ค้านที่ปรึกษา รมต.นั่ง ปธ.คัด‘บริหารต้น ศธ.’ จี้‘ตรีนุช’ทบทวน ห่วงธรรมาภิบาลล่ม

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานความคืบหน้าการคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับต้น ในสังกัด กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แทนตำแหน่งว่าง รวม 15 ตำแหน่ง

ประกอบด้วย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) 1 ตำแหน่ง, ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) 1 ตำแหน่ง, ผู้ช่วยปลัด ศธ. 1 ตำแหน่ง, รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) 1 ตำแหน่ง

รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) 2 ตำแหน่ง, รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) 3 ตำแหน่ง, รองศึกษาธิการภาค (ศธภ.) 2, รอง ศธภ.5, รอง ศธภ.6, รองศึ ศธภ.10, รอง ศธภ.13 และ รอง ศธภ.17

กมล รอดคล้าย

โดยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ภายหลัง สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com เผยแพร่ข่าว “หึ่ง ศธ.!เงื่อนงำ? คัดเลือก'บริหารต้น'เงียบสงัด ‘ตรีนุช’เสี่ยงโดน 157 ด้วย” ก็ได้รับความกรุณาชี้แจงจากนายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางกนกวรรณ วิลาวัลย์) ว่า “เรื่องนี้ไม่ได้เงียบครับ เนื่องจาก กก.ชุดเก่าหมดวาระ กำลังเสนอชื่อกรรมการชุดใหม่ไปให้ กพ.รับรอง เมื่อ กพ. รับรองเเล้วก็จะดำเนินการต่อ”

ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาในคอลัมน์คลิกนิกครู โดยครูคำหล้า หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หน้าข่าวการศึกษา ศาสนา สาธารณสุข ที่ตีพิมพ์เนื้อหาว่า “การแต่งตั้งผู้บริหารระดับต้นใน ศธ.ตกอยู่สภาพที่ไม่โปร่งใส ไร้ธรรมาภิบาลอย่างน่าตกใจ ที่แม้ปลัด ศธ. สุภัทร จำปาทอง จะเลื่อนการคัดเลือก ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะโปร่งใสและเป็นธรรมได้อย่างไร ก็เมื่อการัดผู้ริหารใน ศธ.ถูกวางระบบอันฟอนเฟะและวางคนสานต่อไว้อย่างแน่นหนา จนแทบจะหาทางออกไม่ได้หากการเมืองไม่เห็นดีเห็นงามด้วย

แต่ครั้น 'ปลัดสุภัทร' เสนอ อ.ก.พ.กระทรวง ให้คัดเลือกผู้บริหารระดับต้นต่อให้เสร็จ รมว.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ.คนใหม่ และประธาน อ.ก.พ.ก็สร้างความแปลกประหลาดใจให้ทุกคนไม่น้อยเลย ว่าที่ประชุมมีมติเปลี่ยนกรรมการสรรหาใหม่ให้ ไพบูล เสียงก้อง อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด เป็นประธาน วชิรา ตรีกรวิเศษภักดี ก.พ. และ ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ.ร่วมเป็นกรรมการ เพื่อเสนอ ก.พ.พิจารณาเห็นชอบ...”

อย่างไรก็ตาม ประจวบเหมาะกับช่วงค่ำของเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ได้เผยแพร่ข่าว 'กนกวรรณ' ควงที่ปรึกษา รมช.ศธ. 'ไพบูลย์ เสียงก้อง' ลงพื้นที่ฉะเชิงเทรา

โดยเนื้อหาข่าวระบุว่า “เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 moe360.blog กระทรวงศึกษาธิการ ได้รายงานข่าวว่า นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) พร้อมด้วยนายไพบูลย์ เสียงก้อง ที่ปรึกษา รมช.ศธ. (อดีตรองปลัด ศธ. และอดีตตุลาการศาลปกครอง) ลงพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อแนะนำการเตรียมความพร้อมยกระดับการศึกษาสู่โรงเรียนคุณภาพของชุมชน และโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง”

ไพบูลย์ เสียงก้อง

กนกวรรณ วิลาวัลย์

นอกจากนี้ moe360.blog กระทรวงศึกษาธิการ ยังรายงานข่าวเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ด้วยว่า “นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ว่า จากนโยบายของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตรมว.ศึกษาธิการ ในการบูรณาการการศึกษาจังหวัด โดยได้มอบหมายให้ตนเองกำกับดูแลใน 5 จังหวัด (นครนายก, ปราจีนบุรี, ฉะเชิงเทรา, สระแก้ว, บุรีรัมย์) จึงได้เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในวงการศึกษาอย่างยาวนานมาเป็นคณะที่ปรึกษา

ได้แก่ นายกมล รอดคล้าย ช่วยดูแลจังหวัดนครนายก, นายพะโยม ชิณวงศ์ ช่วยดูแลจังหวัดสระแก้ว, นายไพบูลย์ เสียงก้อง ช่วยดูแลจังหวัดฉะเชิงเทรา และนายสมพงษ์ มะใบ ช่วยดูแลจังหวัดปราจีนบุรี”

ทั้งนี้ นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีบทบาทในการเรียกร้อง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ให้เร่งรัดคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้นดังกล่าว เพราะล่าช้ามากว่า 3 เดือนครึ่งแล้ว เกรงจะถูกข้าราชการที่มีรายชื่อเป็นผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกฯ ซึ่งใกล้จะเกษียณฯฟ้องอาญามาตรา 157 เพราะถูกกีดกันและได้รับความเสียหาย กล่าวแสดงความเห็น

กรณีมีข่าวปรากฏในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐดังกล่าวว่า นายไพบูลย์ เสียงก้อง อดีตรองปลัด ศธ. และอดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งปัจจุบันมาเป็นที่ปรึกษา รมช.ศธ.นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ ได้รับการเสนอชื่อจากที่ประชุม อ.ก.พ.ศธ. ซึ่งมี น.ส.ตรีนุช รมว.ศธ.เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ ให้เป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกผู้บริหารระดับต้นชุดใหม่ แทนชุดเดิมที่มีนายกฤตชัย อรุณรัตน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เป็นประธานนั้น

โดยนายสานิตย์ กล่าวว่า โดยหลักการแล้วคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการดำรงตำแหน่งในระดับสูง จะต้องไม่มีความเกี่ยวโยงกับนักการเมือง จะต้องไม่เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการ หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ทั้งสองคน เพราะถึงแม้ภาพลักษณ์ของนายไพบูลย์ เสียงก้อง จะเป็นถึงอดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด แต่การเข้ามาเป็นที่ปรึกษานางกนกวรรณ รมช.ศธ. ก็ย่อมต้องถูกสังคมคนแวดวงการศึกษาตั้งข้อสังเกตเรื่องความเป็นธรรมาภิบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงย่อมไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ น.ส.ตรีนุช รมว.ศธ.คนใหม่ด้วย ที่ประกาศชูการสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นจริงใน ศธ.

“ดังนั้น น.ส.ตรีนุช ในฐานะประธาน อ.ก.พ.ศธ.ควรพิจารณาทบทวนรายชื่อใหม่ ก่อนเสนอคณะกรรมการข้าราชการพเลือน (ก.พ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยต้องเลือกบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจการเมืองและข้าราชการประจำ ทั้งฝ่ายอำนาจใหม่และอำนาจเก่า เพื่อป้องกันเสียงครหา และให้ผลการคัดเลือกออกมาเป็นธรรมาภิบาลโดยไร้ตำหนิ” นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ กล่าว

ธนชน มุทาพร

นายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย (ชร.ผอ.สพท.) และเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) กล่าวว่า โดยข้อเท็จจริงในสภาพการณ์ทางการเมือง แน่นอนว่าจะต้องเลือกบุคคลที่พูดจากันได้ ให้เข้ามาเป็นคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งในระดับสูง เพื่อที่จะได้ข้าราชการผู้ที่มาสนองงานตนเอง

"แต่ก็หนีไม่พ้นที่สังคมคนแวดวงการศึกษาจะวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะหากผลการพิจารณาออกมาแล้ว ข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ มีความอาวุโสไม่ได้รับเลือกเป็นส่วนใหญ่เช่นเดิม ข้าราชการลูกหม้อแต่ละกรม กองยังคงไม่ได้เลื่อนชั้น ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล"

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)