องค์กรครูจี้‘ตรีนุช’แจงเหตุผล!เปลี่ยนพื้นที่เป้าหมายคิกออฟฉีดไฟเซอร์ น.ร.

 

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com รายงานว่า กิจกรรมในโครงการ Kick-off สร้างเกราะป้องกันด้วยวัคซีน เด็กปลอดภัย เรียนอุ่นใจ ต้อนรับเปิดเทอม” เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นฉีดวัคซีนไฟเซอร์สร้างภูมิป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับนักเรียน นักศึกษาอายุ 12-18 ปี ในพื้นที่ 15 จังหวัด ใน 13 เขตสุขภาพ เช่น จ.บุรีรัมย์ พะเยา ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ขอนแก่น สุรินทร์ อำนาจเจริญ พัทลุง และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

โดยมีพิธีเปิดโครงการ ณ โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. และนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นั้น

ปรากฏว่า ได้สร้างความสับสนและข้อคำถามสงสัยในกลุ่มผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนผู้ปกครอง และนักเรียนในหลายจังหวัด เนื่องจากสื่อมวลชนหลายแขนงและหลายสำนักต่างเผยแพร่ข่าวว่า เป็นวันเริ่มต้นฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ 29 จังหวัดสีแดงเข้ม ที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รุนแรง 

เช่น รายการข่าวเช้าหัวเขียว ทางช่องไทยรัฐทีวี 32 ขึ้นพาดหัวข่าวเมื่อช่วงเช้าวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ว่า “นายกฯ Kick off ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ นักเรียน 29 จ.” , รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางทีวีช่อง 3 เมื่อเช้าวันที่ 4 ตุลาคม 2564 นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรเล่าข่าว กล่าวว่า “เป็นการ Kick off เริ่มต้นการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับนักเรียนในสถานศึกษา 15,465 แห่ง ใน 29 จังหวัดสีแดงเข้ม”

ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจเนื่องมาจากก่อนหน้านี้กระทรวงศึกษาธิการให้ข่าวมาโดยตลอดว่า จะมีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ 29 จังหวัดสีแดงเข้มก่อน

โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ที่ ศธ. นางสาวตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธานแถลงข่าว “เตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 สถานศึกษาปลอดภัย เด็กได้รับวัคซีนถ้วนหน้า” ร่วมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และคณะผู้บริหารระดับสูง ศธ.

นางสาวตรีนุชกล่าว ณ วันนั้นว่า “จากการหารือร่วมกันระหว่าง ศธ.กับ สธ. และกระทรวงมหาดไทย (มท.) มีแนวทางในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 โดยในเดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป จะเริ่มฉีดวัคซีน Pfizer ให้กับนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จำนวน 29 จังหวัดก่อน”

ถัดมาวันที่ 15 กันยายน 2564 นายสุภัทร ปลัด ศธ. พร้อมด้วยนายอัมพร เลขาธิการ กพฐ. ได้ร่วมการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง ถึงการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับนักเรียน นักศึกษาอายุ 12-18 ปี ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ประธานอาชีวศึกษาจังหวัด (อศจ.) ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ผู้แทนโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ ตลอดจนผู้แทนจากกระทรวงต่างๆ ที่ให้บริการทางการศึกษาแก่เยาวชน เข้าร่วมรับฟังด้วย

ในครั้งนี้นายสุภัทร ปลัด ศธ.ก็ยังกล่าวชัดเจนว่า "ในเดือนตุลาคม 2564 นี้ จะมีวัคซีนเข้ามาประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นมีวัคซีนไฟเซอร์ 8 ล้านโดส เป็นวัคซีนที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุขว่า สามารถฉีดให้กับเยาวชนที่อายุ 12-17 ปี 11 เดือน 29 วัน หรือ 18 ปีบริบรูณ์ได้ โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนให้กับนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จำนวน 29 จังหวัดก่อน"

ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกลุ่มเป้าหมายมาเริ่มต้นการฉีดวัคซีนให้กับนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ 15 จังหวัด ใน 13 เขตสุขภาพ เช่น จ.บุรีรัมย์ พะเยา ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ขอนแก่น สุรินทร์ อำนาจเจริญ พัทลุง กรุงเทพมหานคร ฯลฯ ซึ่งหลายจังหวัดไม่ได้อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม จึงย่อมสร้างความสับสนและสงสัย โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง ครู และผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม

เช่นที่ จ.นนทบุรี มีการประกาศจากบางสถานศึกษาแจ้งผู้ปกครองและนักเรียนแล้วว่า นักเรียน นักศึกษาในสถานศึกษาพื้นที่ จ.นนทบุรี จะได้เริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่เมืองทองธานี ช่วงวันที่ 15-17 ตุลาคม 2564

ดังนั้น โรงเรียนใน จ.นนทบุรีแห่งนี้ จึงแจ้งผู้ปกครองและนักเรียนว่า การเปิดภาคเรียนที่สองในวันที่ 1 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ทางโรงเรียนได้วางแผนไว้ในขณะนี้ตามบริบทของพื้นที่และสภาพความรุนแรงของการระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ว่า จะยังไม่ให้นักเรียนมาโรงเรียนจนถึงสิ้นปี 2564 โดยยังคงให้เรียนในรูปแบบออนไลน์ เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมาแม้ว่าจะเป็นการเรียนในรูปแบบออนไลน์ก็ตาม แต่ก็ยังมีนักเรียนและครูของโรงเรียนติดเชื้อโควิด-19 จำนวนรวมเกือบ 200 คน โดยยังรักษาอยู่อีกหลายคน  

ในขณะที่โรงเรียนบางแห่งใน จ.ปทุมธานี ได้ตอบคำถามผู้ปกครองนักเรียนทางไลน์เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ว่า "ทางโรงเรียนได้สำรวจแล้ว สำหรับคนที่ลงไว้ว่าฉีด ได้ส่งชื่อทั้งหมดค่ะ แต่ตอนนี้วัคซีนได้มายังไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน ต้องรอวัคซีนเข้ามาใหม่ก่อน ตอนนี้จะได้ฉีดเฉพาะ ม.1 , ม,2 และ ม.3 เป็นบางส่วนก่อนค่ะ" ส่วนการฉีดวัคซีนนักเรียน ม.ปลาย ทางโรงเรียนแห่งนี้ยังไม่ได้แจ้งวันเวลาแต่อย่างใด 

จากกรณีดังกล่าว นายประทุม เรืองฤทธิ์ ประธานสมาพันธ์ครูภาคใต้ กล่าวว่า ตนข้องใจ ศธ.มากว่า เหตุผลใดจึงไม่ฉีดวัคซีนให้กับนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ 29 จังหวัดสีแดงเข้มก่อน ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่ที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรง ประกอบกับ ศธ.เองก็ต้องการเปิดโรงเรียนภาคเรียนที่สองในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่จะถึง เพราะการเรียนออนไลน์ไม่ค่อยได้ผล แต่แล้วทำไมจึงไปเลือกฉีดให้กับนักเรียน นักศึกษาในหลายจังหวัดที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่การระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรง ซึ่งจังหวัดเหล่านี้มีแนวโน้มสูงที่จะเปิดโรงเรียนเทอมสองในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ได้อยู่แล้ว

"ทั้งนี้ ผมอยากเห็นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ดำเนินไปตามข้อเท็จจริงของสภาพปัญหา พื้นที่ไหนยังมีการระบาดรุนแรงก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อน"

นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า ความสับสนและข้อสงสัยในเรื่องการเปลี่ยนแปลงกลุ่มเป้าหมายเริ่มต้นหรือคิกออฟการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด มาเป็นการฉีดให้กับนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่ 15 จังหวัด ใน 13 เขตสุขภาพ เช่น จ.บุรีรัมย์ พะเยา ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ขอนแก่น สุรินทร์ อำนาจเจริญ พัทลุง กรุงเทพมหานคร ฯลฯ ซึ่งหลายจังหวัดไม่ได้อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้มนั้น เป็นความรับผิดชอบของ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ที่ต้องออกมาชี้แจงให้สังคมรับทราบเหตุผล

"โดยเฉพาะชี้แจงกับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง ครู และผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่สีแดงเข้ม ที่ย่อมได้รับผลกระทบในการเปิดโรงเรียนในภาคเรียนที่สองได้ล่าช้าออกไปอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก"

เศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี

ด้าน นายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย (ค.ร.อ.ท.) โพสต์สะท้อนในกลุ่มไลน์เครือข่ายคนรักษ์อาชีวะว่า "ตามที่ติดตามข่าวหลายสำนัก ส่วนมากจะรายงานการฉีดวัคซีนเฉพาะเด็กนักเรียน สพฐ. ที่บอกว่านักเรียน นักศึกษานั้น ยังไม่เห็นมีนักศึกษาจากวิทยาลัยใดๆ ของอาชีวะได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์แต่อย่างใด"

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)