"บีโอไอ"ทำหลักสูตรแซนด์บอกซ์ร่วมกับ อว. ผลิตวิศวกร-นักวิทย์กว่าหมื่นคน

อว.ตีปี๊บ!กองทุนพัฒนาการอุดมศึกษา สู่ปฏิรูปการศึกษาชาติ “เอนก” ชี้เปิดช่องให้มหา’ลัยทดลองทำหลักสูตรใหม่-แซนด์บอกซ์ ตอบโจทย์ความต้องการประเทศ-โลกยุคใหม่

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แถลงข่าว “กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา...ก้าวสำคัญของการปฏิรูปอุดมศึกษา” ที่โรงแรมพลูแมน คิง พาวเวอร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ว่า เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ อว.จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา

กองทุนนี้เกิดขึ้นจากความพยายามของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิณ จั่นตอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.อว. เพื่อขับเคลื่อนและช่วยสนับสนุนภารกิจในการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง ให้สอดรับกับความต้องการของประเทศ

ถือเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอร์เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย และทำให้การดำเนินงานของ อว. ครอบคลุมสมบูรณ์ในทุกมิติ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  

กองทุนฯนี้ จะเป็นแรงจูงใจให้มหาวิทยาลัยคิดและทำ หรือได้ทดลองหลักสูตรใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเดิม โดยเฉพาะหลักสูตรที่เน้นเรื่องการปฏิบัติตามความต้องการของตลาด ตอบโจทย์ประเทศได้มากขึ้น ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะภาคเอกชนให้มากขึ้น

ล่าสุดสำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ได้มาทำหลักสูตรแซนด์บอกซ์กับ อว.เพื่อผลิตวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์จำนวนกว่าหมื่นคน ตามความต้องการของบริษัทไฮเทคที่มาขอรับการลงทุนใน EECi และเร็วๆ นี้ อว.ก็จะจัดทำหลักสูตรแซนด์บอกซ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของโลกยุคใหม่ เช่น Cyber Security นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data scientist ) นักบูรณาการระบบในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ (System Indicator) เป็นต้น

"ซึ่งเราต้องถ่อมตัวไปเรียนรู้จากเอกชน และคิดปรับเปลี่ยนเพื่อพลิกโฉมตัวเองตลอดเวลา เพื่อที่วันหนึ่งเราจะนำผู้อื่นและประเทศอื่นๆ ได้ในอนาคต"

รมว.อว.กล่าวต่อว่า กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา จะใช้แหล่งงบประมาณตามมาตรา 45 (3) งบพัฒนาความเป็นเลิศและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทาง และงบประมาณตามมาตรา 45 (4) งบเข้ากองทุนให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ซึ่งแตกต่างจากงบประมาณที่จัดสรรจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ที่มุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนในสาขาที่ขาดแคลนหรือในพื้นที่เป้าหมาย

"ปัจจุบันการดำเนินงานของกองทุนฯอยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงาน และการให้ทุนกับภาคอุดมศึกษา" ดร.เอนก กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)