุคลากรทางการศึกษา ก็จะไม่ยอมปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไปเหมือนในอดีตอย่างแน่นอน

เพราะฉะนั้น น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ต้องอย่าให้พวกหาผลประโยชน์มิชอบเหล่านี้ มาหลอกอาศัยการใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการของคนเป็นรัฐมนตรีอีกต่อไป"

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)