ชง"ตรีนุช" แนวทางแก้ปัญหา 1.5 หมื่น ร.ร.ขนาดเล็ก สพฐ. รอวันถูกยุบ

ชง"ตรีนุช" แนวทางแก้ปัญหา

1.5 หมื่น ร.ร.ขนาดเล็ก สพฐ. รอวันถูกยุบ

ความคืบหน้าจากที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ฮือฮาในสังคมโซเชียลเฟซบุ๊ก กรณีมีการโพสต์ข้อความและรูปภาพนักเรียนชั้นอนุบาลและประถมศึกษาโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตอำเภอเมือง จ.อุบลราชธานี รวมจำนวนนับสิบคน พากันไปยืนเข้าแถวที่บริเวณสนามโรงเรียน แต่ไม่มีคุณครู โดยอ้างคำบอกเล่าจากชาวบ้านว่า โรงเรียนแห่งนี้กำลังจะถูกยุบ เพราะโรงเรียนไม่มีครูสอน แต่เด็กๆ นักเรียนต้องการเรียนที่นี่ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งมากว่า 50 ปีแล้ว นั้น

สมคิด หอมเนตร

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวการศึกษาออนไลน์ EdunewsSiam.com ได้รับการเปิดเผยจากนายสมคิด หอมเนตร รองประธานคณะมนตรีปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดที่โรงเรียนบ้านสร้างหมากแข้ง ตำบลปะอาว อำเภอเมืองอุบลราชธานี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อุบลราชธานี เขต 1 มีจำนวนนักเรียน 48 คน ครู 3 คน นักการภารโรง 1 คน ครูธุรการ 1 คน ซึ่งเป็น 1 ในจำนวน 14,958 โรงเรียนขนาดเล็ก ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน และกำลังรอวันถูกยุบ

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ กระทรวงศึกษาธิการ ได้รายงานฐานข้อมูลเมื่อสิ้นสุดปีการศึกษา 2564 และเริ่มต้นเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2565 มีจำนวนโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ดังนี้ 1) นักเรียน 0-120 คน มีจำนวน 14,958 แห่ง 2) นักเรียน 121-200 คน จำนวน 7,000 แห่ง 

3) นักเรียน 201-300 คน จำนวน 3,300 แห่ง 4) นักเรียน 301-499 คน จำนวน 1,961 แห่ง 5) นักเรียน 500-1,499 คน จำนวน 1,673 แห่ง 6) นักเรียน 1,500-2,499 คน จำนวน 408 แห่ง และ 7) นักเรียน 2,500 คน ขึ้นไป จำนวน 283 แห่ง

นายสมคิดเผยต่อว่า ตนขอนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก โดยมีข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน จำนวน 14,958 แห่ง เสนอไปยัง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่า ปัญหาและอุปสรรคของโรงเรียนขนาดเล็กที่ผ่านมา มีดังต่อไปนี้

1) สพฐ., คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ไม่ประกาศ อัตราว่างเพื่อให้บรรจุและแต่งตั้ง 1.1 ครูผู้ช่วย 1.2 ผู้บริหารสถานศึกษา 1.3 งบประมาณให้การเรียนการสอนมีคุณภาพ

2) ใช้นโยบายมาตรการควบรวม และยุบโรงเรียน โดยไม่รับฟังคณะกรรมการสถานศึกษา 3) เมื่อมีอัตราว่างที่เกิดจากการเกษียณอายุราชการ ทั้งตำแหน่งครูผู้ช่วย และผู้บริหารสถานศึกษา สพฐ.และ สพป.และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ไม่ประกาศอัตราว่างให้มีการบรรจุแต่งตั้งทดแทน

และ 4) ปลัด ศธ.ไม่รายงานนำเสนอสงวนอัตราว่างต่อคณะกรรมการกำหนดนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.)  

"ผมจึงขอนำเรียนข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กดังกล่าว ต่อ น.ส.ตรีนุช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.เพื่อขอได้โปรดพิจารณาเป็นแนวทางแก้ปัญหาให้กับโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศต่อไป" รองประธานคณะมนตรีปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)