จี้ รบ.-ศธ.เคลียร์ให้ชัดปม!หลักสูตรสมรรถนะ หลังเกิดโต้แย้งวงการศึกษาศาสตร์

 

“องค์กรครูชัยภูมิ” ทำหนังสือจี้ “บิ๊กตู่-วิษณุ-ตรีนุช” เคลียร์ชัด!ให้ ศธ.เดินหน้าปรับครูสอนแบบ Active Learning หรือรอหลักสูตรสมรรถนะ หลังเกิดโต้แย้งในวงการศึกษาศาสตร์ต่างสถาบัน ส่งผลผู้บริหารเขตพื้นที่-ร.ร.-ศน.-ครูยิ่งสับสน ห่วง น.ร.เป็นหนูลองยาไร้ทางเลือกเหมือนเช่นอดีต เรียกร้องเปิดเวทีนักวิชาการ-ทำประชาพิจารณ์บุคลากรศึกษาทั่ว ปท. ก่อนตัดสินใจใช้สูตรไหนก้าวทันยุคศตวรรษ 21

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2564 นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ เปิดเผยว่า จากที่ตนได้ทำหนังสือในนามสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ส่งถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เมื่อไม่นานมานี้ เรียกร้องให้ตรวจสอบความถูกต้องในการดำเนินการตามกฎหมายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กรณีการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ

เนื่องจากถูกตั้งข้อสงสัยและกล่าวหาว่า ศธ.อาจดำเนินการขัดแย้งกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.๒๕๖๐ และบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา ๖๕ , มาตรา ๒๕๗ และมาตรา ๒๕๙ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 และต่อมาได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564

โดยเนื้อหาในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๒๕๘ จ.ด้านการศึกษา ระบุไว้ชัดเจนให้ ศธ.ปรับปรุงพัฒนาการจัดการเรียนการสอน โดยไม่มีการระบุถึงการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะแต่อย่างใด

ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ได้มีมติรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เสนอผลสรุปการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2564 ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ให้ ศธ.ทบทวนรูปแบบการเรียนการสอน เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก

เน้นรูปแบบการเรียนการสอนให้เด็กได้เรียนรู้หลักวิธีคิด แทนการสอนให้ท่องจำ จัดระยะเวลาในการเรียนที่เหมาะสม รวมถึงจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียน รวมทั้งให้ ศธ.ปรับรูปแบบการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ให้มีความแตกต่างจากการสอนในชั้นเรียนตามปกติ

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ยังได้มีมติให้ทุกส่วนราชการ รวมถึง ศธ.จัดทำงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) และให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยมีกระแสข่าวด้วยว่า พลเอกประยุทธ์ได้กำชับเรื่องนี้ เพราะถือเป็นเรื่องที่ทุกส่วนราชการ รวมถึง ศธ.ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

ซึ่งในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ได้ระบุไว้ชัดเจนทั้งเรื่องหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก คือ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) , กำหนดขั้นตอนและวิธีการการดำเนินการ , ระยะเวลาดำเนินการ รวม ๑ ปี ๙ เดือน (มกราคม ๒๕๖๔-กันยายน ๒๕๖๕) ตลอดจนถึงแหล่งที่มาของเงินงบปประมาณที่ใช้ดำเนินการ คืองบประมาณของหน่วยงานใน ศธ.

นายสานิตย์กล่าวต่อว่า ล่าสุดเกิดกรณีข้อถกเถียงขัดแย้งกันระหว่างนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ต่างสถาบันอุดมศึกษา อาทิ รองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ นพรัก ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ประธานที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย และคณบดีวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการอำนวยการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช...(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้เขียนบทความเรื่อง “หลักสูตรฐานสมรรถนะ: ชื่อนั้นสำคัญฉะนี้”

มีเนื้อหาชี้แจงกรณีที่ตนทำหนังสือในนามสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ส่งถึงพลเอกประยุทธ์, ศาสตราจารย์กิติคุณ ดร.วิษณุ และนางสาวตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เรียกร้องให้ผลักดัน ศธ.พิจารณายกเลิกการจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะดังกล่าว

โดยบทความของ รองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ มีลักษณะแก้ต่างในทำนองว่า (ร่าง) หลักสูตรฐานสมรรถนะ มีลักษณะหลักสูตรสอดคล้องกับ 1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ และ 2.แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา โดยอ้างว่ามีเป้าประสงค์เดียวกัน เช่น มุ่งสมรรถนะ รอบรู้ ทักษะ คุณลักษณะ (ความสามารถ เจตคติ พฤติกรรรม ลักษณะนิสัย) เพื่อยกระดับคุณภาพของการจัดการศึกษา และสู่กิจกรรมที่ ๒) การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นต้น

ในขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.วาสนา คุณาอภิสิทธิ์ แห่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เขียนบทความเรื่อง “หลักสูตรฐานสมรรถนะเป็นหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้หรือ” ซึ่งให้ความเห็นขัดแย้งในทำนองว่า สมรรถนะเป็นเรื่องของความสามารถในการปฏิบัติงานที่ดีในเชิงอาชีพ จึงเหมาะสมกับระดับอาชีวศึกษากับอุดมศึกษา ไม่ใช่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

อีกทั้งรองศาสตราจารย์ ดร.วาสนา ยังให้หลักการว่า สมรรถนะเป็นจุดเน้นตามบริบทของแต่ละโรงเรียน ดังนั้น ควรไปจัดทำเป็นหลักสูตรสถานศึกษาของแต่ละโรงเรียน จึงไม่ถูกต้องอย่างยิ่งที่จะเรียกหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่บังคับใช้กับเด็กไทยทุกคนในทุกโรงเรียนเหมือนๆ กันว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะ

สําทับด้วยบทสัมภาษณ์สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ของ รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และอดีตคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว/ อดีตประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้

ที่ให้ความเห็นว่า ปัญหาที่แท้จริงคือ ความไม่เข้าใจเรื่องหลักสูตร และการไม่สามารถนำหลักสูตรไปจัดประสบการณ์ในสถานศึกษาและในชั้นเรียนได้ มีผลให้นักเรียนคุณภาพตกต่ำ จึงควรหันไปปรับปรุงพัฒนาครูและผู้บริหารในการนำหลักสูตรไปใช้ มากกว่าจะมาแก้ไขที่ตัวหลักสูตร

ดังนั้น ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) จึงระบุชัดว่า ให้มีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามหลักสูตรอิงมาตรฐานที่ใช้ในปัจจุบัน ไปสู่การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) โดยมีการกำหนดเป้าหมายทั้ง 1) พัฒนาผู้เรียน 2) พัฒนาครู/อาจารย์ 3) พัฒนาผู้บริหารสถานศึกษา/ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์

รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ ยังอธิบายด้วยว่า หลักสูตรที่ใช้ในปัจจุบัน ก็เป็นหลักสูตรที่เน้นสมรรถนะเช่นเดียวกัน ทั้งยังได้เน้นสมรรถนะตาม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ (specific competency) และสมรรถนะหลัก(สำคัญ)(core competency) อีก 5 ประการด้วย คือการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา ทักษะชีวิต และเทคโนโลยี

นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า จากการแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิระดับคณบดีในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาออกสู่สังคมสาธารณะดังกล่าว ตนได้รับการร้องเรียนจากบรรดาครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา และศึกษานิเทศก์จำนวนมากว่า ยิ่งสร้างความสับสนในทิศทางการจัดการศึกษา

ตลอดรวมถึงกลุ่มนิสิตนักศึกษาครูที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาออกมาเป็นครูรุ่นใหม่ต่อๆ ไป มีความสับสนไปด้วยว่า ตกลงควรจะเดินหน้าปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนตามที่ระบุในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) หรือจะให้รอสอนตามหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ ศธ.กำลังจัดทำอยู่

"โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ทิศทางไหนถูกต้องสอดรับสำหรับการพัฒนาขีดความสามารถของเด็กและเยาวชนให้กับประเทศได้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในโลกศตวรรษที่ 21 กันแน่" 

ที่น่าห่วงอีกประการสำคัญคือ อาจจะกระทบถึงเอกภาพความสอดคล้องในแนวทางการผลิตครูในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งในอนาคต ที่อาจวางเป้าหมายการผลิตครูไปคนละทิศละทาง จนอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตครูในภาพรวม และอาจกระทบต่อทิศทางการจัดการเรียนการสอนของครูที่จบมาจากต่างสถาบัน จนอาจทำให้สอนแตกต่างกันไปในสถานศึกษาต่างๆ ก็อาจเป็นไปได้ เช่นที่มีครูโรงเรียนเอกชนบางแห่งสอน ก.-ฮ.นักเรียน คนละแบบกับครูโรงเรียนของรัฐ ก็เคยปรากฏมาแล้ว

นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ กล่าวอีกว่า ดังนั้น ในนามสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ ตนจะทำหนังสือส่งถึงพลเอกประยุทธ์, ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ และนางสาวตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.อีกครั้งในเร็วๆ นี้ เรียกร้องให้รัฐบาลและ ศธ.เป็นเจ้าภาพเปิดเวทีวิชาการระดมความเห็น และทำประชาพิจารณ์ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ

เพื่อตัดสินเด็ดขาดสอดรับตามหลักวิชาการและความต้องการของครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศว่า จะให้ ศธ.ยกเลิกทำหลักสูตรฐานสมรรถนะ แล้วเดินหน้าปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนของครูและนักเรียน ตามที่ระบุในแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) หรือจะให้ครูรอสอนตามหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ ศธ.กำลังจัดทำอยู่

“เพื่อที่ทั้งครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนนักเรียนและผู้ปกครอง จะได้รู้ทิศทางไหนถูกต้องสอดรับกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคศตวรรษที่ 21 จะได้ไม่เป็นหนูทดลองยา ไร้ทางเลือก เหมือนเช่นในอดีตที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาทุกครั้ง”

นายสานิตย์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ จะได้ลบข้อครหาวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ เช่นที่มีการระบุว่า ในช่วงปลายสมัยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. เคยมีความพยายามจะใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีการยกร่างอยู่เดิม แต่ถูกครูท้วงติงว่าไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นและเสนอแนะ และจะสร้างปัญหาให้กับการจัดการเรียนการสอน จนมีกระแสข่าวในขณะนั้นทำนองว่า นายณัฏฐพลได้สั่งยกเลิกดำเนินการเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะไปแล้ว โดยผู้บริหารระดับสูงใน ศธ.รับทราบเรื่องนี้ดี

รวมทั้งเพื่อลบเสียงกล่าวหาเรื่องผู้เสียประโยชน์ และรับประโยชน์จากการใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่งก่อนหน้านี้ตนได้ทำหนังสือที่ สค.ชย.๐๒7/๒๕๖๔ ลงวันที่ 4 ตุลาคม ๒๕๖๔ ส่งถึง น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.แจ้งให้ทราบข้อมูลเรื่องผู้เสียประโยชน์ คือ

1.นักเรียนทั่วประเทศกลายเป็นหนูทดลองยา ทั้งที่นักวิชาการด้านการศึกษาหลายคนได้ท้วงติงและไม่คาดหวังความสำเร็จในอนาคตได้ 2.ครู เกิดปัญหาสับสนในการเรียนการสอน 3.พ่อแม่ ผู้ปกครอง สูญเสียโอกาสที่ลูกหลานตนเองจะได้รับการพัฒนาตามหลักสูตรอิงมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง 4.ประเทศชาติสูญเสียโอกาสในการพัฒนา เพราะการศึกษาของชาติต้องมาทดลองหลักสูตรแบบนับ “ศูนย์” ใหม่ อยู่เป็นระยะๆ

“และข้อมูลผู้ได้ประโยชน์ อาทิ สำนักพิมพ์ได้ขายหนังสือเรียนใหม่ตามหลักสูตรใหม่ทั้งระบบ, คณะทำงานหลักสูตรได้ใช้งบประมาณระยะยาวหลายปี, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ใช้งบประมาณจัดซื้อครุภัณฑ์ใหม่ตามหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ออกใหม่ โดยอาจมีบริษัทขายครุภัณฑ์บางแห่งจ่อได้รับประโยชน์หลักหลายร้อยล้านบาท” นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)