สคคท.แฉหลักสูตรสมรรถนะ! มรดกเก่า กอปศ. ไร้ประชาพิจารณ์ เตือน ศธ.รีบร้อน

 

สคคท.แฉหลักสูตรฐานสมรรถนะ

มรดกเก่า กอปศ.-ไร้ประชาพิจารณ์

ยุส่ง ศธ.ประกาศใช้เทอม 2 ไม่ต้องนำร่อง 'เสียเวลา-งบประมาณ'

สิรภพ เพ็ชรเกตุ

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2564 นายสิรภพ เพ็ชรเกตุ ประธานชมรมครูภาคกลาง และกรรมการสมัชชาเครือข่ายครูและบุคลากรทางการศึกษา (สคคท.) เปิดเผยว่า สคคท.ได้จัดประชุมของคณะกรรมการ สคคท.ผ่านทาง zoom online

มีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ ดร.ดิเรก พรสีมา ประธาน สคคท., ดร.นิวัตร นาคะเวช รองประธาน สคคท., ดร.ปรีชา จิตสิงห์ กรรมการ สคคท., นายกมลเทพ จันทรจิต กรรมการ สคคท. นายประชัน จันระวังยศ กรรมการ สคคท., ตน และ ดร.วิสิทธิ์ ใจเถิง กรรมการและเลขานุการ สคคท.

ในการประชุมในวันนี้ได้หารือกันภายใต้หัวข้อ "ปฏิวัติการศึกษาไทย ด้วยครูไทย เพื่อเยาวชนไทยในอนาคต" โดยได้พิจารณาเรื่องที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะ และจะเริ่มนำร่องทดลองใช้ในสถานศึกษาเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในวันที่ 1 กันยายน 2564 นี้

(สถานศึกษานำร่องทดลองใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่อยู่ในจังหวัดสีแดงเข้ม และอยู่ในเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งมี 6 จังหวัด/ภูมิภาค ได้แก่ กลุ่มสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา จ.ระยอง และกาญจนบุรี เหลือที่ไม่ใช่จังหวัดสีแดงเข้ม เพียง จ.ศรีสะเกษ เชียงใหม่ และสตูล เท่านั้น)

นายสิรภพ กล่าวว่า ในที่ประชุมได้หยิบยกเรื่องข้อมูลหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ผ่านมาว่า เป็นเรื่องที่ ศธ.ต้องยอมรับว่าการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ เป็นการดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่มี ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธาน ซึ่งได้ทำหลักสูตรนี้ทิ้งไว้ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ตั้งแต่สมัยที่นายสุภัทร จำปาทอง เป็นเลขาธิการ สกศ. และยังไม่ได้มีการทำประชาพิจารณ์ หรือทดลองใช้มาก่อน

“ดังนั้น จู่ๆ จะนำไปปฏิบัติเลยนั้น พวกเรามองว่าเร็วเกินไป เพราะครูที่เป็นผู้ปฏิบัติหรือผู้สอนไม่ได้มีส่วนร่วมในการร่างและพัฒนาร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าวนี้เลย”

กรรมการ สคคท.กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการ สคคท.เสนอให้ ศธ.มีการปรับปรุงหลักสูตรฐานสมรรถนะ ให้สามารถจัดการศึกษาในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ด้วย เพราะในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต้องมีการปรับการเรียนการสอนอยู่แล้ว

โดยมีหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานและหลักสูตรที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และให้มีการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา และครูให้มีความพร้อม มีความรู้และความสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักสูตรฐานสมรรถนะของ ศธ.

“พวกเราจึงเห็นควรเสนอ ศธ.ว่า ในช่วงปิดภาคเรียนเดือนตุลาคม 2564 นี้ ควรให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา นำหลักสูตรฐานสมรรถนะนี้ไปอบรมพัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษา ให้สามารถนำหลักสูตรไปสู่กระบวนการจัดการเรียนรู้สู่ผู้เรียน และสามารถวัดและประเมินสมรรถนะของผู้เรียนออกมาให้ได้ และต้องแน่ใจด้วยว่า นั่นคือ สมรรถนะที่เราต้องการ หลังจากนั้นให้ประกาศใช้ในภาคเรียนที่ 2/2564 ได้เลย ไม่ต้องไปรอนำร่องให้เสียเวลาและงบประมาณ” นายสิรภพ กล่าว

อนึ่ง ตามแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งมีการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ในหน้า ๓๐๕-๓๐๘ ข้อ ๒.๒ กิจกรรมการปฏิรูปที่ ๒ การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ไม่ใช่การมารื้อหลักสูตรแกนกลางการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ฉบับปรับปรุง ซึ่งเป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แล้วมาจัดทำหลักสูตรใหม่เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ดังแนวทางที่ ศธ.กำลังดำเนินการอยู่

โดยในแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ในหน้า ๓๐๕-๓๐๘ ข้อ ๒.๒ กิจกรรมการปฏิรูปที่ ๒ ระบุว่า “การจัดการศึกษาของประเทศ จะต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ และยุทธศาสตร์ชาติ คำนึงถึงสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางด้าน ประชากร การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และพลวัตรของโลกยุคใหม่ ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของ ประชากรในทุกช่วงวัย ที่จะต้องเผชิญความท้าทายกับวิถีชีวิตใหม่ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน กระบวนการจัดการเรียนรู้และรูปแบบการเรียนการสอน โดยมีเป้าหมายที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการ เรียนรู้ มีส่วนร่วมและลงมือปฏิบัติ

ผู้เรียนได้รับการพัฒนาไปสู่ศักยภาพสูงสุดของแต่ละบุคคล เป็นผู้มีความรู้ มีทักษะและใฝ่รู้ (Learn Skills) สามารถเชื่อมโยงนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง มีทักษะชีวิต (Life Skills) ในโลกยุคใหม่ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ (Active Citizen) มีความรับผิดชอบ มีจิตสาธารณะ มีความรักและความภาคภูมิใจในความเป็นไทย

โดยการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐาน (Standard-based Curriculum) ในปัจจุบัน ไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาสมรรถนะผู้เรียน (Competency-based Learning) เป็นสำคัญ ซึ่งในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะแบบผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง ต้องมุ่งเน้นกระบวนการเรียนรู้แบบถักทอความรู้ ทักษะ คุณลักษณะผู้เรียนเข้าด้วยกัน ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning)”

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)