"แกนนำครู กทม." ตั้งข้อสังเกตต้นเหตุปัญหาสอบโอเน็ต น.ร.

แกนนำครู กทม.ตั้งข้อสังเกตเชิงไม่เชื่อมี น.ร.สมัครใจลงสนามโอเน็ตกว่า 90% ชี้อาจเป็นความผิดระดับนโยบาย ที่ปล่อย ร.ร.จัดมหกรรมติวข้อสอบ เพียงเพื่อหวังผลคะแนนของเด็กไปประกวดชิงดีชิงเด่น 

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 ดร.ไกรทอง กล้าแข็ง ประธานชมรมครูกรุงเทพมหานครออนไลน์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com กรณีคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ระบุเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565 วันไปตรวจเยี่ยมสนามสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2564 ณ โรงเรียนพญาไท มีเด็กนักเรียนชั้น ป.6 ทั่วประเทศกว่า 90% หรือจำนวนเกือบ 5 แสนคน มาสมัครสอบโอเน็ตด้วยความสมัครใจว่า ส่วนตัวตนอยากให้ท่าน รมช.ศธ.มาสอบถามครูที่อยู่ในโรงเรียนและกล้าพูดความจริง มากกว่าที่จะรับฟังรายงานจากผู้บริหารระดับสูงหรือผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับอำนาจบริหารทางการเมือง

"เพราะคนเหล่านี้อาจไม่กล้าพูดความจริงหรือไม่? หรือพูดไปเพียงเพื่อรักษาหน้าหรือผลประโยชน์ใดๆ ของตัวเองหรือไม่? เช่น ตำแหน่งหน้าที่การงาน"

ประธานชมรมครูกรุงเทพฯกล่าวต่อว่า ในฐานะที่ตนเป็นครูผู้น้อยและเป็นผู้ปฏิบัติใกล้ชิดกับครูและนักเรียนมากที่สุด จะรับทราบข้อสนทนาตามสื่อออนไลน์ต่างๆ เสมอ โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า ใช่การสมัครใจของนักเรียนหรือไม่ จะด้วยการมีกลวิธีประการใดก็ตามเพื่อให้เด็กได้เข้าสอบโอเน็ตหรือไม่ หรือมีการสั่งการหรือการบังคับแบบกลายๆ มาจากผู้มีอำนาจในส่วนใดหรือไม่? อย่างไร?

"สอดคล้องกับข้อสังเกตของผมที่ว่า ในสถานการณ์การจัดการเรียนการสอนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่นที่ผ่านมา แต่กลับมีนักเรียนสมัครใจสมัครสอบโอเน็ตในอัตราที่สูงจนผิดสังเกต ซึ่งคนที่ทราบข้อมูลดีคือผู้ปฏิบัติ คือครูและนักเรียน ผมไม่อยากเห็นการบริหารในระดับใดๆ ที่อาจทำแบบปิดบังความจริงหรือไม่? ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมไม่อยากพูดอะไรมาก แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิเด็ก จึงอยากออกมาให้ข้อสังเกตเป็นข้อมูลอีกด้านว่า เป็นการสมัครใจในการสอบโอเน็ตของเด็กๆ จริงหรือไม่? อย่างไร?

ดร.ไกรทองยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ปรากฏข่าวมีผู้ปกครองโร่ไปพบครูโรงเรียนแห่งหนึ่ง หลังจากไม่ให้บุตรหลานซึ่งเป็นนักเรียนชั้น ป.6 จำนวน 2 คนเข้าสอบโอเน็ต โดยอ้างว่าเด็กไม่เก่ง กลัวคะแนนภาพรวมของโรงเรียนจะตกต่ำว่า ถ้าเรื่องการสกัดกั้นไม่ให้เด็กเข้าสอบโอเน็ต เพราะโรงเรียนกลัวเด็กกลุ่มอ่อนจะดึงคะแนนเฉลี่ยของโรงเรียนให้ตกต่ำลงเป็นเรื่องจริง? ตนอยากให้โรงเรียนแห่งนั้นๆ เลิกคิดแบบนี้ได้แล้ว

โรงเรียนเหล่านี้ต้องยอมรับความจริง แล้วแก้ไข เพราะเด็กที่เต็มใจสมัครใจมาสอบโอเน็ตจริงๆ นั้น เนื่องจากต้องการวัดความรู้ ความคิดของตัวเอง ถ้าโรงเรียนไปห้ามไม่ให้เข้าสอบ แล้วจะมีการทดสอบโอเน็ตไปทำไม หรือจะให้มีไว้เพื่อประกวดประชันความดีเด่นด้านผลคะแนนโอเน็ตของโรงเรียนตนเองเท่านั้นหรืออย่างไร

"เรื่องนี้อาจเป็นความผิดในระดับนโยบาย ที่การทดสอบแม้จะมีวัตถุประสงค์ชัดเจนตามกฎหมาย แต่กลับยังไม่สามารถสร้างความเข้าใจและสร้างวัฒนธรรมที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นได้ เสมือนที่ผมเคยหยิบยกปัญหาเรื่องมหกรรมการติวข้อสอบโอเน็ต ซึ่งอาจไม่ผ่านกระบวนการเรียนการสอนที่ถูกต้อง แต่โรงเรียนหลายแห่งจัดติวเพียงเพื่อหวังผลคะแนนสอบโอเน็ตของเด็กไปประกวดประชัน แต่ไม่ได้คำนึงถึงทฤษฎีการสอนและวิธีการที่ควรจะเป็น?" ประธานชมรมครูกรุงเทพฯ กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)