“ค.อ.ท.” กลัวยุบสภาฯก่อน กระทบคืนชีพ “อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ” เป็นหมัน

ค.อ.ท.วอน ส.ส.-ส.ว.เร่งผ่าน กม.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช.19/2560 เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับครูฯทั่ว ปท. กลัวยุบสภาฯก่อน กระทบคืนชีพ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯเป็นหมัน

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 นายธนชน มุทาพร ที่ปรึกษาชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย และแกนนำเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์ สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ว่า แกนนำเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ประชุมออนไลน์ร่วมกัน เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อหารือเรื่องผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 ได้ผ่านการพิจารณาของทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ตราออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้โดยเร็ว ก่อนที่รัฐบาลอาจจะมีการยุบสภา

ซึ่งโดยหลักการสำคัญของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 ในเวลานี้ เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาต่างมีความพึงพอใจแล้วในระดับหนึ่ง ในประเด็นการคืนอำนาจหน้าที่การบริหารงานบุคคลที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนดไว้จากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) คืนให้กับคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ตามเดิม

“ซึ่งจะทำให้การบริหารงานบุคคลของสถานศึกษาภายในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา มีความคล่องตัวและจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีขวัญกำลังใจเพิ่มขึ้น อาทิ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯสามารถประชุมจัดสรรอัตรากำลังให้กับโรงเรียนที่ขาดแคลนได้ฉับไวขึ้น ประชุมพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้ายหรือเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาได้เร็วขึ้น” แกนนำ ค.อ.ท.กล่าว

นายธนชนกล่าวต่อว่า แต่ความคืบหน้าล่าสุดของ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 จนถึงขณะนี้ยังไม่ผ่านการพิจารณาวาระ 2 ของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยในการประชุมสภาฯเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 มีความเห็นแตกต่างกันในสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฯ โดยเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในมาตรา 3 "ให้ กศจ.ยังคงมีอำนาจหน้าที่ในเขตจังหวัดตามที่กฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ และกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา และอาจมอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ปฏิบัติหน้าที่แทนได้"

ซึ่งการบัญญัติให้ กศจ.สามารถมอบหมายการใช้อำนาจหน้าที่ให้กับ ผอ.สพท.ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแทนได้นั้น ถือว่าขัดกับหลักการสำคัญของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 และยังเป็นเรื่องน่าห่วง เพราะไม่ได้เป็นการใช้อำนาจโดยองค์คณะบุคคล จนในที่สุดนายเอกราช ช่างเหลา ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ ได้ขอถอนร่าง พ.ร.บ.ฯออกไปทบทวนใหม่

นอกจากนี้ ใน ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 ที่ผ่านการพิจารณาจาก กมธ.วิสามัญฯ ในมาตรา 9 วรรคสอง บัญญัติให้ “จำนวน องค์ประกอบ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มา คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง และการประชุมของ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด”

ซึ่งเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ไม่เห็นด้วย อยากให้ กมธ.วิสามัญฯบัญญัติไปเลยว่า หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหา อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ อาจให้ ก.ค.ศ.เป็นผู้กำหนดเหมือนเดิม แต่องค์ประกอบ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯให้เป็นไปตามเดิมที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547

นายธนชนกล่าวว่า คาดว่า กมธ.วิสามัญฯจะพิจารณาทบทวนประเด็นต่างๆ แล้วเสร็จ และนำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาในวาระ 2 (อีกครั้ง) และวาระ 3 ได้ราวต้นปี พ.ศ.2565 จากนั้นเมื่อผ่านสภาผู้แทนราษฎร 3 วาระแล้ว ขั้นตอนต่อไปส่งให้กับวุฒิสภาได้พิจารณาต่ออีก 3 วาระ

ซึ่งมีกระแสข่าวว่า ทางวุฒิสภาได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 ไว้แล้ว และมีข้อสรุปเสนอให้มี อ.ก.ค.ศ.จังหวัดขึ้นมาแทน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา จะกลายเป็นอีกประเด็นปัญหาที่อาจส่งผลทำให้เกิดความล่าช้าในการตรากฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ และยิ่งอาจส่งผลสุ่มเสี่ยงไม่ทันที่รัฐบาลอาจจะมีการยุบสภาไปก่อน

เพราะถ้าวุฒิสภามีความเห็นขัดแย้งในประเด็นสำคัญเรื่องการกำหนดให้มี อ.ก.ค.ศ.จังหวัดขึ้นมาแทน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาจริง ก็จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสองสภา ส.ส.-ส.ว.ขึ้นมาพิจารณาภายใน 180 วัน

“ดังนั้น เครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงขอวิงวอนบรรดา ส.ว. รวมทั้ง ส.ส.ได้โปรดช่วยเร่งพิจารณาและผลักดันผ่านร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2560 โดยเร็ว และบัญญัติให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาได้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลภายในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาตามเดิม เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2565 ให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ” ที่ปรึกษาชมรม ผอ.สพท. และแกนนำ ค.อ.ท. กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)