ขับเคลื่อนกำลังพลอาชีวะศึกษาสู่ ภาคช่างอากาศยานและอุตฯการบิน ภารกิจไม่เกินจินตนาการ

รายงานพิเศษ : เสวนากับบรรณาธิการ อาชีวะศึกษา   

ขับเคลื่อนกำลังพลอาชีวะศึกษา สู่ภาคช่างอากาศยานและอุตฯการบิน ภารกิจไม่เกินจินตนาการ 

ตุลย์ ณ ราชดำเนิน : รายงาน  

จับไปที่ภาพ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา สาขาช่างอากาศยานและสาขาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2564 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดย  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน พร้อม นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ณ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี สาขาช่างอากาศยาน และ สาขาธุรกิจการบิน วิทยาลัยเทคนิคถลาง

ระบุถึงสถานศึกษาอาชีวะ 6 แห่ง ประกอบด้วย วิทยาลัยเทคนิคถลาง จังหวัดภูเก็ต, วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จ.ชลบุรี, วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง กรุงเทพมหานคร, วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ, วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี และ วิทยาลัยการอาชีพขอนแก่น จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพอุตสาหกรรมการบิน ได้เปิดการเรียนการสอน สาขาช่างอากาศยานและสาขาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบิน  

นับเป็นผลงานที่น่าศึกษาติดตามในลักษณะก้าวกระโดด และ ถือเป็นความสำเร็จมิใช่น้อยกับการสอดรับอย่างลงตัวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อรองรับวิถีไทย วิถีโลกอนาคต

...อาชีวะยุคใหม่กับอุตสาหกรรมการบิน ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ศธ. นับเป็นยุทธศาสตร์ การสร้างคน สร้างชาติ เป็นภาพลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความงดงามของชีวิตทุกมิติ ตั้งแต่แรกย่างเท้าเข้าเรียนไปจนจบการศึกษา แน่นอน...

เห็นได้จาก รายงานของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ระบุว่า...นโยบายการลงทุนภาครัฐ จากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีกิจการที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการในการลงทุนมากที่สุด คือ 

กิจการผลิตลำตัวอากาศยาน ชิ้นส่วน ลำตัวอากาศยาน ชิ้นส่วนสำคัญและชิ้นส่วนอากาศยานอื่นๆ 

เมื่อมองไปยังโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาขีดความสามารถของท่าอากาศยานในประเทศไทย เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่คงได้ยินถึง โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ท่าอากาศยานภูมิภาค ล้วนเพื่อส่งเสริมโครงข่ายการบิน ให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่

 

กล่าวจำเพาะ แผนยุทธศาสตร์กรมท่าอากาศยาน ปี พ.ศ. 2560-2564 ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่ 1 จัดให้มีพัฒนาท่าอากาศยาน เพื่อส่งเสริมโครงข่ายการบิน ให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถของท่าอากาศยานเพื่อรองรับปริมาณ ผู้โดยสารและปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น 

แต่..ความท้าทายประการสำคัญ ที่อุตสาหกรรมการบินไทยต้องเผชิญ คือ การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร มาตรการด้านความปลอดภัย  ทั้งศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร และการนําเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ ตลอดการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เพื่อกลับเข้าสู่ธุรกิจอีกครั้งของหน่วยงานการบิน

 

ถามว่า ประเทศไทย สามารถจัดการรับมือได้แค่ไหนอย่างไร กับ ความก้าวหน้าในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการบินในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งจําเป็นยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมการบิน เพื่อการเปลี่ยนถ่ายสู่อุตสาหกรรมการบินแห่งอนาคต  

จากรายงานสภาวะอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย-พ.ศ.-2561-ฉบับปรับปรุงประกอบ เพื่อตอบคำถามมีความน่าสนใจ ดังนี้  

ไทยมีจำนวนผู้ถือใบอนุญาตประกอบกิจการ การค้าขายในการเดินอากาศ (AOL) ทั้งสิ้น 47 ราย โดยให้บริการอยู่ในปัจจุบันจำนวน 40 ราย ประกอบด้วยผู้ประกอบการขนส่ง ทางอากาศแบบประจำมีกำหนด 17 ราย แบบไม่ประจำ จำนวน 21 ราย และการพาณิชย์อื่น จำนวน 2 ราย 

อุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul, MRO) ที่ท่าอากาศยานสากลให้การรับรองทั่วโลก มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน มีจำนวนทั้งหมด 262 ราย จำแนกเป็น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคอาเซียน (ยกเว้นประเทศไทย) จำนวน 73 ราย คิดเป็นร้อยละ 28.08 ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด รองลงมาเป็น ผู้ประกอบการที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 45 ราย

ขณะที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ที่อยู่ในประเทศไทย มีเพียง 28 ราย 

ที่สำคัญรัฐบาลไทย มีโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน โดย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมี ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 13 บริษัท ระบุไว้ 5 ระยะ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 2 , ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานภูมิภาค, ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อส่งเสริมโครงข่ายการบินให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ รองรับการซ่อมบํารุงเครื่องบินไทย และ หาพันธมิตรต่างประเทศในยุโรป สายการบินอื่น ๆ  เพิ่มเติม

มีสถาบันฝึกอบรมที่ได้รับการรับรองจาก กพท. จำนวนทั้งหมด 16 ราย แบ่งออกเป็น สถาบันฝึกอบรมด้านการบินจำนวน 13 แห่ง

นอกจากนี้ ในโครงการและมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและการซ่อมบำรุงอากาศยาน  ผู้ประกอบการจะต้องเสนอคุณสมบัติและจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับระดับเทคโนโลยี แผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอากาศยาน และการพัฒนาบุคลากรไทย เพื่อเสนอขอรับการรับรองเป็นผู้ประกอบการในเขตส่งเสริมของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก อีกด้วย

แน่นอนว่า แผนยุทธศาสตร์กรมท่าอากาศยาน ดังกล่าว จะสำเร็จได้ก็ต้องมีองค์ประกอบหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากลของนานาชาติกำหนดไว้เป็นสำคัญ ซึ่งหนีไม่พ้นผู้ที่มีพื้นฐานทางช่างเทคนิค โดยจับกลุ่มเป้าหมายแรกไปยังสถานศึกษาในกลุ่มวิทยาลัยเทคนิค และ วิทยาลัยการอาชีพ ในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นลำดับแรก

นับว่า อาชีวะเราเดินมาอย่างถูกทิศถูกทาง ถูกช่วงเวลาที่เหมาะสมลงตัวพอดี ด้วยเหตุผล...

 

ประการแรก เพื่อตอบรับนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ของประเทศ ด้วยการซึ่งร่วมกันพัฒนาบุคลากรด้านซ่อมบำรุงอากาศยานให้มีศักยภาพในระดับสากล ฝ่ายช่างการบินไทย มีศูนย์ซ่อมบำรุงที่ได้มาตรฐานระดับโลกและเป็นศูนย์ฝึกอบรมในสภาพแวดล้อมการทำงานจริง ตามหลักสูตรความรู้พื้นฐานของนายช่างภาคพื้นดิน ภายใต้การรับรองของ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT Approved Maintenance Training Organization)

 

 

โดยนักศึกษาจะได้ฝึกงานที่สายช่าง การบินไทย ดอนเมืองและ สุวรรณภูมิ หรือที่อื่น ๆ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานหลักสูตร Basic Training ประเภท B1.1 ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย โดยมี  Practical Assessors ดูแลอย่างใกล้ชิด มาตรฐานใกล้เคียงกับมาตรฐานขององค์การความปลอดภัยด้านการบินของสหภาพยุโรป (EASA)  

ซึ่งในอนาคต การที่จะมาเป็นนายช่างภาคพื้นดินได้ ต้องจบการศึกษามาจากสถาบันที่ CAAT รับรองเท่านั้น 

 

ประการที่สอง มองในด้านความร่วมมือกับภาคเอกชนและสถานประกอบการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอน เพื่อยกระดับคุณภาพ และมาตรฐานกำลังคนสายอาชีพสู่สากล พร้อมผลิตช่างฝีมือ ช่างเทคนิค ระดับเทคโนโลยี ล้วนตอบสนองความต้องการกำลังคนของประเทศให้มีสมรรถนะที่มีมาตรฐานสอดคล้อง กับมาตรฐานสากล  

สำหรับคุณสมบัติผู้ที่จะเข้าเรียน ต้องจบประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในสาขาช่างไฟฟ้า ช่างอิเล็กทรอนิคส์ ช่างกลโรงงาน หรือ ช่างยนต์ และต้องมีคะแนนโทอิค 250 คะแนน เพราะคู่มือเครื่องบินตลอดจนศัพท์การบินที่ใช้ในเวลาเรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ใครอยากเข้าเรียน คงต้องติดตามรายละเอียดในแต่ละสถาบัน

 

ผู้สำเร็จการศึกษา สามารถทำงานในตำแหน่ง ช่างเทคนิคอากาศยานและเครื่องยนต์ และช่างซ่อมเครื่องจักรกลอากาศยาน ต้องมีใบอนุญาตประกอบอาชีพในระดับปฏิบัติงาน

นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในสายอาชีวะ จบแล้วมีงานทำทันทีแถมค่าตอบแทนสูง สวัสดิการดี

ประการที่สาม จะเห็นว่า อุตสาหกรรมการบิน นับเป็นหนึ่งใน 5 อุตสาหกรรมสำหรับอนาคต เป็นอุตสาหกรรมที่สอดรับกับการผลิตและพัฒนากำลังคน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาดำเนินการผ่านกลไกของคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา หรือ อ.กรอ.อศ. กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรมการบิน

แน่นอนว่า นาวาอากาศตรีบันชา ชุนสิทธิ์ ประธานคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรมการบิน ภายใต้การส่งเสริมและสนับสนุน จาก ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการกอศ.และ รองเลขาธิการอาชีวศึกษาทุกท่าน ผู้บริหารสถานศึกษาอชีวะ เต็มที่กันอยู่แล้ว

เห็นได้จากปัจจุบัน ถึงการขับเคลื่อนของ อ.กรอ.อศ. กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรมการบิน ที่เป็นรูปธรรมผลักดันในสถานศึกษาในกลุ่มอาชีพ อุตสาหกรรมการบิน ได้รับการรับรองเป็นสถาบันฝึกอบรมนายช่างภาคพื้นดิน จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย  ได้รับการรับรองแล้ว จำนวน 2 แห่ง คือ

“ วิทยาลัยเทคนิคถลาง และ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ” ที่มีการทำความร่วมมือทางวิชาการ กับสถานประกอบการต้นแบบอาชีพ เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา และยกระดับคุณภาพและมาตรฐานกำลังคนสายอาชีพสู่สากล ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทสายการบิน นกแอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทไทรอัมพ์ เอวิเอชั่น เซอร์วิส เซส เอเชีย จำกัด

ประการสุดท้าย แน่นอนว่า อุตสาหกรรมการบิน จะเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-curve) เนื่องจากการขนส่งทางอากาศ เป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว มีมูลค่าสูงและต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งยังช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องได้ทั่วโลก  เช่น การอาหาร การท่องเที่ยว การจ้างงาน ฯลฯ

ดังนั้น สิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)  ควรเร่งหาพันธมิตรร่วมสร้างความเข้มแข็งในการผลิตบุคลากร ออกมารองรับสนับสนุนด้วยเช่นกัน

ซึ่งการผลิตบุคลากรที่ว่านี้ ต้องมีใจพร้อมกับการทำงานในอุตสาหกรรมการบิน ด้วยหลักสูตรที่มีคุณภาพและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นไปตามมาตรฐานสากล ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนอาชีวศึกษา เพื่อการพัฒนาประเทศโดยแท้ ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำเนินการภายใต้นโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนประเทศไทย ด้วยนวัตกรรม สร้างสังคมคุณภาพสูง เพื่อนำประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนสืบไป

อาชีวะยุคใหม่กับอุตสาหกรรมการบิน ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ศธ. นับเป็นยุทธศาสตร์ การสร้างคน สร้างชาติ เป็นภาพลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความงดงามของชีวิตทุกมิติ ตั้งแต่แรกย่างเท้าเข้าเรียนไปจนจบการศึกษา แน่นอน

(โปรดกดถูกใจเพจ Edunewssiam ด้านล่างขวา เพื่อรับข่าวสารอัพเดตในฟีดข่าว)