นายก ส.บ.ม.ท.เสนอ ศธ.ชะลอทำหลักสูตรใหม่ จี้แก้ปัญหาเร่งด่วนก่อน-รอ กม.ศึกษาชาติ

จากกรณีมีกระแสข่าวว่า ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อาจจะเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันอังคารที่ 19 ตุลาคม 2564 ให้พิจารณากรณี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายจัดทำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ (หลักสูตรฐานสมรรถนะ) และกำลังจะทดลองใช้ใน 267 โรงเรียน 8 จังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ก่อนประกาศใช้จริงตั้งแต่ปีการศึกษา 2565

ซึ่งถูกองค์กรครูและบุคลากรทางการศึกษาหลายแห่งตั้งข้อสงสัยว่า มีความขัดแย้งสวนทางกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาของรัฐบาล ที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งที่เป็นแผน (ฉบับปรับปรุง) ของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ชุด รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน ที่ระบุให้การจัดการศึกษาของประเทศปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนเป็นแบบ Active Learning ตามหลักสูตรอิงมาตรฐานที่ใช้ในปัจจุบัน ไปสู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนเท่านั้น โดยไม่ได้ระบุให้ ศธ.ทำหลักสูตรใหม่

ทั้งยังอาจขัดแย้งกับแนวทางและข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่มี ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน ซึ่งได้จัดทำเป็นแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเสนอ ครม.และได้รับความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒ อาทิ เสนอให้ใช้หลักสูตรเดิมเสริมสมรรถนะ, ใช้หลักสูตรเดิมต่อเติมสมรรถนะ, ใช้รูปแบบการเรียนรู้สู่การพัฒนาสมรรถนะ

แต่หากจะจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ ศธ.ต้องเชิญผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, สทศ., สมศ. รวมทั้งหน่วยงานเกี่ยวข้องอื่นๆ เข้าร่วม เพื่อจะหลักสูตรการเรียนการสอน การวัด ประเมินผลจะได้เป็นไปอย่างสอดคล้องต่อเนื่องกัน เช่น การคัดเลือกบุคคลเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย เป็นต้น นั้น

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2564 ดร.วิสิทธิ์ ใจเถิง นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ถึงเรื่องดังกล่าวว่า ในฐานะนายก ส.บ.ม.ท.อยากเสนอให้ผู้มีอำนาจในรัฐบาล และ ศธ.ได้ชะลอการดำเนินการเรื่องของหลักสูตรใหม่เอาไว้ก่อนในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยตนมีเหตุผลสำคัญ 2 ประการ

ประการแรกคือ เรื่องของหลักสูตรไม่ใช่ประเด็นปัญหาเฉพาะหน้าสำคัญที่รัฐบาล และ ศธ.จะต้องเร่งรีบแก้ไขในเวลานี้

แต่ปัญหาใหญ่ ณ ขณะนี้ ที่สร้างความยุ่งยากลำบากต่อทั้งผู้บริหารโรงเรียน ครู นักเรียน ตลอดจนผู้ปกครอง ทั้งสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษาและประถมศึกษา คือการผจญกับปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 และต่อเนื่องมาจนถึงภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ซึ่งตกอยู่ในสภาพนักเรียนจำนวนมากแทบไม่ได้เรียนอย่างเหมาะสมตามพัฒนาการ

และหากรัฐบาล ศธ.และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยังไม่สามารถส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมและทั่วถึง แน่นอนว่าการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ที่จะถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะยิ่งสร้างผลกระทบต่อพัฒนาการของนักเรียนในระดับชั้นต่างๆ โดยเฉพาะนักเรียนในระดับประถมศึกษา

เช่น นักเรียนชั้น ป.2-3 เป็นวัยฝึกอ่านออกเขียนได้ แต่ในช่วง 2 ภาคเรียนที่ผ่านมา เด็กๆ วัยนี้จำนวนมากแทบไม่ได้เจอกับคุณครูเลย ไม่ได้ถูกครูจับมือฝึกให้เขียน และหากเปิดเทอม 2 มาแล้วยังไม่ได้เจอครูอีก อันอาจเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เด็กเหล่านี้นอกจากจะยังไม่ได้รับการฝึกอ่านออกเขียนได้จากครูแบบ on-site แล้ว ยังอาจจะกระทบถึงการอ่านออกเขียนได้ในระยะยาวด้วย เพราะเลยวัยสมองพัฒนาในเรื่องฝึกอ่านออกเขียนได้แล้ว

“ดังนั้น การแก้ปัญหาอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเวลานี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญเฉพาะหน้าและเร่งด่วนมากกว่าที่ รัฐบาล ศธ.และ สพฐ.จะไปใส่ใจกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ อีกทั้งการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะในช่วงที่ผ่านมา ทั้งครูและผู้บริหารสถานศึกษาโดยทั่วไปไม่ได้มีส่วนร่วมรับรู้ ก็ยิ่งจะสร้างความยุ่งยากและผลกระทบต่อทั้งผู้บริหารโรงเรียน ครู นักเรียน ตลอดจนผู้ปกครองมากยิ่งขึ้นไปอีก”

นายก ส.บ.ม.ท.กล่าวต่อว่า เหตุผลสำคัญประการที่สองคือ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติของรัฐบาล กำลังจะมีการลงมติวาระแรกรับหลักการ ในการประชุมร่วมรัฐสภาในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่จะถึงนี้ และจะออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ในอีกไม่นานนี้ ซึ่งจะต้องมีการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่อยู่ดี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 ที่ให้บ่มเพาะผู้เรียนมีสมรรถนะตามระดับช่วงวัยต่างๆ ตั้งแต่ช่วงวัยที่หนึ่ง แรกเกิดจนมีอายุครบหนึ่งปี จนถึงช่วงวัยที่เจ็ด การศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือทักษะอาชีพชั้นสูง

รวมทั้งในบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ยังได้บัญญัติเรื่องการจัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้ ที่จะมาทำหน้าที่จัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนในช่วงวัยต่างๆ ดังกล่าวไว้ด้วย

“ศธ.และ สพฐ.จึงควรชะลอการจัดทำและใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะเอาไว้ก่อน เพื่อรอไปร่วมจัดทำหลักสูตรใหม่ตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติดังกล่าว จะได้ช่วยรัฐบาลประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้อีกจำนวนมหาศาลด้วย” ดร.วิสิทธิ์ กล่าว 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)