"ผอ.-ครู"ร.ร.มัธยมฯ สพฐ.ชายแดนใต้ได้เฮ! พ้นกล่าวหาทุจริต"หลังคาโดม" 62 ล.

รัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูฯ เผยข่าวดีฉลองปีใหม่เทศกาลตรุษจีน “ผอ.-ครู” 11 ร.ร.มัธยมฯ สพฐ.ชายแดนใต้ได้เฮ! พ้นข้อกล่าวหาร่วมทุจริตสร้างหลังคาโดมงบเหลือจ่าย สพฐ.ปี’59 มูลค่ารวม 62.4 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษา EdunewsSiam.com รายงานความคืบหน้าการสอบสอนกรณีการกล่าวหามีการร่วมกันทุจริตล็อกสเปกจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษในโครงการก่อสร้างหลังคาคลุมลานอเนกประสงค์ในโรงเรียนมัธยมศึกษา 11 แห่ง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 15 (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา)

ประกอบด้วย โรงเรียนมัธยมฯใน จ.ปัตตานี 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล, โรงเรียนแม่ลานวิทยา, โรงเรียนสายบุรีแจ้งประชาคาร และโรงเรียนโพธิ์คีรีราชศึกษา, จ.นราธิวาส 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนสุคิรินวิทยา, โรงเรียนรือเสาะชนูปถัมภ์, โรงเรียนนราสิกขาลัย และโรงเรียนมัธยมสุไหงปาดี และ จ.ยะลา 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนธารโตวัฑฒนวิทย์, โรงเรียนยะหาศิรยานุกูล และโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ จ.ยะลา

โดยได้รับจัดสรรงบประมาณเหลือจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มาสนับสนุนการก่อสร้างวงเงินรวม 62.4 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการก่อสร้างหลังคาโดมคลุมลานอเนกประสงค์ในโรงเรียนมัธยมศึกษาโรงเรียนในจังหวัดปัตตานี 4 แห่ง นราธิวาส 4 แห่ง และยะลา 3 แห่ง ทุกโครงการจัดซื้อจัดจ้างแบบวิธีพิเศษ

ทั้งนี้ ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา และอดีตนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยกับ ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษา EdunewsSiam.com ว่า นับเป็นข่าวที่น่ายินดีฉลองปีใหม่เทศกาลตรุษจีน 2565 สำหรับพี่น้องและเพื่อนผู้บริหารและครูในโรงเรียนมัธยมฯ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง 11 โรงเรียนดังกล่าว ซึ่งตนได้รับทราบกระแสข่าวดีจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ว่า ผู้บริหารและครูรวมประมาณ 15 คน ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหาร่วมกันทุจริต ได้หลุดพ้นจากการชี้มูลความผิดตามข้อกล่าวหาดังกล่าวทุกคน

ตนยินดีด้วยอย่างยิ่ง หลังจากที่ทุกคนทุกข์ใจกันมานาน จนกินไม่ได้นอนไม่หลับมาร่วม 4 ปี ซึ่งตนยังจำได้ว่าเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 ได้เดินทางไปช่วยร่างข้อต่อสู้ให้กับพี่น้องผู้บริหารและครูโรงเรียนมัธยมฯใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 11 โรงเรียน ที่ถูก ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหาว่าร่วมกันทุจริตในโครงการก่อสร้างหลังคาโดมดังกล่าว

ซึ่งตนได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วเชื่อได้ว่า ทุกท่านไม่ได้มีพฤติการณ์ทุจริต พร้อมทั้งพบเบาะแสที่เป็นข้อแก้ต่างได้ ในกรณีมีการจัดสรรงบประมาณเหลือจ่ายจาก สพฐ.และแจ้งกำหนดให้หาผู้รับจ้างให้ได้ภายในระยะเวลาอันนั้น โดยมีระยะเวลาห่างกันเพียงประมาณ 3 วัน ไม่เช่นนั้นงบฯจะตกไป

“ผมจึงรับแก้ต่างคดีให้ เขียนคำให้การข้อต่อสู้ยื่นเสนอ ป.ป.ช.ให้ โดยใช้เวลาสองสามวัน ซึ่งไปช่วยกันทำข้อต่อสู้ที่ จ.ปัตตานี ณ เวลานั้น ผู้ถูกกล่าวหาทุกท่านกินไม่ได้ นอนไม่หลับ เครียด ในขณะเดียวกันนั่งรับประทานอาหารมื้อค่ำก็ได้ยินเสียงตูมตาม มีการวางระเบิดของผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ไม่ไกลนัก ท่าน ผอ.สิทธิชัยฯ โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล แกล้งบอกว่า เสียงฟ้าร้อง ทั้งที่ฝนไม่ตก ท่าน ผอ.นพปฎลฯ โรงเรียนเบตงฯ ก็บอกว่าเป็นเสียงรถดั๊มพ์”

อดีตนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า แต่มาถึงวันนี้ก็ยินดีด้วยอย่างยิ่งกับพี่น้องและเพื่อนผู้บริหารและครูโรงเรียนมัธยมฯ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง 11 โรงเรียน ที่มีกระแสข่าวดีจาก ป.ป.ช.ว่า จากที่ ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหามีผู้ทุจริตร่วมประมาณ 30 คน พี่น้องและเพื่อนผู้บริหารและครูที่ถูก ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหาประมาณ 15 คน ทุกคนพ้นจากการชี้มูลความผิดตามข้อกล่าวหาดังกล่าวทุกคน

อนึ่ง ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษา EdunewsSiam.com รายงานถึงจุดเริ่มต้นการสอบสอนกรณีการกล่าวหามีการร่วมกันทุจริตในโครงการก่อสร้างหลังคาโดมคลุมลานอเนกประสงค์ในโรงเรียนมัธยมศึกษา 11 แห่ง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกล่าว สืบเนื่องมาจาก สพม.15 (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) ได้ทำหนังสือ ที่ ศธ.04245/1330 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2559 ขอสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างจาก สพฐ.

กระทั่งเกิดเรื่องอื้อฉาว เบื้องต้นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สอบสวนพบเงื่อนงำโกงทั้ง 11 โรงเรียน และส่งเรื่องให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ดำเนินการต่อ โดยผู้บริหาร สพฐ.สั่งตั้งกรรมการสืบข้อเท็จจริง ซึ่งว่ากันว่า ในห้วงเวลานั้นมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กล่าวหาต่างๆ นานา โดยคนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เขาประจานครหาโครงการนี้กันมาตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ.2559 (ตั้งแต่นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. ยังนั่งเก้าอี้เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน)

ทั้งนี้ สตง.ได้ตรวจพบเงื่อนงำทั้งเรื่องการใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ไม่ชอบด้วยระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งมีบริษัทประกอบธุรกิจด้านคอมพิวเตอร์เป็นผู้ประมูลงานก่อสร้างได้ ที่สำคัญมีการกำหนดราคากลางสูงกว่าราคาเกณฑ์ประมวลราคากลางก่อสร้างตามระบบราชการ

นอกจากนี้ คนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังประจานในข้อกล่าวหาว่า การดำเนินโครงการทั้งโรงเรียนใน จ.ปัตตานี 4 แห่ง, นราธิวาส 4 แห่ง และยะลา 3 แห่ง นอกจากจะจัดซื้อจัดจ้างแบบวิธีพิเศษแล้ว ยังทำสัญญากับผู้ประกอบการเอกชนเพียง 3 ราย รายละ 3-4 แห่ง แถมมีเสียงครหาว่า บริษัทคู่เทียบ 3 แห่ง ระบุที่ตั้งเดียวกันด้วย

นี่ ยังไม่รวมเงื่อนงำกล่าวหาชวนสงสัยเรื่องของการตั้งราคาค่าเสาเข็มเจาะบีโอคิวของแทบทุกโครงการไม่ระบุความยาว มีเพียงบางโรงเรียนที่ระบุความยาว 21 เมตร แต่ทุกโรงเรียนใช้ราคากลางเสาเข็มเดียวกันที่ต้นละ 16,060 บาท รวมค่าเจาะ ซึ่งเป็นราคากลางของ สพฐ.สำหรับเสาเข็มขนาด 35 ซม. ยาว 21 เมตร

เช่นเดียวกับราคากลางในรายการอื่นๆ เป็นไปตามราคากลางของ สพฐ.เมื่อปี พ.ศ.2558-2559 ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์กล่าวหาด้วยว่า ราคากลางของ สพฐ.ก็อาจจะสูงกว่าราคาตามท้องตลาดในห้วงเวลาเดียวกันค่อนข้างมากด้วย

ว่ากันว่า โครงการแบบนี้ยังมีอีกหลายโรงเรียนของ สพฐ.ในภูมิภาคอื่นๆ ด้วย เรียกว่า ทำเสียชื่อ “กระทรวงคุณครู” จริงๆ ?!?!

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)