6 พรรคจ่อชง กม.แก้คำสั่ง คสช.อีก 2 ฉบับ ทวงคืนบอร์ดคุรุสภา-สกสค.-ก.ค.ศ.

“สุรวาท” เผย 6 พรรคการเมืองจ่อชงร่าง กม.แก้ไขคำสั่งหัวหน้า คสช.อีก 2 ฉบับ ทวงคืนคณะกรรมการคุรุสภา-สกสค.-ก.ค.ศ.ชุดในอดีตที่มี กก.ผู้แทนครู ชี้บอร์ดปัจจุบันขาดการยึดโยงกับผู้ปฏิบัติ จนมติหลายเรื่องไร้ความรอบคอบ สร้างปัญหา ไม่ปกป้องบุคลากรในวิชาชีพ กระทบคุณภาพการศึกษาชาติ

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 รองศาสตราจารย์สุรวาท ทองบุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร และอดีตประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ edunewsSiam.com ว่า ตนได้ยกร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีก 2 ฉบับ เพื่อทวงคืนคณะกรรมการ (บอร์ด) คุรุสภา, คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (บอร์ด สกสค.) และคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (บอร์ด ก.ค.ศ.) ชุดในอดีตที่มีผู้แทนครูร่วมเป็นกรรมการ เพื่อมารักษาผลประโยชน์ให้กับการศึกษาของชาติ โดยเฉพาะคนในวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ที่ คสช.ได้มีคำสั่งที่ 7/2558 ให้คณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการ สกสค. ตลอดจนคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค. พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ เช่นเดียวกับบอร์ด ก.ค.ศ. ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2560 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2560 และแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ จำนวน 10 กว่าคน (จากเดิมที่มีจำนวนคณะกรรมการมากกว่า 30 คน) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานกรรมการ

และมีกรรมการโดยตำแหน่งเป็นส่วนใหญ่ เฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นข้าราชการระดับบริหารในหน่วยงานบริหารหลักของ ศธ. รวมถึงกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการ ศธ. โดย คสช.อ้างเหตุผลว่า เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษา และการบริหารราชการใน ศธ.มีประสิทธิภาพ และมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า แต่ทว่าจากข้อเท็จจริงพบว่า ได้สร้างปัญหาต่างๆ มากมายให้กับการศึกษาของชาติ และคนในวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งอาจเป็นเพราะขาดการยึดโยงกับผู้ปฏิบัติ โดยไม่มีองค์ประกอบกรรมการจากผู้แทนครู ในฐานะผู้ปฏิบัติ ซึ่งคลุกคลีอยู่กับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาค

รวมทั้งขาดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่มีคุณสมบัติหมาะสมแท้จริง จนอาจทำให้การพิจารณาดำเนินการในเรื่องต่างๆ ของคณะกรรมการคุรุสภา, คณะกรรมการ สกสค.และ ก.ค.ศ.ชุดปัจจุบัน ขาดความรอบคอบ รัดกุม ไม่สอดคล้องกับสภาพบริบทในพื้นที่ต่างๆ จนสร้างปัญหามากมายตามมา 

เช่น กรณีการออกเกณฑ์กำหนดอัตรากำลังในสถานศึกษาของคณะกรรมการ ก.ค.ศ. ส่งผลให้เกิดการร้องเรียนปัญหาของโรงเรียนมัธยมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ทำให้โรงเรียนจำนวนมากเกิดสภาพปัญหาขาดแคลนอัตรากำลังครู

รวมทั้งมีการออกหลักเกณฑ์ประเมินการขอมีและเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีจำนวนหลากหลายหลักเกณฑ์ จนสร้างความยุ่งยากให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา บางหลักเกณฑ์เพิ่งประกาศออกมาใช้ แต่กลับมีการออกหลักเกณฑ์ใหม่ตามมาอีก ที่สำคัญแต่ละหลักเกณฑ์ส่งผลทำให้ครูออกห่างจากการเรียนการสอนในชั้นเรียนและนักเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ

“กรณีของคณะกรรมการ สกสค.ก็เกิดปัญหาวิพากษ์วิจารณ์กล่าวหาในแวดวงครูและบุคลากรทางการศึกษาว่า คณะกรรมการ สกสค.ชุดปัจจุบันไม่ได้ปกป้องศักดิ์ศรีและผลประโยชน์ของคนในวิชาชีพครูเท่าที่ควร เช่น ปล่อยให้มีการแก้ไขระเบียบคุณสมบัติของคนที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารในสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ไม่ต้องมีคุณสมบัติเป็นคนในวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ได้ รวมถึงการแก้ไขระเบียบหลักเกณฑ์การสรรหาผู้อำนวยการสำนักงาน สกสค.จังหวัดทั่วประเทศ จนเกิดข้อครหามีความไม่ชอบธรรม และไม่โปร่งใส เป็นต้น”

รศ.สุรวาท กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จากที่ตนเคยเป็นกรรมการคุรุสภาเมื่อปี พ.ศ.2557 คุรุสภาได้มีมติเห็นชอบให้มีการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ต่อมาจากปี พ.ศ.2558 จนถึงปี พ.ศ.2563 จึงมาดำเนินการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์กล่าวหาว่า ขาดความรู้ ความสามารถ ขาดความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และขาดความพร้อม

อีกทั้งมีการกำหนดการสอบที่เกินกว่าอำนาจหน้าที่ กล่าวคือ คุรุสภาควบคุมมาตรฐานวิชาชีพครู ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ควบคุมเรื่องมาตรฐานวิชาเอก แต่คุรุสภาทำการสอบทั้งวิชาชีพครูและวิชาเอก ทำให้ได้ข้อสอบที่ขาดคุณภาพและมีมาตรฐาน

รวมทั้งยังถูกวิพากษ์วิจารณ์กล่าวหาว่า ขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสอบ การประกาศผลการสอบถูกกล่าวหามีเลศนัย ไม่ชอบพามากล ลังเล ปรับเปลี่ยนมติไป-มา แล้วยังมีมติยกเลิกการสอบบางวิชา

ที่เป็นปัญหาสำคัญคือ การสอบไม่เป็นไปตามปฏิทินที่กำหนด ให้หน่วยงานอื่นมีอำนาจตัดสินใจการสอบ กำหนดสอบปีละ 2 ครั้ง ผ่านไปแล้ว 2 ปี สอบได้เพียงครั้งเดียว โดยอ้างปัญหาต่างๆ มากมาย ทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาเสียโอกาส เสียงาน เสียอนาคต เสียขวัญกำลังใจ 

รวมถึงนักเรียนที่มีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพครูและตั้งใจจะเรียนสายครู เกิดเปลี่ยนใจตัดสินใจไปเรียนสาขาอื่นๆ แทน ถือเป็นการทำลายความตั้งใจ และเกิดความล้มเหลวต่อการจูงใจให้คนดีคนเก่งมาเรียนสายครู นับเป็นการเสียประโยชน์และโอกาสของชาติ

"ถ้าคุรุสภาของ คสช.ทำไม่ได้จริงๆ ควรงดครับ แล้วหันมาจำกัดจำนวนรับนิสิตนักศึกษาสายครู และควบคุมคุณภาพมาตรฐานและการรับรองสถาบันผลิตครู แล้วให้ผู้เรียนจบได้สิทธิในการเป็นครูทันทีที่หน่วยงานรับเข้าไปสอน ขจัดความยุ่งยาก ซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองอย่างที่เป็นอยู่เวลานี้ ซึ่งไม่มีใครต้องรับผิดชอบ"

ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เหล่านี้คือตัวอย่างปัญหาที่เกิดการร้องเรียนขึ้นในสมัยของคณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการ สกสค. และคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ชุดปัจจุบัน ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 7/2558 และฉบับที่ 16/2560 ดังนั้น ตนจึงได้ยกร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช.ทั้ง 2 ฉบับนี้ เพื่อทวงคืนคณะกรรมการ คุรุสภา, สกสค. และคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ชุดที่มีกรรมการจากผู้แทนครู และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่มีคุณสมบัติเหมาะสมแท้จริง เพื่อมารักษาผลประโยชน์ให้กับการศึกษาของชาติ โดยเฉพาะคนในวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา

"ผมได้ยกร่างบัญญัติไว้ในร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช.ทั้ง 2 ฉบับนี้ด้วยถึงวิธีการได้มาโดยเฉพาะกรรมการจากผู้แทนครู ต้องใช้วิธีที่หลีกเลี่ยงหรือป้องกันการซื้อเสียงเพื่อนครู เล่นพรรคเล่นพวก เพื่อสกัดไม่ให้มีใครเข้ามาหาผลประโยชน์เช่นในอดีต”

รศ.สุรวาทกล่าวด้วยว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 7/2558 และฉบับที่ 16/2560 ดำเนินการไปตามหลักการเดียวกันกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2560 ซึ่งใกล้จะผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยเป็นการเสนอตามเส้นทางลัด ไม่รอการเสนอและพิจารณาแก้ไขกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา และกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจะมีความล่าช้า

รวมทั้งตนได้ชักชวนเพื่อน ส.ส.ที่มีความต้องการตรงกันในการแก้ปัญหาการศึกษาของชาติอีก 5 พรรคการเมือง รวมเป็น 6 พรรคการเมือง มาร่วมเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช.ทั้ง 2 ฉบับเดียวกันนี้ด้วย เช่นเดียวกับเมื่อครั้งเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช ที่ 19/2560 ซึ่งมีแนวโน้มว่า เพื่อน ส.ส.ทั้ง 5 พรรคการเมือง ยินดีจะร่วมเสนอด้วย

"ดังนั้น ถ้าไม่เกิดการผิดพลาด เร็วๆ นี้ทั้ง 6 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคก้าวไกล จะเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 7/2558 และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 16/2560 เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรต่อไป" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)