"น้ำนมแม่หยดแรก" ถักทอสายใยรัก สู่การประความสำเร็จในชีวิต

“น้ำนมแม่หยดแรก” ถักทอสายใยรัก สู่การประความสำเร็จในชีวิต

บทความพิเศษ โดย คอลัมนิสต์ Edu-Healthcare

 นมแม่

แม่ทุกคนอยากเห็นลูกประสบความสำเร็จในชีวิตแน่นอนว่าเป็นความตั้งใจของคนที่เป็นแม่ที่เฝ้าฟูมฟักเลี้ยงดู และคอยกระตุ้นพัฒนาการต่างๆ ของลูกตั้งแต่แรกเกิด เพื่อให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและมีวิธีคิดที่จะนำความสำเร็จต่างๆ มาสู่ชีวิตตัวเองเมื่อเติบใหญ่

 

จุดเริ่มต้น ที่สำคัญที่สุดของชีวิตลูกน้อยตั้งแต่เริ่มลืมตาและเรียนรู้โลกใบนี้ คือ นมแม่ อาหารที่มีคุณค่าหยดแรกที่กลายเป็นภูมิคุ้มกัน และเป็นเกราะป้องกันของลูกน้อย ดังเช่นวาทกรรมที่ว่า นมแม่ คือ วัคซีนหยดแรกของชีวิต

 


นมแม่จุดเริ่มต้นในการพัฒนาสมองของลูก สู่ทักษะของการประสบความสำเร็จในชีวิต

 

พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เคยกล่าวเรื่องนมแม่กับการพัฒนาสมองลูก ไว้ว่า 

 

นมแม่เป็นอาหารเริ่มแรกที่แม่สร้างไว้ให้ลูก ชั่วโมงที่สำคัญที่สุด คือ ครึ่งชั่วโมงหลังคลอด โดยวางลูกไว้บนอกแม่ เมื่อสายตาของลูกกับแม่ประสานกัน เกิดการโอบกอด ลูกได้ดูดนมแม่ ได้ยินเสียงหัวใจของแม่ โอบกอดลูกแบบแนบเนื้อ (Skin to Skin Contact) จึงก่อเกิดสายสัมพันธ์ กลายเป็น สายใยแห่งความผูกพัน ตั้งแต่แรกเกิด ที่สื่อสัมพันธ์ไปกระตุ้นสมองของลูก เรียกว่าซิแนปส์ (synapse) ซึ่งเสมือนเป็นแขนขาเชื่อมเซลล์ประสาทนับพันล้านเซลล์ โดยภายในขวบปีแรกเซลล์สมองของเด็กจะเติบโตถึง 90% ดังนั้นการเรียนรู้ในวัยนี้ ไม่ว่าจะเรียนรู้จากสายตาของแม่และลูก การโอบกอด การรอคอยแม่ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ คือ การกระตุ้นสมอง ให้เรียนรู้ เมื่อลูกได้เรียนรู้การแสดงออกทางพฤติกรรมที่หลากหลาย จะยิ่งไปกระตุ้นเซลล์สมองให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ” 

 

นอกจากสายตาและสายใยที่เกิดขึ้นระหว่าง ลูกกำลังดูดนมแม่ แล้วนั้น สารอาหารสำคัญในนมแม่ อย่าง DHA ก็ล้วนส่งผลต่อระดับเชาว์ปัญญาของเด็กด้วย จากผลการวิจัยของ Lucas A และคณะ (1992) พบว่า ปริมาณนมแม่ที่ให้กับทารกมีผลโดยตรงต่อคะแนนเชาว์ปัญญา โดยเฉพาะค่าคะแนนทางด้านการพูด (verbal scale) สูงกว่าทารกที่ไม่ได้รับนมแม่ถึง 9 จุด นั่นคือ ยิ่งให้น้ำนมแม่เป็นระยะเวลานานมากขึ้นเท่าใด ก็จะมีผลให้สมองพัฒนามากขึ้นตามไปด้วย 

 

ขณะที่ ผลการวิจัยเพื่อศึกษาความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่โดย ดร.วีณา จีระแพทย์ และคณะ พบว่า นมแม่ยังมีผลต่อ ความฉลาดทางอารมณ์”  เด็กกลุ่มที่เลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน มีคะแนนเฉลี่ยของความฉลาดทางอารมณ์โดยรวมและรายด้าน (ด้านดี เก่ง และสุข) สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กกลุ่มที่เลี้ยงด้วยนมแม่ร่วมกับนมผสม และของกลุ่มเด็กที่เลี้ยงด้วยนมผสมร่วมกับอาหารเสริมอื่นๆ และยังพบว่าระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน มีคะแนนเฉลี่ยของความฉลาดทางอารมณ์โดยรวมสูงกว่าของกลุ่มที่ได้นมแม่อย่างเดียว 4 เดือน และ 1 เดือน

 

มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ต่อพัฒนาการด้าน Executive Function-EF หรือทักษะการคิดเพื่อชีวิตที่สำเร็จ ว่า 

 

นมแม่และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นต้นทุน ในการช่วยส่งเสริมการพัฒนาสมองส่วนหน้า หรือ Executive Function (EF)  ของทารก สารอาหารในนมแม่ เป็นสารอาหารที่เหมาะกับโครงสร้างเนื้อสมอง บวกกับการได้รับการกระตุ้นจากขบวนการเลี้ยงดู ทำให้มีการตอกย้ำวงจรการเรียนรู้ในสมองเด็ก มีการศึกษาที่บอกว่า เมื่อแม่ได้ยินเสียงร้อง จะมีการทำงานเพิ่มจุดในสมองแม่มาก ทำให้เกิดความเข้าใจและตอบสนองลูกได้ไวขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กมีฐาน ความมั่นคงในจิตใจ ในการจะก้าวต่อไป สู่การพัฒนา EF ในระดับสูงขึ้นไป

 

Executive Functions (EF) หรือ ทักษะในการบริหารของสมองส่วนหน้า นำมาซึ่งวิธีคิดเพื่อชีวิตที่ประสบความสำเร็จ

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรประสาทวิทยาศาสตร์และศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ นมแม่ในการพัฒนาทักษะสมอง EF” ของลูกว่า 

 

“EF เปรียบเหมือน CEO ของสมองที่คอยบริหารจัดการองค์ประกอบต่างๆ ให้ทำงานได้อย่างเหมาะสม เป็นตัวกลางที่คอยควบคุมกระบวนการทั้งหมด ให้เกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียง สอดคล้องต้องกัน

 

สมองส่วนหน้า (EF) เป็นส่วนที่กำกับความคิด ความรู้สึก การกระทำที่ไปสู่เป้าหมาย โดยเป็นศักยภาพที่มนุษย์ทุกคนมีแต่กำเนิด และต้องได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นทักษะและความสามารถ ซึ่งพัฒนาอย่างมากในช่วงอายุ 3-6 ปี วงจรประสาทจะเชื่อมโยงกับสมองส่วนอื่นและค่อยๆ รวมกัน จนมีประสิทธิภาพในช่วงอายุ 25-30 ปี และนำไปสู่กระบวนการคิดที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต

 

มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า ช่วง 3 ปีแรกของชีวิตเป็นช่วงที่สมองมีการเจริญเติบโตเป็นอย่างมาก นมแม่มีความสัมพันธ์กับทักษะสมองส่วนหน้า (EF)เนื่องจากมีสารอาหารที่จำเป็นต่อโครงสร้างและการทำงานของสมอง และแม่ที่ให้นมลูกเองจะมีความรักใคร่ผูกพันกับลูกมากกว่า

 

2 ฮอร์โมนสำคัญในนมแม่สู่การพัฒนาสมองส่วนหน้า

ฮอร์โมนที่สำคัญในน้ำนมแม่ที่นับว่าสำคัญมากๆ คือ ฮอร์โมนออกซิโตซิน (Oxytocin) ฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) ฮอร์โมนออกซิโตซิน อยู่ในกระแสเลือดของแม่ และถูกหลั่งออกมาจากสมองทุกครั้งที่ลูกดูดนม ฮอร์โมนชนิดนี้จะถูกส่งไปยังน้ำนมทันที โดยช่วยในการสร้างสมองของลูกให้พร้อมต่อการมีพัฒนาการที่ดีรอบด้าน ช่วยสร้างสมองของลูกให้พร้อมต่อการพัฒนา EF ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต และช่วยสร้างความผูกพัน ก่อเกิดสายใยระหว่างแม่กับลูกอีกด้วย ส่วน ฮอร์โมนโปรแลคติน ที่หลั่งออกมาในขณะที่แม่ให้นมลูกจะไปช่วยยับยั้งการทำงานของสมองส่วนอมิกดาลา (Amygdala) ช่วยลดความวิตกกังวล ความกลัว เพิ่มความมั่นใจให้แม่เลี้ยงลูกมากขึ้นอีกหลายเท่า

9 กลุ่มทักษะสำคัญของ Executive Functions (EF)

 

1.ทักษะความจำที่นำมาใช้งาน (Working Memory) คือ ทักษะจำหรือเก็บข้อมูลจากประสบการณ์ที่ผ่านมา และดึงมาใช้ประโยชน์ตามสถานการณ์ที่พบเจอ เด็กที่ทักษะนี้ดี ไอคิวก็จะดีด้วย

2.ทักษะการยับยั้งชั่งใจ-คิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control) คือ ความสามารถในการควบคุมความต้องการของตนเองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

3.ทักษะการยืดหยุ่นความคิด (Shift Cognitive Flexibility) คือ ความสามารถในการยืดหยุ่นหรือปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ไม่ยึดตายตัว

4.ทักษะการใส่ใจจดจ่อ (Focus) คือ ความสามารถในการใส่ใจจดจ่อ มุ่งความสนใจอยู่กับสิ่งที่ทำอย่าง ต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่ง

5.การควบคุมอารมณ์ (Emotion Control) คือ ความสามารถในการควบคุมแสดงออกทางอารมณ์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เด็กที่ควบคุมอารมณ์ตัวเอง ไม่ได้ มักเป็นคนโกรธเกรี้ยว ฉุนเฉียว และอาจมีอาการซึมเศร้า

6.การประเมินตัวเอง (Self-Monitoring) คือ การสะท้อน ตรึกตรองการกระทำของตนเอง รู้จักตนเอง สามารถประเมินเพื่อหาข้อบกพร่องตัวเองได้

7.การริเริ่มและลงมือทำ (Initiating) คือ ความสามารถในการริเริ่มและลงมือทำตามที่คิด ไม่กลัวความล้มเหลว ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง

8.การวางแผนและการจัดระบบดำเนินการ (Planning and Organizing) คือทักษะการทำงาน ตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย การวางแผน การมองเห็นภาพรวม ซึ่งเด็กที่ขาดทักษะนี้จะวางแผนไม่เป็น ทำให้งานมีปัญหา

9.การมุ่งเป้าหมาย (Goal-Directed Persistence) คือ ความพากเพียรมุ่งสู่เป้าหมาย เมื่อตั้งใจและลงมือทำสิ่งใดแล้ว ก็มีความมุ่งมั่นอดทน ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดๆ ก็พร้อมฝ่าฟันให้สำเร็จ

 

แน่นอนว่าคุณค่าของน้ำนมแม่ตั้งแต่หยดแรกหลังการคลอด และเป็นอาหารมื้อแรกของลูกที่ได้สร้างชีวิตน้อยๆ ให้เติบโต พร้อมด้วยสายใยแห่งความรักและนำมาซึ่งทักษะต่างๆ ที่จะทำให้เด็กสามารถเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพและนำมาซึ่งวิธีคิดที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิต