"ตรีนุช"ชู"วก.ปากท่อ"ต้นแบบดึงเด็กกลับมาเรียน 2 ปีพุ่งเกิน 100 เปอร์เซ็นต์

"ตรีนุช"นำทีมผู้บริหาร ศธ.ลงพื้นที่ราชบุรี ติดตามโครงการ "อาชีวะ อยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ" ชู ว.การอาชีพปากท่อ! ต้นแบบดึงเด็กกลับมาเรียน 2 ปียอดพุ่งเกิน 100% 

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วยนางสาวอรพินทร์ เพชรทัต เลขานุการ รมว.ศธ. และผู้บริหาร ศธ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินโครงการอาชีวะสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชน เพื่อผลิตกำลังคนของประเทศ หรือ “อาชีวะ อยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ” ที่วิทยาลัยการอาชีพ (วก.) ปากท่อ จ.ราชบุรี และเปิดงาน Kick-off สถานศึกษาปลอดภัยจังหวัดราชบุรี ที่โรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ จ.ราชบุรี เพื่อกระตุ้นให้สถานศึกษาเป็นสถานที่ปลอดภัยของทุกคน 

นางสาวตรีนุชให้สัมภาษณ์ว่า โครงการ "อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ" เป็นโครงการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญตามนโยบาย "เราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" เนื่องจากในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ผ่านมา มีปัญหาเด็กตกหล่น ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเรียน-การเดินทาง ดังนั้น รัฐบาลจึงมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดำเนินโครงการ "อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ" เพื่อช่วยเหลือเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษามาเรียนฟรี 3 ปี และมีที่พักอาศัยให้ฟรี

จากการตรวจเยี่ยมพบว่า ที่วิทยาลัยการอาชีพปากท่อสามารถเพิ่มจำนวนเด็กจากปีการศึกษา 2562 ที่มีประมาณ 60 คน เป็น 631 คน ในปีการศึกษา 2564 ซึ่งปริมาณผู้เรียนที่เพิ่มขึ้นมาจากการแนะแนวตามโรงเรียนชายขอบในพื้นที่ อ.สวนผึ้ง, อ.บ้านคา, อ.โป่งกระทิง และ อ.เบิกไพร ซึ่งเป็นอำเภอที่มีระยะทางห่างจากวิทยาลัยการอาชีพปากท่อประมาณ 50-60 กิโลเมตร จึงมีสวัสดิการให้แก่นักศึกษา อาทิ บริการรถรับ-ส่งฟรี บริการหอพักเป็นอาคาร 4 ชั้น แยกเป็นชาย-หญิง ที่เป็นมาตรฐานของ สอศ. ฟรีค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเทอม

นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณเรียนฟรี 15 ปี นำมาจัดสรรเป็นชุดนักศึกษา อุปกรณ์การเรียน หนังสือเรียนฟรี และมีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาเพื่อช่วยเหลือให้กับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมถึงประสานงานเชื่อมโยงกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการรับช่วงต่อเด็กด้วย

นางสาวตรีนุชกล่าวต่อว่า ต้องขอชื่นชมผู้บริหารวิทยาลัยการอาชีพปากท่อที่สามารถคิดนอกกรอบและปรับเม็ดเงินที่มีอยู่มาดำเนินการได้ ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่ดี ซึ่งตนจะนำข้อดี รวมถึงปัญหาอุปสรรคที่พบมาปรับปรุงในแผนรายละเอียดการดำเนินโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ ซึ่งก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติในหลักการของโครงการแล้ว และ สอศ.กำลังอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอขอความเห็นชอบการใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการในวิทยาลัยต่างๆ  

"ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปีการศึกษา 2565 สอศ.ได้คัดเลือกสถานศึกษาที่มีความพร้อมในการรับผู้เรียนเข้าร่วมโครงการ จำนวน 87 แห่งทั่วประเทศ สามารถรับนักศึกษาเข้าร่วมโครงการได้ 5,200 คน ส่วนระยะที่ 2 ตั้งแต่ปีการศึกษา 2566 จะเพิ่มสถานศึกษาที่มีความพร้อมในการรับผู้เรียนเข้าร่วมโครงการให้ได้ 169 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะสามารถสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนได้ทั้งสิ้น 116,000 คน" 

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)