สางหนี้ครูบานเบอะ ๑.๔ ล้าน ล. ปี’๖๕ พยัคฆ์คำราม ให้ระวัง ❝หนีเสือปะจระเข้❞

เสวนากับบรรณาธิการ : วันที่ 23 ธันวาคม 2564

 

 

สางหนี้ครูทั่วประเทศบานเบอะ ๑.๔ ล้านล้าน

ปี’๖๕ พยัคฆ์คำราม ให้ระวัง"หนีเสือปะจระเข้"

บนเกมต่อรองตกประโยชน์เพื่อใคร...

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ บรรณาธิการ

 

 

 

รายงานการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในภาพรวมของปัญหาหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบ ปัจจุบันครู ๙ แสนคน ทั้งประเทศ หรือประมาณ ๘๐% มีหนี้รวมกัน ๑.๔ ล้านล้านบาท เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จำนวน ๘.๙ แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๖๔ รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน ๓.๔๙ แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๒๕ ของหนี้สินครูทั้งหมด

 

อ้างอิงจากเอกสารการประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔ มีมติให้ ศธ.เร่งจัดทำและขับเคลื่อนแผนแก้ไขปัญหาหนี้สินให้เป็นรูปธรรม ให้ความสำคัญกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูในการแก้ไขปัญหาหนี้ข้าราชการใน ๒ มิติ มีสาระน่าสนใจ ตามลำดับ ดังนี้

 

เริ่มจากการจัดให้มีระบบการตัดเงินเดือนที่มีประสิทธิภาพ จะต้องสามารถควบคุมไม่ให้ข้าราชการกู้เกินศักยภาพของเงินเดือน และหลังจากหักชำระหนี้แล้ว ข้าราชการจะมีเงินเหลือในแต่ละเดือนเพียงพอที่จะใช้ดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี โดยให้เจ้ากระทรวง ศธ.ต่อรองกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและสถาบันการเงิน ให้มีการให้สินเชื่อแก่ข้าราชการอย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม

 

อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าว ศธ.ก็ได้ดำเนินการโดยใช้โครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา และนำสหกรณ์ออมทรัพย์ครูตันแบบ จำนวน ๑๒ แห่ง ๔ ภาค ๆ ละ ๓ แห่งเป็นฐาน ทำงานร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่งและส่วนราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่จังหวัด เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู มี 3 กิจกรรม ดังนี้

 

กิจกรรมแรก ดำเนินการศึกษาถอดบทเรียน ด้วยการใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ จำกัด และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชร จำกัด เป็นตัวอย่าง เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๔ พบแนวทางการแก้ไขปัญหาในประเด็นสำคัญ ที่ว่า 

(หมายเหตุ เมื่อ 15 ก.พ. 2560 อ้างอิงจาก  MGR Online : มีกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ครูเมืองกล้วยไข่ รวมตัวยื่นหนังสือประท้วง จี้ผู้บริหารสหกรณ์ฯ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท หลังขูดดอกเบี้ยจากสมาชิกสูงถึงร้อยละ 6 ต่อปี ขัดหลักการสหกรณ์ฯ )

 

 

 

(๑) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ให้ต่ำลง ไม่เกินร้อยละ ๓

(๒) ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สหกรณ์และสถาบันการเงินให้สอดคล้องกับสินเชื่อที่มีอัตราความเสี่ยงต่ำ ร้อยละ ๔.๕-๕.๐

(๓) จัดสรรผลกำไรมาเพิ่มเงินเฉลี่ยคืนเงินกู้ให้มากขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ของผลกำไร

(๔) บริหารความเสี่ยง ด้วยการลดค่าธรรมเนียมและการค้ำประกันที่ไม่จำเป็น

(๕) ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูยกเลิกการฟ้องคดี รวมหนี้จากทุกสถาบันการเงินมาไว้ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ในอัตรา ร้อยละ ๒.๕ และการปรับโครงสร้างหนี้ครูก่อนเกษียณ อายุตั้งแต่ ๕๐ ปีขึ้นไป และลดดอกเบี้ยเงินกู้แก่ครูที่มีอายุ ๗๕ ปีขึ้นไป ตั้งแต่ร้อยละ ๐.๒๕-.๕๐ และการปรับลดการส่งค่าหุ้นรายเดือน 

(๖) จัดทำฐานข้อมูลสมาชิกและการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับสถาบันการเงินและต้นสังกัด

(๗) ร่วมกับส่วนราชการต้นสังกัดหัก ณ ที่จ่าย ควบคุมยอดหนี้ไม่ให้เกินความสามารถในการชำระหนี้ของสมาชิกสหกรณ์ จะต้องมีเงินเดือนเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐

(๘) มีความร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สร้างระบบพัฒนาและดูแลสมาชิกให้ความรู้เสริมสร้างวินัยและการวางแผนทางด้านการเงิน การสร้างอาชีพเสริม ลดรายจ่าย เพิ่มการออม และไม่ก่อหนี้เพิ่ม ย่อมเป็นการสร้างคุณภาพชีวิต

 

สำหรับกิจกรรมที่ ๒- ๓ ศธ.ได้ดำเนินการร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน อีก ๑๒ แห่ง ที่มีศักยภาพและความพร้อม สมัครใจเข้าร่วมโครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ระหว่าง วันที่ ๒๐- ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๔ มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเข้าร่วมโครงการฯ ถึง ๒๑ แห่ง แต่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินฯ พิจารณารับเข้าร่วมโครงการ ๑๙ แห่ง ซึ่งมีครูและบุคลากรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ รวมทั้งสิ้นประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ ราย ต่อมาได้ขยายรับสมัครสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเข้าร่วมโครงการ ในรอบที่ ๒-๓ ถึงสิ้นพฤศจิกายน ๒๕๖๔  มีเข้าร่วมอีกกว่า ๔๘ แห่ง รวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า ๖๐ แห่ง จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั้งหมด ๑๐๘ แห่ง ได้จัดทำข้อตกลงความร่วมมือแก้ไขปัญหาหนี้สินฯ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเมื่อ เดือน พ.ย.๒๕๖๔

 

 

คราวนี้ มาดูผลงานของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินฯ ที่เจรจากับธนาคารออมสิน  

ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ มี นายสุทธิชัย จรูญเนตร ประธานคณะกรรมการฯ และคณะ ได้นำเสนอมาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาของศธ.ต่อ นายวิทัย รัตนากร ผอ.ธนาคารออมสิน และคณะ ประชุมกันเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๖๔ ณ ธ.ออมสิน สำนักงานใหญ่ฯ ทางออมสินนำเสนอ สรุปได้ว่า

 

การลดดอกเบี้ยและขยายระยะเวลาชำระเงินกู้ใน "มหกรรมแก้หนี้ครู" ดอกเบี้ยร้อยละ ๔.๓๘ ควรลดดอกเบี้ยเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั้งระบบให้เหลือไม่เกินร้อยละ ๔.๙๙ ส่วนการ Re-finance หนี้ครูไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๒.๒ นั้น ธ.ออมสิน ยินดีปล่อยสินเชื่อ Soft Loan ให้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู

 

ในส่วนสินเชื่อบำเหน็จตกทอด อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ ๒ ต่อปี ใน ๑๐ ปีแรก ขอให้ศธ.เป็นเจ้าภาพ และขอให้มีการผลักดันโครงการ "กู้เงินสะสมของสมาชิกจาก กบข." พร้อมกับเพิ่ม Funding Resource ให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ทดแทนเงินฝาก การลดดอกเบี้ยเงินฝากของสหกรณ์

 

บนเงื่อนไข หากกระแสเงินไหลออกจนสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขาดสภาพคล่อง ธ.ออมสินยินดีสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ในอัตราร้อยละ ๒.๕-๒.๘ แก่สหกรณ์ที่ต้องการรักษาสภาพคล่องทางการเงิน

 

อ่านและขอตั้งข้อสังเกตุกันให้ดี ๆ ในส่วนนี้ ประโยชน์น่าจะตกแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูมากกว่าสมาชิกฯโดยรวม ซึ่งอาจเข้าสำนวนสุภาษิต “หนีเสือปะจระเข้” หรือไม่ คงต้องรอดูกันต่อไป     

 

ขณะในซีกกระทรวงศึกษาธิการ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ไม่ยอมตกเป็นฝ่ายถูกต้อนให้เข้ามุม เห็นได้จากมีการประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯร่วมกับธนาคารกรุงเทพจำกัด เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๔ มีความเห็นสรุปร่วมกันว่า

 

...ต้องหามาตรฐาน เงื่อนไขใหม่ๆ ในการกู้เงินของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ควรมีมาตรการที่เข้มงวดกับการอนุมัติการกู้วงเงินกู้ ตามความจำเป็นในการกู้ของสมาชิก นอกจากการแก้ปัญหาเรื่องดอกเบี้ยสูงแล้ว การออกมาตรการทางระเบียบ กฎหมาย ข้อบังคับ ตลอดเงื่อนไขที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่ผู้กู้เช่นกัน

 

ส่วนการควบคุมระบบการให้กู้ยืมของสหกรณ์และสถาบันการเงินแก่สมาชิกหรือลูกหนี้ สหกรณ์ก็ต้องมีความรับผิดชอบ ต้องจำแนกแยกแยะกลุ่มปัญหาหนี้สินของครูให้ชัดเจน และมีการอธิบายข้อเท็จจริงให้สังคมได้รับทราบ ซึ่งคณะกรรมการฯของศธ.ได้เตรียมประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ต่อไปแล้วเช่นกัน...

 

...ในส่วนของศธ.นี้ แม้ไม่เห็นตัวเลขในเชิงระบบ แต่หากเดินตามกฎกติกาที่วางไว้ ย่อมเป็นการตกประโยชน์แก่สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูโดยรวม โดยไม่ต้องเดินมาถึงข้อสุดท้าย ที่ดูแล้วจะเป็นที่แอบขำ ๆ กันด้วยซ้ำ ในทำนองว่า ไปขายเต้าฮวยยังดีกว่า... 

 

คือ ข้อเสนอให้จัดทำหลักสูตร การเงิน การสร้างวินัย และการออม ให้แก่ครูกลุ่มอายุราชการ ๑- ๕ ปี กลุ่มอายุราชการ ๑๐-๒๐ ปี และกลุ่มช่วงระยะเวลา ๑๐ ปี ให้มีความรู้ทางด้านการวางแผนและการสร้างวินัยทางการเงินและการออม เป้าหมาย ๑ แสนคน/ปี  เริ่มรุ่นที่ ๑ ช่วงเดือน ก่อนเกษียณอายุราชการ (ฮา)

 

 

อย่างไรก็ตาม ยังตามมาด้วย (ร่าง) การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ในส่วนของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินปล่อยออกมาเมื่อปลายเดือน พฤศจิกายน แบบน่าหยิกที่ว่า...

 

สพฐ.ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นปัญหาที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน บนหลักการสำคัญ คือ คลายทุกข์ เสริมสุข อย่างยั่งยืน และมีแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานภายในและภายนอก รวมทั้งบุคลากรของสพฐ.ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด  

 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตข้าราชการครูและบุคลากร ให้มั่นคงยั่งยืน ดำรงตนได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้กำหนดการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสพฐ.โดยเริ่มดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๕ เป็นต้นไป  

 

กล่าวคือ สำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากลุ่มที่ปลอดหนี้สิน กลุ่มที่มีหนี้สิน และกลุ่มข้าราชการบำนาญ หากประสงค์จะยื่นกู้สินเชื่อ ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม ๒๕๖๕ เป็นต้นไป

 

สิ่งแรก สหกรณ์ออมทรัพย์หรือสถาบันการเงิน ต้องขอเอกสารตรวจสอบสิทธิ์รับรองการกู้เงิน ณ หน่วยเบิกต้นสังกัด การกู้เงินให้ใช้อัตราเงินเดือน หรือเงินบำนาญเป็นฐานแล้วแต่กรณีในการยื่นกู้สินเชื่อเท่านั้น (ไม่รวมค่าตอบแทนและวิทยฐานะในการคำนวณสินเชื่อ) หากจัดทำเอกสารเป็นผู้มีสิทธิ์กู้เงินเกินกว่าอัตราเงินเดือน หรือเงินบำนาญเป็นฐานแล้วแต่กรณี หน่วยเบิกต้นสังกัด ไม่ดำเนินการ หักเงิน ณ ที่จ่ายให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์หรือสถาบันการเงิน

 

สำหรับแนวทางการดำเนินการนั้น นายอัมพร พินะสา เลขาธิการกพฐ. ขอความร่วมมือสหกรณ์ออมทรัพย์ครู และ สถาบันการเงินกำหนดเพดานการกู้เงิน โดยใช้อัตราเงินเดือน หรือเงินบำนาญเป็นฐานในการยื่นกู้สินเชื่อ กำกับด้วย ข้อความตัวโต ๆ

 

 

 

...หากที่ใด ไม่ดำเนินการตามมาตรการที่ สพฐ.กำหนด หน่วยเบิกต้นสังกัดไม่ดำเนินการ หักเงิน ณ ที่จ่ายให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู หรือสถาบันการเงิน...

 

ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนที่เป็นหน่วยเบิกเป็นสถานีแก้หนี้ครู จัดทำฐานข้อมูลหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการบำนาญ จัดหมวดหมู่หนี้สินอย่างเป็นระบบ มีกระบวนการตรวจสอบเหลือสุทธิ ให้เป็นไปตามระเบียบการศธ.ว่าด้วยการหักเงินเดือนเงินบำเหน็จบำนาญเพื่อชำระหนี้เงินกู้ฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ ควบคุมการรับรองเงินเดือน การหักเงิน ณ ที่จ่าย การรับรองการให้กู้ การควบคุมยอดหนี้ รวมให้ไม่เกินความสามารถชำระหนี้และการให้กู้ในอนาคตในจุดเดียว

 

 

ภารกิจที่จะดำเนินการ คือ ส่งเสริม สนับสนุน สหกรณ์ออมทรัพย์ครู จัดตั้งกองทุนเงินช่วยเหลือสมาชิกเพื่อบริหารความเสี่ยง แทนการทำประกันชีวิตและการทำฌาปนกิจสงเคราะห์ของสมาชิก ตามมาด้วยให้ส่วนราชการที่หักเงินเดือน ณ ที่จ่ายแต่ละระดับ ควบคุมการก่อหนี้ของข้าราชการในสังกัดไม่ให้เกินความสามารถในการชำระหนี้

 

ส่วนที่บอกว่า ในเรื่องการบังคับใช้ระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการหักเงินเดือนฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ กรณีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอผ่อนปรน ให้ส่วนราชการที่หักเงินเดือน ณ ที่จ่าย ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติและระเบียบ ศธ.ว่าการหักเงินเดือนฯ เพื่อให้ครูมีเงินเดือนเหลือสุทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐

 

มาตรการชัดขนาดนี้แล้ว คงไม่ต้องไปรบกวนหารือศาลปกครองให้เสียเวลา หากได้รับคำตอบกลับมาแบบไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง อย่าร้องไห้กลับก็แล้วกัน  

 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)