"คุรุสภา"ชงปรับการขอใบประกอบวิชาชีพครูใหม่! จำแนกชั้นต้น-ชั้นกลาง-ชั้นสูง

คุรุสภาชงปรับปรุงระบบการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูใหม่ จำแนกเป็น 3 ระดับ ชั้นต้น-กลาง-สูง พร้อมกำหนดให้บัณฑิตครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ได้รับใบรับรองการปฏิบัติการสอนอัตโนมัติทันที หลังเรียนจบ

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุรุสภาว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการแนวทางการปรับปรุงระบบการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ตามที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาเสนอ เนื่องจากเห็นว่าเมื่อนิสิตนักศึกษาเรียนจบจากคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาวิชาชีพครูโดยตรงมาแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีความยุ่งยากมาสอบเพื่อขอรับใบรับรองการปฏิบัติการสอนอีก เพราะคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ได้ปลูกฝังผู้เรียนครอบคลุมหลักสูตรวิชาชีพครูในทุกด้านอยู่แล้ว

ดังนั้น จากนี้ไปเมื่อนิสิตนักศึกษาเรียนจบจากคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ จะได้รับใบรับรองการปฏิบัติการสอน (Provisional Teaching Certificate) โดยอัตโนมัติทันที สามารถไปสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูผู้ช่วยได้ทันที และเมื่อได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูผู้ช่วยแล้ว จะมีระยะเวลา 2 ปีในการพัฒนาตนเอง เพื่อเลื่อนฐานะจากข้าราชการครูผู้ช่วยมาเป็นข้าราชการครู ซึ่งต้องเข้ารับการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครูเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น

โดยกำหนดให้มีการทดสอบความรู้และประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพ ตามมาตรฐานวิชาชีพครู ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ประกอบด้วย วิชาครู (PCK และทักษะวิชาชีพครู) และวิชาที่สอน (Content พื้นฐาน) 

ประธานคณะกรรมการคุรุสภากล่าวต่อว่า แนวทางการปรับปรุงระบบการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูใหม่ดังกล่าว ได้กำหนดให้มีใบรับรองการปฏิบัติการสอน (Provisional Teaching Certificate) ซึ่งจำแนกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น (Basic Professional Teaching License: B-license) 2.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นกลาง (Intermediate Professional Teaching License :I-license) และ3.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นสูง (Advanced Professional Teaching License : A-license)

ซึ่งจะมีระบบการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพครู เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูชั้นต้น (Basic Professional Teaching License: B-icense) กำหนดให้มีการทดสอบความรู้และประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพครู ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ประกอบด้วย วิชาครู 6 วิชาที่สอน โดยแบ่งเป็น 5 ประเภท ดังนี้ ปฐมวัย การศึกษาพิเศษ วิชาบูรณาการ วิชาเฉพาะ (ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน) อาชีวศึกษา ตามหลักสูตรการอาชีวศึกษา แยกตามสาขา/แขนง

ทั้งนี้ ความรู้ในวิชาการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร วิชาการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และวิชาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นสาระความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพครู จะถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักเกณฑ์บังคับของการรับรองปริญญา และประกาศนียบัตรทางการศึกษา เพื่อการประกอบวิชาชีพครู และการรับรองความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพครู” น.ส.ตรีนุช กล่าว 

ด้าน รศ.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ในฐานะรักษาการเลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวได้มีการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ผลิตครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ แล้ว ร้อยละ 90 ต่างเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว

เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ใช้ครูทั้งภาครัฐและเอกชน ร้อยละ 95 ก็เห็นด้วย และอยากให้มีการนำระบบดังกล่าวมาใช้โดยเร็ว เพราะจะช่วยยืดหยุ่นให้ผู้ที่อยากจะเข้ามาสู่อาชีพครูได้เข้ามาสอบเป็นครูได้สะดวกขึ้น อีกทั้งระบบสามารถเทียบเคียงกับนานาชาติ และที่สำคัญระบบยังเชื่อมโยงกับการพิจารณาวิทยฐานะใหม่ด้วย

"อย่างไรก็ตาม คุรุสภาจะจัดทำรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวก่อนนำกลับมาเสนอคณะกรรมการคุรุสภาเพื่อขอความเห็นชอบอีกครั้ง ก่อนจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป" รักษาการเลขาธิการคุรุสภา กล่าว

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)