“ตรีนุช”ขอบใจสหกรณ์ออมทรัพย์อุดรฯ ลดดอกเบี้ยแก้หนี้ครู-เปิดทางกู้เพิ่ม

“ตรีนุช”นำทีมลงพื้นที่อุดรธานี ติดตามสหกรณ์ออมทรัพย์ช่วยแก้หนี้สินครู พอใจลดดอกเบี้ย 1% ช่วยครูเหลือเงินเพิ่มเข้ากระเป๋าใช้จ่ายหลักพันบาทต่อเดือน ทั้งยังเปิดทางอนุมัติหนี้เงินกู้ยอดใหม่ เผยครูฯแห่ลงทะเบียนร่วมมาตรการ ศธ.แล้วเกือบ 14,000 คน 

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วยนายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. ในฐานะประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา, นางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ ศธ. และคณะผู้บริหาร ศธ. ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุดรธานี จ.อุดรธานี

นางสาวตรีนุชให้สัมภาษณ์ภายหลังรับฟังผลการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุดรธานีว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุดรธานีเป็น 1 ใน 5 สหกรณ์ต้นแบบที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของครู ตามนโยบายพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้ปี พ.ศ.2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือน โดยทางสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุดรธานีได้นำแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูที่ ศธ.เห็นชอบมาดำเนินการ

ซึ่งต้องขอชื่นชมคณะทำงานของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุดรธานีเป็นอย่างมาก ที่ได้นำมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูมาปฏิบัติได้เห็นผลเป็นอย่างดี ไม่ว่ามาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้สูงสุดถึง 1 เปอร์เซ็นต์ เช่น ครูที่มีหนี้ 2,500,000 บาท หลังลดดอกเบี้ยแล้วจะทำให้ครูมีเงินเข้ากระเป๋าเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้เพิ่มขึ้นเดือนละไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท ทันที ถือได้ว่าเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินครู และช่วยให้ครูมีคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง

"ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุดรธานี ยังสามารถบริหารจัดการรวมหนี้ของสถาบันการเงินอื่นๆ มาไว้อยู่ภายใต้สหกรณ์ฯเพียงแห่งเดียว ซึ่งจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาทำได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังมีคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติหนี้จากเงินกู้ใหม่ โดยมีการตรวจสอบฐานข้อมูลเพื่อไม่ให้ครูมียอดชำระหนี้รวมกันสูงเกินกว่า 70% ของเงินเดือน"

รมว.ตรีนุชกล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการแก้ปัญหาในระดับเขตพื้นที่การศึกษา ที่ได้ให้จัดตั้งสถานีแก้หนี้สินครูฯ ทำหน้าที่เป็นคนกลางไกล่เกลี่ยระดับเขตพื้นที่ฯ และประสานงานกับสถานีแก้หนี้ระดับจังหวัดนั้น จนถึงขณะนี้มีครูและบุคลากรทางการศึกษามาลงทะเบียนเข้าร่วมแก้ไขปัญหาหนี้สินแล้วเกือบ 14,000 คน เฉพาะที่จังหวัดอุดรธานีมีจำนวนกว่า 400 คน

โดยรูปธรรมของการแก้ไขปัญหาได้ตั้งเป้าหมายว่า นอกจากจะสามารถยืดการผ่อนชำระหนี้ได้ยาวนานขึ้นแล้ว ยังจะช่วยเหลือให้ครูได้มีเงินเหลือไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นด้วย

"ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว เช่น จะจัดอบรมครูทั้งที่เข้ามาใหม่ ครูที่อยู่ในระยะสร้างครอบครัว หรือครูที่รับราชการมาเป็นระยะเวลานาน ให้ได้มีความรู้ในด้านการบริหารจัดการเงิน และสร้างวินัยการใช้จ่าย เพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตและครอบครัวที่ดียิ่งขึ้น ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต" รมว.ศธ.กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)