พูดคุย "เรื่องเพศ" รับฟังไม่ตัดสิน ปิดโอกาสพลาด ให้ครอบครัวคือ "เซฟโซน"

บทความพิเศษ โดย คอลัมนิสต์ Edu-Healthcare สำนักข่าว Edunewssiam

แม่คะ ทำไมหนูมีเลือดออกเลอะกางเกงในคะ”
มีคนมาชอบหนู หนูต้องทำอย่างไรคะ”
อาทิตย์นี้ผมพาเพื่อนผู้หญิงมาที่บ้านได้ไหมครับ”

ฯลฯ


คำถามข้างต้นและอีกหลายๆ คำถามของลูกๆ ทั้งวัยที่ร่างกายเริ่มเปลี่ยนแปลง และวัยรุ่น ต่างเป็นวัยที่พ่อแม่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันและความรู้ “เรื่องเพศ” ให้กับลูก โดยเป็น "เซฟโซน" คอยรับฟัง ให้คำปรึกษา แชร์ประสบการณ์ เพื่อให้ลูกเกิดความไว้วางใจ
 

 

เรื่องเพศ” ไม่ได้มีแต่เรื่องเพศสัมพันธ์ แต่ยังรวมไปถึงการพูดคุย เรื่องร่างกาย - ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย การดูแลสุขภาพ และสุขอนามัย เรื่องความคิด - มุมมอง ความคิด ทัศนคติ การตัดสินใจ การแก้ปัญหา และทักษะชีวิต เรื่องจิตใจ - ความรัก ความสัมพันธ์ ความรู้สึก อารมณ์ และวิธีจัดการ เรื่องสิทธิและสังคม - การปกป้องตัวเอง ไม่ละเมิดสิทธิคนอื่น เคารพความแตกต่างหลากหลาย 

 

เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยี ทำให้วิถีชีวิตของเด็กยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไป รวมไปถึงค่านิยม การกระทำ ความเชื่อ “สื่อออนไลน์” ที่ทั้งเด็กเล็ก เด็กโตสามารถเข้าถึงได้ง่ายๆ บางครั้งจึงอาจยังรู้ไม่เท่าทันสื่อ

 

ด้านสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เริ่มสื่อสารรณรงค์เรื่องเพศนับจากปี 2548 ใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ เรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม และความรุนแรงทางเพศและครอบครัว และในปี 2553 ได้รณรงค์เรื่องการพูดคุยเรื่องเพศอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น กับแคมเปญ “เรื่องเพศคุยกันได้” ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2566 กับแคมเปญรณรงค์ “คุยเรื่องเพศ ลดโอกาสพลาด” ที่ต้องการสื่อสารถึงกลุ่มผู้ปกครองให้เห็นความสำคัญของการคุยเรื่องเพศอย่างเปิดใจ สื่อสารเชิงบวก เพื่อแสดงถึงความห่วงใย พร้อมรับฟังแบบไม่ตัดสิน พูดคุยเหมือนเพื่อนที่ไว้ใจได้ และสื่อสารเรื่องเพศกับลูกง่ายขึ้น

 

 

เรื่องเพศเป็นเรื่องยากที่จะพูดในสังคมไทย ถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าอาย หยาบคาย ไม่จำเป็นต้องสอน เดี๋ยวเด็กโตไปก็สามารถเรียนรู้ได้เอง ทำให้กลายเป็นเรื่องที่ต้องปกปิดในวงสนทนาของครอบครัว หรือผู้ใหญ่กับเด็ก” นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อธิบาย  

 

สสส.ได้ผนึกกำลังร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อาทิ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม โดยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิแพธทูเฮลท์ เป็นต้น ในการสร้างทัศนคติเชิงบวกของพูดคุยเรื่องเพศ สื่อสารแบบไม่ตัดสิน รับฟังอย่างเข้าใจ และร่วมกันแก้ปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ท้องไม่พร้อม โดยการใช้สื่อออนไลน์ในยุคปัจจุบันในการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับพ่อ แม่ ผู้ปกครอง และวัยรุ่น” นายชาติวุฒิ กล่าวเพิ่มเติม

 

 

พ่อเลี้ยงเดี่ยวกับการพูดคุยเรื่องเพศกับลูกอย่างเปิดใจ

 

นายศิริพงษ์ เหล่านุกูล คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว ที่มีลูกชายสองคนวัย 11 ขวบ และ 8 ขวบ กำลังจะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ได้เล่าประสบการณ์การพูดคุยอย่างเปิดใจกับลูกด้วยเทคนิคสร้างความไว้วางใจ เน้นแชร์ประสบการณ์ เล่าให้ฟังว่า

 

ก่อนหน้านี้ไม่ได้นึกว่าวันหนึ่งต้องคุยเรื่องเพศกับลูก เพราะเราคิดว่าตัวเรายังเป็นวัยรุ่นอยู่ ตกใจว่ามาถึงรุ่นลูกเราแล้วหรอ เมื่อลูกไปค้นหาเรื่องเพศจากสื่อออนไลน์ ทำให้เราต้องกลับมาทบทวน และเริ่มปรับทัศนคติตัวเองว่า เรื่องเพศคือเรื่องปกติ และทำอย่าไรถึงจะคุยกับลูกได้”

 

ดูว่าในวัยของลูกจะพูดคุยและต้องสื่อสารกันเรื่องไหน มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างไร หาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเปิดใจพูดคุย ชวนคุยเรื่องง่ายๆ ไม่ทำให้บรรยากาศอึดอัด โดยเริ่มจากการแชร์ประสบการณ์และเล่าเรื่องของพ่อก่อน  แล้วค่อยๆ โยงเข้าเรื่องการเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยรุ่น นอกจากผู้ปกครองจะสามารถสื่อสารเรื่องเพศกับลูกได้อย่างใกล้ชิดแล้ว คนสำคัญถัดไป คือ ครูในโรงเรียน เพราะสำหรับเด็กครูบางคนคือไอดอล” 

 

 

อัพสกิล 6 ทักษะเริ่มคุยเรื่องเพศกับลูก

พ่อ แม่ ผู้ปกครองหลายๆ คน อาจจะเริ่มไม่ถูกในการพูดคุย  สสส.มีคำแนะนำ 6 ข้อง่ายๆ ในการเริ่มต้นเปิดใจ เพื่อให้เรื่องเพศเป็นเรื่องที่คุณสามารถคุยกับลูกได้ปกติและแบ่งปันประสบการณ์ได้แบบเปิดใจ

 

 

1. รับฟัง ไม่ตัดสิน

ตัดความกังวลในใจของพ่อ แม่ออกไป พร้อมรับฟังด้วยการเป็นผู้ฟังที่ดี โดยฟังเพื่อรับรู้ความรู้สึก และความต้องการที่ลูกมี ไม่ตัดสินผิดถูก จะเป็นประตูสู่การคุยเรื่องเพศในแง่มุมต่างๆ ได้อย่างรอบด้านมากขึ้น

 

 

2. สอนผ่านการตั้งคำถาม

เด็กที่พ่อแม่ตั้งคำถาม จะเกิดการเรียนรู้ได้ดีกว่าที่พ่อแม่สอน เพราะการตั้งคำถาม ทำให้เด็กได้ทบทวน วิธีคิด มุมมอง ของตัวเองต่อปัญหานั้นๆ เช่น “ลูกคิดว่ายังไง ที่เดี๋ยวนี้วัยรุ่นเขาก็มีแฟนกัน” “ลูกคิดว่ามีข้อดี ข้อเสีย อย่างไรบ้าง”

 

 

3. ชื่นชมความคิดที่ดี

เมื่อลูกมีความคิด หรือการตัดสินใจที่ดี เราควรชมเชยลูกให้ลูกรู้ว่าคุณสมบัติใด เป็นคุณสมบัติที่ดี เช่น “แม่ภูมิใจมากเลย ที่ลูกวางแผนอย่างรอบคอบเรื่องการไปต่างจังหวัดกับเพื่อน”

 

 

4.เสริมข้อมูลที่เป็นประโยชน์

ไม่ต้องกังวลถ้าจะไม่รู้ข้อมูลบางอย่าง เราอาจจะตอบลูกตรงไปตรงมา อะไรที่ไม่รู้ ชวนลูกไปค้นหาข้อมูลด้วยกัน

 

 

5.เป็นที่พึ่งเมื่อเกิดปัญหา

เราทุกคนต้องการคนที่พึ่งพาได้ในวันที่เกิดปัญหา การที่พ่อแม่เป็นที่พึ่งของลูก จะทำให้ลูกสามารถแก้ไขปัญหา หรือฝ่าฟันอุปสรรคในชีวิตไปได้

 

 

6.แสดงความเชื่อมั่นและเคารพในตัวลูก

การที่พ่อแม่แสดงความเชื่อใจลูก จะทำให้ลูกเชื่อมั่นและเชื่อใจตนเอง

 

รู้วิธีคุยเรื่องเพศกับลูก คลิกดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ "www.คุยเรื่องเพศ.com"

http://bit.ly/3Ihz1uO