Home School การศึกษานอกระบบโรงเรียนปกติ กับกฎเกณฑ์เกินปกติ หรือเพราะกลไกผิดเพี้ยนของ ศธ.

 

 

Home School การศึกษานอกระบบโรงเรียนปกติ กับกฎเกณฑ์เกินปกติ หรือเพราะกลไกผิดเพี้ยนของ ศธ.   

 

ตุลย์ ณ ราชดำเนิน 

  

กสม.จี้ “สพฐ.” แก้ระเบียบผู้เรียนศูนย์การเรียน สุ่มเสี่ยงเลือกปฏิบัติ เข้าข่ายลิดรอนสิทธิกศ.ขั้นพื้นฐาน ชี้” เขตพื้นที่” มีปัญหาระบบกลไกและคุณภาพบุคลากร    

 

ว่าไปแล้ว สิทธิเด็กในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาโดยครอบครัว (home school) หรือ ศูนย์การเรียนและครอบครัว ที่จัดตั้งขึ้นโดยบุคคล องค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน ที่ไม่ประสงค์จะให้ลูกเข้าเรียนในสถานศึกษาตามปกติ สามารถใช้สิทธิคุ้มครองตามกฎหมายจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและมีการเทียบโอนผลการศึกษาได้  เรื่องนี้เป็นเรื่องที่บุคลากรในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. อาจจะต้องให้ความสำคัญไม่น้อยกว่างานอื่น ๆ เช่นกัน

  

ดังนั้น EDUnewssiam มองว่า การออกมาของ นายกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยถึงการ ได้รับเรื่องร้องเรียนในช่วงปลายปี 2565 เกี่ยวกับสิทธิเด็กในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาโดยครอบครัว (home school) หรือ ศูนย์การเรียนและครอบครัว ที่จัดตั้งขึ้นโดยบุคคล องค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน จำนวน 60 แห่ง เพื่อจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนปกติ นั้น มีประเด็นปัญหาและทางแก้ สรุปได้ดังนี้

 

ประเด็นที่ 1. สืบเนื่องจาก การที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ไปแก้ไขคู่มือการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในส่วนคุณสมบัติของผู้เรียนในศูนย์การเรียนว่า “ต้องเป็นผู้ขาดโอกาสในการเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ” เท่านั้น

  

จึงส่งผลให้ศูนย์การเรียนและครอบครัว ที่จัดตั้งขึ้นโดยบุคคล องค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน ที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งมาก่อนตามคู่มือฉบับเดิม จำนวน 60 แห่ง ไม่สามารถรับเด็กทั่วไปเข้าเรียนได้ และไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนจากรัฐ ทำให้เด็กไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านการศึกษา ตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542

  

กสม.เห็นว่ากรณี สพฐ.ไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขคู่มือการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ในส่วนคุณสมบัติของผู้เรียนในศูนย์การเรียน จาก “ผู้เรียนในศูนย์การเรียนต้องเป็นผู้ซึ่งขาดโอกาสในการเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ หรือผู้ที่ต้องการเข้าเรียนที่ศูนย์การเรียน ” เป็น “ ผู้เรียนในศูนย์การเรียนต้องเป็นผู้ขาดโอกาสในการเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ”นั้น ไม่เป็นไปตามกฎหมาย

  

รวมถึงการที่ สพฐ. ออกประกาศเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เรียนในศูนย์การเรียนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยบุคคลและโดยองค์กรเอกชนเป็นนิติบุคคล ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย ที่ไปกำหนดคุณสมบัติผู้เรียนว่า ต้องเป็นผู้ที่มีอายุย่างเข้าปีที่ 7 จนถึงอายุ 18 ปีบริบูรณ์ และเป็นเด็กซึ่งขาดโอกาสในการเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนปกติ และมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดใน 12 กลุ่ม ได้แก่

  

(1) เด็กยากจน (2) เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด (3) เด็กที่ถูกทอดทิ้ง (4) เด็กที่ถูกทำร้ายทารุณ (5) เด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ หรือโรคติดต่อร้ายแรงที่สังคมรังเกียจ (6) เด็กในชนกลุ่มน้อย (7) เด็กเร่ร่อน (8) เด็กถูกบังคับให้ขายแรงงานหรือแรงงานเด็ก (9) เด็กที่อยู่ในธุรกิจทางเพศหรือโสเภณีเด็ก (10) เด็กในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน (11) เด็กพิการ และ (12) เด็กซึ่งขาดโอกาสในการเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนปกติกรณีอื่น ๆ นั้น 

 

อาจนำไปสู่การตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อเด็ก ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้เช่นกัน

 

ประเด็นที่ 2. กรณี สพฐ. ไม่จัดสรรสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนให้แก่ศูนย์การเรียนที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยบุคคล องค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน และองค์กรวิชาชีพ อาจจะเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

  

กสม.เห็นว่า การที่กฎกระทรวงเกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน กำหนดว่า “ศูนย์การเรียนอาจได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนจากรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรเอกชนสำหรับการจัดการศึกษาได้” ตรงนี้ จะทำให้เกิดปัญหาการตีความว่า รัฐอาจจะให้หรือไม่ให้เงินอุดหนุนก็ได้

  

เท่ากับว่า ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 14 ที่บัญญัติให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น ซึ่งสนับสนุนหรือจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานย่อมมีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน

  

จึงต้องการให้กระทรวงศึกษาธิการ นำไปพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิของบุคคลในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2554 ข้อ 12 ว่าด้วยสิทธิขององค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2555 ข้อ 13 และ กฎกระทรวงว่าด้วยสิทธิขององค์กรวิชาชีพในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2554 ข้อ 9  

 

โดยเปลี่ยนจากคำว่า “อาจได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุน” เป็น “มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุน” เพื่อให้การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของศูนย์การเรียนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนจากรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม

 

ทั้งนี้ ในระหว่างที่ยังปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงไม่แล้วเสร็จ ก็ควรพิจารณาให้ศูนย์การเรียนที่จัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้รับสิทธิประโยชน์ด้านเงินอุดหนุนด้วย

  

ประเด็นที่ 3. กรณีมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยศูนย์การเรียนและครอบครัวรูปแบบกลุ่ม ไม่ได้รับการยอมรับ ด้วยถูกอ้างว่า ขาดประสบการณ์ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ของผู้เรียนขาดการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง (ครู) หรือผู้จัดการศึกษา

  

กรณีเกิดปัญหาดังกล่าว กสม.เห็นว่าเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก กระทรวงศึกษาธิการควรจัดให้มีหน่วยงานเฉพาะเพื่อเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหา ให้คำปรึกษาแนะนำ หรือรับเรื่องร้องเรียน ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนด้านวิชาการ ในด้านการบริหารจัดการ อุปสรรค หรือข้อขัดข้องในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวหรือศูนย์การเรียน 

 

ซึ่งสภาพความเป็นจริง น่าจะมาจากกลไกของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเอง ที่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการศึกษาทางเลือกของภาคประชาสังคม อีกทั้งยังขาดความพร้อมในการพิจารณาอนุญาตและส่งเสริมให้การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว ให้เป็นระบบและมีคุณภาพได้อย่างไรมากกว่า

  

จากเหตุผลดังกล่าว กสม.จึงต้องการให้ สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ และสภาการศึกษา ร่วมกันทบทวนปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวง ประกาศ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดคุณสมบัติของผู้เรียนในศูนย์การเรียนให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560, พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก รวมทั้งเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548

 

โดยต้องไม่กำหนดลักษณะของเด็ก ซึ่งขาดโอกาสในการเข้าศึกษาในระบบโรงเรียนปกติอยู่แล้ว อาจเป็นการตีตราหรือเลือกปฏิบัติต่อเด็กโดยไม่รู้ตัว เพื่อให้เด็กสามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

 

หากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีสพฐ.และสภาการศึกษา ซึ่งอยู่ในสังกัดเดียวกัน จะร่วมกันพิจารณาทบทวนกลไกการกำกับดูแลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวและศูนย์การเรียนอย่างจริงจัง ย่อมเป็นเรื่องดีโดยรวมแน่นอน เนื่องจากปรัชญาแนวคิดของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัวและศูนย์การเรียน แตกต่างจากการจัดการศึกษาในระบบ

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage