โพลครู‘กทม.-ภูธร’ตอกย้ำ!ไร้ส่วนร่วมหลักสูตรสมรรถนะ 'ครู กทม.'ค้าน ศธ.เร่งใช้

 

โพลครู 'กรุงเทพฯ-ภูธร' ตอกย้ำ!

ไม่มีส่วนร่วมหลักสูตรฐานสมรรถนะ

ชมรมครูสังกัด กทม.ร่วมค้าน ศธ.เร่งใช้

สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานความคืบหน้ากรณีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ประกาศเรื่อง ศธ.ได้จัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ และจะจัดนำร่องทดลองใช้ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประมาณวันที่ 1 กันยายน 2564 นี้

ก่อนประกาศใช้จริงตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เริ่มใช้ในระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม, ปีการศึกษา 2566 ใช้ระดับมัธยมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม และใช้สำหรับระดับประถมศึกษาในทุกโรงเรียน และในปีการศึกษา 2567 จะใช้ในทุกโรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนักวิชาการ สมาคม ชมรมครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่าหลักสูตรยังขาดความสมบูรณ์ และชัดเจน ขาดการรับฟังครูและบุคลากรทางการศึกษา

และที่สำคัญเป็นการเพิ่มภาระและความเสี่ยงให้กับครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียนและผู้ปกครองในสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในจำนวน 286 สถานศึกษานำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่อยู่ในจังหวัดสีแดงเข้ม และอยู่ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งมี 6 จังหวัด/ภูมิภาค ได้แก่ กลุ่มสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา จ.ระยอง และกาญจนบุรี

เหลือที่ไม่ใช่จังหวัดสีแดงเข้ม เพียง จ.ศรีสะเกษ เชียงใหม่ และสตูล เท่านั้น

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 นายไกรทอง กล้าแข็ง ประธานชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ กล่าวว่า ทางชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ได้อ่านเสียงสะท้อนไม่เห็นด้วยขององค์กรครูและผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ ด้วยเหตุผลหลายประการ ตามที่มีการนำเสนอข่าวทางสื่อออนไลน์

จึงได้ทำการสอบถามสมาชิกชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ที่มีสมาชิกจำนวนประมาณ 32,000 คน รวมทั้งได้แชร์โพสต์สอบถามไปยังโซเชียลกลุ่มครูที่เป็นเครือข่ายกัน อาทิ กลุ่มเฟซบุ๊กชมรมครูภูธรแห่งประเทศไทย ที่มีสมาชิกประมาณ 119,000 คน สอบถามว่าได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการจัดทำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะของ ศธ.ดังกล่าวในระดับใด

ส่วนใหญ่ระบุว่า มีส่วนร่วมอยู่ในระดับน้อยที่สุด ดังนั้น ทางชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์มีความวิตกกังวลว่า หลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าวจะไม่สัมฤทธิผลเท่าที่ควร เพราะกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นดูเหมือนจะขาดหายไป อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการที่ สพฐ.774/2564 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรฐานสมรรถนะ ไม่ปรากฏรายชื่อของผู้ใช้หลักสูตรโดยตรง เช่น ครูและบุคลากรทางการศึกษาอยู่ร่วมเป็นกรรมการในสัดส่วนที่มากพอ

ชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์เห็นว่า การจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตร นอกจากจะต้องใช้รูปแบบของคณะกรรมการหรือที่เรียกว่ารูปแบบการบริหาร (The administrative model) แล้ว ควรจะผสมผสานรูปแบบคณะกรรมการกับรูปแบบการดำเนินการจากผู้ใช้และผู้เกี่ยวข้อง (The grass-root model) เพื่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตร

ประกอบกับ George A. Beauchamp (1975: 164-168) ได้แสดงให้เห็นถึงการนำหลักสูตรไปใช้ว่า “ควรคำนึงถึงการจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียน โดยมีครูเป็นผู้นำหลักสูตรไปใช้ ซึ่งต้องแปลงหลักสูตรไปสู่การสอน โดยใช้หลักสูตรเป็นหลักในการพัฒนาวิธีการสอน อีกทั้งการนำหลักสูตรไปใช้ให้บรรลุผล ครูควรมีส่วนร่วมในการร่างหลักสูตร ผู้บริหารเห็นความสำคัญ สนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย”

นายไกรทอง ประธานชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ กล่าวต่อว่า จากประเด็นทางวิชาการเมื่อเทียบกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏดังกล่าว ทางชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ เห็นว่า

1) การจะจัดนำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะนั้น ศธ.ควรจะจัดเมื่อสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้มีจำนวนลดลงมากแล้ว หรือควรจะจัดในสถานการณ์ที่มีความเป็นปกติ เพราะสภาพแวดล้อมของโรงเรียนจะเอื้ออำนวยต่อการทดลอง เมื่อนำหลักสูตรไปใช้จริงในสภาพการณ์ที่เป็นปกติ จะสามารถทำให้การใช้หลักสูตรบรรลุเป้าหมายได้ ซึ่งแม้การบรรลุเป้าหมายของหลักสูตรหรือไม่จะมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากก็ตาม แต่ควรจะรัดกุมตั้งแต่เริ่มต้น จึงควรเลื่อนเวลาในการทดลองออกไปก่อน ประการสำคัญเพื่อลดภาระครูในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

2) แม้คำสั่งตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะได้ดำเนินการไปแล้ว แต่หากมีการจัดรับฟังความคิดเห็นไม่ว่าจะในรูปแบบใดที่เปิดเผยได้ ก็จะเกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่เกี่ยวข้องกับหลักสิทธิเสรีภาพและการดำเนินการใด ๆ ที่อาจต้องรับฟัง เพราะมีผลกระทบต่อประชาชน

“การดำเนินการตามสองข้อดังกล่าว จะส่งผลดีต่อกระทรวงศึกษาธิการและเป็นประโยชน์ต่อชาติด้านการปฏิรูปการศึกษาให้ประสบผลสำเร็จ โดยหลักสูตรจะเกิดความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เกิดการสร้างแนวร่วมและแรงจูงใจ จะได้ไม่เป็นที่ตำหนิติติงเหมือนทุกคราวที่ว่า “คนคิดไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้คิด” และในภาพรวมจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อการประกาศใช้หลักสูตร” นายไกรทอง ประธานชมรมครูสังกัดกรุงเทพมหานครออนไลน์ กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)