ศูนย์ฯพิกุลทองฯ อบรมถ่ายทอดความรู้-ทักษะการจัดการพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่

ศูนย์ฯพิกุลทองฯถ่ายทอดความรู้-ทักษะเกษตรทฤษฎีใหม่

หลักสูตร “การบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ”

 

“...ด้วยพื้นที่จำนวนมากในจังหวัดนราธิวาสเป็นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำขังตลอดปี ดินมีคุณภาพต่ำ ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3 แสนไร่ เกษตรกรจำนวนมากไม่มีที่ทำกิน แม้เมื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่หมดแล้ว ยังยากที่จะให้ประโยชน์ทางการเกษตรให้ได้ผล ทั้งนี้ เนื่องจากดินมีสารประกอบไพไรท์ ทำให้เกิดกรดกำมะถัน เมื่อดินแห้งทำให้ดินเปรี้ยว ควรปรับปรุงดินให้ดีขึ้น ดังนั้น เห็นสมควรที่จะมีการปรับปรุงพัฒนา โดยให้มีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการศึกษาและพัฒนาพื้นที่พรุร่วมกันแบบผสมผสาน และนำผลสำเร็จของโครงการไปเป็นแบบอย่างในการที่จะพัฒนาพื้นที่ดินพรุในโอกาสต่อไป...

พระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตรก่อเกิดการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ พระราชทานเมื่อพ.ศ. 2524

จากการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร  มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในเขตพื้นที่ภาคใต้ ทรงพบว่าพื้นที่จำนวนมากมีสภาพเป็นพรุ ซึ่งเป็นดินเปรี้ยวและมีคุณภาพต่ำ  ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ จึงพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ขึ้น เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2524 เพื่อศึกษา ค้นคว้า วิจัย ทดลอง และพัฒนาดินอินทรีย์และดินที่มีปัญหาอื่นๆ ในพื้นที่พรุ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร  รวมทั้งแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนา ทั้งทางด้านการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และการเกษตรอุตสาหกรรมที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้เป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จให้พื้นที่อื่นๆ

เป็นแบบจำลองของพื้นที่ที่มีการพัฒนาแบบผสมผสานทุกสาขาในลักษณะสหวิทยา และมีการบริหารที่เป็นระบบ มีการดำเนินงานที่มีเอกภาพ เป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จในลักษณะของ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตรวมทั้งนำผลสำเร็จของโครงการฯ ขยายผลไปสู่ประชาชน โดยได้กำหนดแผนการศึกษาดำเนินงานแบ่งออกเป็น 4 แผนงาน ได้แก่ แผนงานศึกษา ทดลองวิจัย ตามแนวพระราชดำริ แผนงานขยายผลการพัฒนา แผนงานฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแผนงานบริหารจัดการ   

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ศพท.) ตั้งอยู่ระหว่างบ้านพิกุลทอง และบ้านโคกสยา ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส โทรศัพท์ 0-7351-3562-3 โทรสาร 0-7351-3560

เจ้าหน้าที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ มีคุณจรัส สิงประจิม   คุณวรางคณา พึ่งพบ และคุณ ธีรศักดิ์ เจริญชล ได้ร่วมกันเก็บทั้งข้อมูล ร่วมกันถ่ายภาพ แล้วก็ส่งไปยังประชาสัมพันธ์สำนักงานกปร.ส่งไปยังสื่อมวลชน เป็นกิจกรรมโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ภายใต้โครงการส่งเสริมการทำการเกษตรแบบผสมผสานในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด และโครงการส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด    ด้วยความตั้งใจของศูนย์ศึกษาฯพิกุลทองฯในการสืบสานพระราชปณิธาน

ถ่ายทอดพระมหากรุณาธิคุณไปยังประชาชนคนไทยได้สัมผัสซึมซับพระมหากรุณาธิคุณผ่านโครงการอันเนื่องมากพระราชดำริ  ที่พระราชทานไว้ให้เป็นแม่แบบน้อมนำไปปรับปรุงพัฒนาให้เหมาะสมกับพื้นถิ่นภูมิสังคมของตน ของชุมชนในแต่ละภูมิภาค ในการประกอบอาชีพตั้งแต่การเกษตรไปจนถึงอาชีพอื่นๆ พร้อมทั้งหลักการดำเนินชีวิตตามวิถีที่ดีงามถูกต้องเหมาะสม  โดยพระราชทานพระราชดำริเป็นหลักคิดพิจารณาแล้วน้อมนำสู่การปฏิบัติคือหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาตคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

 เจ้าหน้าที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งสามท่าน ได้รายงานว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯจัดกิจกรรมเป็นทางเลือกในการฝึกฝนอาชีพ  เพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาอาชีพการเกษตร จากเรื่องดิน เรื่องน้ำและด้านอื่นๆ ได้ศึกษาเรียนรู้วิธีการปรับปรุงแก้ไขปัญหา นำไปเป็นเครื่องมือพัฒนาดิน พัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อสร้างอาชีพในการพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น โดยยึดหลักการเดินตามแนวทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  คือโครงการฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการ​ ภายใต้โครงการส่งเสริมการทำการเกษตรแบบผสมผสานในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด และโครงการส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด  

ดำเนินการอบรมในหลักสูตร การบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพจำนวน​ 2 รุ่น​  จัดกิจกรรมอบรมไประหว่างวันที่​ 7- 8 ​มิถุนายน​ 2565​  ที่ผ่านมา ประชาชนที่เข้าร่วมได้ความรู้ทั้งเรื่องการจัดแบ่งสัดส่วนพื้นที่ การปรับสภาพดิน การดูแลพัฒนาเรื่องน้ำและแก้ปัญหาน้ำ  วิทยากรเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ให้เกษตรกรเข้าใจในการบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพเป็นพื้นฐาน ส่งเสริมการปรับปรุงบำรุงดินด้วยวัสดุปูน​ อาทิ หินปูนฝุ่น โดโลไมท์ ปูนขาว และการใช้เทคโนโลยีชีวภาพของกรมพัฒนาที่ดิน ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และอัตราการใช้ที่เหมาะสม

มีเกษตรกรในพื้นที่ขยายผลฯ​ เข้าร่วมการฝึกอบรม​ จำนวน​ 12 ราย​ (8​ หมู่บ้าน)​ นอกจากการบรรยายให้ความรู้แล้ว​ ได้พาผู้เข้าอบรมลงพื้นทีศึกษาเรียนรู้ ดูงานภายในแปลงสาธิตภายในศูนย์ศึกษาพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้แก่แปลงแกล้งดิน แปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ และแปลงพืชสวนครัวประดับ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเรียนรู้จากพื้นที่จริง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ภายในแปลงของตนเองได้ รวมถึงการแนะนำช่องทางติดต่อ และองค์ความรู้ของศูนย์ฯ ผ่านระบบ Social​

เชื่อว่าหลังอบรมแล้ว เกษตรกรสามารถนำองค์ความรู้ไปบริหารจัดการพื้นที่ ดิน น้ำ พืช ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด สามารถพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในการทำการเกษตรผสมผสานและการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด  สามารถจัดการพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนจนสามารถต่อยอดอาชีพประสบความสำเร็จจนพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีความสุขอย่างยั่งยืนต่อไป

 

สกู๊ปพิเศษ/เสกสรร สิทธาคม เรียบเรียง

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ -ข้อมูล/ภาพ

 

(โปรดกดถูกใจเพจด้านล่าง เพื่อติดตามข่าวสารบนเว็บไซต์ edunewssiam.com)