‘ครูใต้’ต้าน!หลักสูตรสมรรถนะ ห่วง‘ตรีนุช-กก.ร่างฯ’เสี่ยงถูกครหาเอื้อ สนพ.?

 

'ครูใต้'ขยับต้าน ศธ.เร่งใช้หลักสูตรสมรรถนะ

ห่วงภาพลักษณ์ 'ตรีนุช-กก.ร่างฯ'

เสี่ยงถูกครหาเอื้อ "สำนักพิมพ์"?

สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานความคืบหน้ากรณีนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศเรื่อง ศธ.ได้จัดทำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ และจะนำร่องทดลองใช้ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประมาณวันที่ 1 กันยายน 2564 ก่อนประกาศใช้จริงตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เริ่มใช้ในระดับประถมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม, ปีการศึกษา 2566 ใช้ระดับมัธยมศึกษา ในโรงเรียนที่มีความพร้อม และใช้สำหรับระดับประถมศึกษาในทุกโรงเรียน และในปีการศึกษา 2567 จะใช้ในทุกโรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนักวิชาการ ครูและบุคลากรทางการศึกษา เนื่องจากเห็นว่าร่างหลักสูตรดังกล่าวนี้ยังขาดความสมบูรณ์ ชัดเจน และขาดการรับฟังจากครูและบุคลากรการศึกษา ซึ่งเป็นผู้รับไปปฏิบัติ และที่สำคัญจะเป็นการเพิ่มภาระและความเสี่ยงติดโควิด-19 ให้กับครู บุคลากรการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง ใน 286 สถานศึกษานำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 6 จังหวัด/ภูมิภาค ได้แก่ กลุ่มสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา จ.ระยอง กาญจนบุรี ศรีสะเกษ เชียงใหม่ และสตูลนั้น

ประทุม เรืองฤทธิ์

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 นายประทุม เรืองฤทธิ์ ประธานสมาพันธ์ครูภาคใต้ ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า สมาพันธ์ครูภาคใต้ขอคัดค้านทาง ศธ.ที่เร่งรีบประกาศจะใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าว และกำลังหารือกันในกลุ่มแกนนำสมาพันธ์ครูภาคใต้เพื่อกำหนดแนวทางการคัดค้านต่อไป รวมถึงการร่วมกับองค์กรครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นๆ ในการขับเคลื่อนการคัดค้านร่วมกันด้วย เช่น สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.)

ทั้งนี้ เบื้องต้นนี้ขอสะท้อนข้อเท็จจริงไปถึง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ว่า แกนนำสมาพันธ์ครูภาคใต้ได้สอบถามทั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ต่างพูดตรงกันว่ายังไม่มีความพร้อมกับการใช้หลักสูตรใหม่นี้ในระยะเวลาอันใกล้

เนื่องจาก 1.ที่ผ่านมายังไม่เคยรับทราบในรายละเอียดของร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ และยังไม่เคยผ่านการอบรมเกี่ยวกับหลักสูตรฐานสมรรถนะ ทั้งที่โดยหลักปฏิบัติทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการเรียนการสอน จะต้องมีการอบรมผู้เกี่ยวข้องในการปฏิบัติ เพื่อสร้างความเข้าใจก่อนที่จะนำหลักสูตรไปทดลองใช้

2.ที่ผ่านมา ศธ.ยังไม่เคยเปิดรับฟังความคิดเห็นของครู และบุคลากรทางการศึกษาฝ่ายต่างๆ ในฐานะผู้เกี่ยวข้องต้องนำหลักสูตรมาปฏิบัติในพื้นที่ ตลอดจนฟังเสียงจากผู้ปกครองนักเรียน เข้าใจว่าร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ร่างกันขึ้นมาคงรับฟังแค่เสียงนักวิชาการในส่วนกลางเท่านั้น แล้วหลักสูตรนี้จะก่อประโยชน์ให้กับนักเรียนได้อย่างไร นอกจากมองได้แค่ว่าเป็นอีกหลักสูตรการเรียนการสอนเด็กไทยที่ตามก้นฝรั่งอีกเช่นเคย และก็คงประสบความล้มเหลวเหมือนเดิม

3.ทุกพื้นที่ของประเทศยังอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศทุกวัน ถึงวันละกว่า 1 หมื่นคน แล้ว ศธ.จะเร่งรีบใช้หลักสูตรนี้ไปเพื่อประโยชน์ใด ในขณะที่ทั้งครู บุคลากรการศึกษา นักเรียน ผู้ปกครอง ตลอดจนครอบครัว ชุมชน ยังมีความเสี่ยงกับโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19

ดังนั้น สมาพันธ์ครูภาคใต้ขอตั้งข้อสังเกตกับ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ว่า เหตุใดต้องเร่งรีบจะใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะให้ได้ เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลานี้เป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปว่า มีสำนักพิมพ์ผลิตและจำหน่ายหนังสือเรียนบางแห่ง เริ่มที่จะจัดอบรมครูเกี่ยวกับหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่ง ศธ.เองก็กำลังจัดทำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ และประกาศจะเริ่มทดลองใช้ในวันที่ 1 กันยายน 2564 นี้

ในนามสมาพันธ์ครูภาคใต้จึงเป็นห่วงภาพลักษณ์ของทั้ง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. และคณะกรรมการจัดทำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะของ ศธ. ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ส่อว่าอาจต้องพลอยถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามเชิงกล่าวหาได้ว่า มีการเอื้อประโยชน์อะไรกันหรือไม่? อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ครหาเช่นนี้ จะต้องไม่เกิดขึ้นจริงในกระทรวงสร้างคน โดยเฉพาะระยะหลัง ศธ.มักถูกจับตาจากสังคม เช่นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดถึงกลุ่มชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเมื่อเร็วๆ นี้ว่า "ฝากกระทรวงศึกษาด้วย เรียนมายังไงใช้แต่ความรุนแรง"

นายประทุม ประธานสมาพันธ์ครูภาคใต้ กล่าวด้วยว่า ศธ.ต้องยอมรับความจริงว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมามีสำนักพิมพ์ผลิตหนังสือเรียนและจำหน่าย ที่อาจมีสายสัมพันธ์สนิทสนมกับข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรการเรียนการสอนในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพราะทุกครั้งที่ ศธ.มีการปรับปรุงหลักสูตร ปรับปรุงตัวชี้วัดใหม่ๆ ก็จะมีสำนักพิมพ์บางแห่งมาโฆษณาเสนอขายหนังสือเรียนที่ได้ปรับปรุงตาม ศธ.อย่างรวดเร็ว โดยรู้รายละเอียดการปรับปรุงดีกว่าและก่อนสถานศึกษาในสังกัด สพฐ.ด้วยซ้ำ

สิรภพ เพ็ชรเกตุ

ด้าน นายสิรภพ เพ็ชรเกตุ ประธานชมรมครูภาคกลาง และกรรมการสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษา (สคคท.) กล่าวว่า ตนยังยืนยันในข้อเรียกร้องถึง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ขอให้ชะลอการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะออกไปก่อน ขอให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้แก้ปัญหาการเรียนการสอนในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้ก่อน โดยเฉพาะการปรับปรุงการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ที่ถูกสังคมและผลวิจัยระบุว่า การสอนของครูมีปัญหาทำให้เด็กเครียด เบื่อหน่ายการเรียน

"จึงขอเวลาให้ครูได้มีเวลาพัฒนาการสอนบนแพลตฟอร์มต่างๆ ให้ลงตัวก่อน เพราะยังไม่ทราบอนาคตว่า โรงเรียนทั่วประเทศจะต้องสอนแบบทางไกลไปอีกนานเท่าไหร่ กว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะคลี่คลาย จนเปิดโรงเรียนได้ตามปกติ จากนั้น ศธ.จึงค่อยจัดอบรมหลักสูตรฐานสมรรถนะให้กับครูทั่วประเทศต่อไป"

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)