เสวนากับบรรณาธิการ สิ่งที่ศธ.ควรทำ เพียงแค่แสดงความเสียใจ ! ยังไม่พอ นะ ตรีนุช'

 

 

สิ่งที่ศธ.ควรทำ เพียงแค่แสดงความเสียใจ ยังไม่พอ นะ ตรีนุช'

 

❝ ...จากกรณีเกิดเหตุ วันที่ 23 มิถุนายน 2566 เวลา 11.22 น.ถังดับเพลิงระเบิด โรงเรียนราชวินิตมัธยม ขณะจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ การป้องกันและระงับอัคคีภัย การซ้อมดับเพลิงหน้าเสาธง และอพยพหนีไฟ ประจำปีการศึกษา 2566 ตามคำสั่งร.ร. ในพื้นที่ สน.นางเลิ้ง ส่งผลนักเรียนชายดับ 1 ราย บาดเจ็บ 28 ราย จึงเป็นเรื่องที่ไม่ปกติธรรมดา ๆ เช่นที่เคยมีมา...

 

 

เริ่มกิจกรรมอบรม ในช่วงเช้าแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกและช่วงที่สอง เป็นการบรรยาย มีตัวแทนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนแต่ละห้อง ห้องละ 7 คน จะส่งตัวแทนร่วมกิจกรรมดังกล่าว  รวมนักเรียนจำนวน 126 คน มานั่งดูการสาธิต

 

แต่ ในการจัดสถานการณ์ขณะทำการสาธิตภาคปฏิบัติ กลับไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง อย่างเพียงพอ

 

กล่าวคือ ไม่มีการกั้นนักเรียนให้อยู่ในบริเวณที่ปลอดภัย เมื่อถังดับเพลิงเกิดการระเบิด ส่งผลให้ตัวถังดับเพลิงแตก และมีเศษชิ้นส่วนของถังดับเพลิงพุ่งกระเด็นไปถูกนักเรียนอายุ 18 ปี ที่เข้ารับการอบรม เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และมีนักเรียนอื่น ๆ ได้รับบาดเจ็บอีก 28 คน

 

จากการตรวจสอบพบว่า ถังดับเพลิงที่ใช้เป็นถังใช้ซ้ำที่ไม่มีระบบวาล์วเซฟตีติดตั้งอยู่

 

เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) วิเคราะห์เบื้องต้น คาดว่า ถังดังกล่าวถูกนำไปบรรจุก๊าซเพิ่ม และวางตากแดดเป็นเวลานาน จนอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ทำให้แรงดันขยายตัวและระเบิด เนื่องจากไม่มีวาล์วเซฟตีติดตั้งอยู่

 

 

ซึ่งก็สอดรับกับการวิเคราะห์ของ อาจารย์วีรชัย พุทธวงศ์ หรืออาจารย์อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่พบ ไม่ว่าจะเป็นถังเก่าใช้มานานแล้ว 6 ปี ทั้ง ๆ ที่อายุการใช้งานจะอยู่ที่ 5 ปี

 

หากเกินกว่านั้น ต้องมีการส่งไปตรวจสอบ แต่กลับไม่มีการดำเนินการตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น

 

นอกจากนี้ ยังมีการนำถังเก่าไปเติมสารเคมีเพิ่มด้วย ประกอบกับตากแดดเป็นเวลานาน ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น แรงดันภายในขยายตัวจนระเบิด กลายเป็นโศกนาฏกรรมอย่างที่เห็น

 

เบื้องต้นตำรวจแจ้งข้อหา 3 ผู้สาธิตฐานประมาท ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 

 

ส่วนกรณีถังดับเพลิงที่เกิดเหตุครั้งนี้ เชื่อว่าการที่ตัวถังระเบิด อาจจะไปกระแทกกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นของแข็ง จนทำให้แตกออกเป็นเสี่ยง ๆ อย่างที่ปรากฏในภาพ ซึ่งตามวิสัยและพฤติการณ์ขณะเกิดเหตุผู้ต้องหาเป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้อุปกรณ์ดับเพลิง สามารถใช้ความระมัดระวังได้

 

หลังเกิดเหตุ ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความเสียใจ กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล เยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ และให้เร่งหาสาเหตุถังดับเพลิงระเบิด ป้องกันเกิดซ้ำ 

 

ขณะที่ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. และ พลตำรวจโท ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ลงพื้นที่โรงเรียนราชวินิตมัธยม กันหลายคน เร่งช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่บาดเจ็บและเสียชีวิต เตรียมเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจ

 

และหลังจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะประสานกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เพื่อดูแลสุขภาพจิตนักเรียนที่ได้รับผลกระทบต่อไป

 

นอกจากนี้ ยังมี ประธานที่ปรึกษาประธานสภากรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ประธานสภากรุงเทพมหานคร ส.ก.เขตบางรัก และ คณะกรรมการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย เข้าเยี่ยมนักเรียนที่บาดเจ็บ

 

ต่างแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยา ตลอดกำชับกำชาชนิดย้ำแล้วย้ำอีกให้หน่วยงานดำเนินการต่าง ๆ ในเชิงระมัดระวังไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นมาอีก และแห่ไปเยี่ยมให้กำลังใจดังปรากฏเป็นข่าวทางสื่อทั่วกัน

 

ก็ถือว่า เป็นธรรมเนียมปฏิบัติปกติอยู่แล้ว  ซึ่งจริง ๆ แล้ว ควรเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะจบเพียงแค่นั้น

 

เนื่องจากยังมีเรื่อง หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คือ การเร่งถอดบทเรียนแล้วนำไปสู่การปฏิบัติโดยด่วน ไม่ควรมีเงื่อนไขเวลาชนิดเนิ่นนานจนผู้เสียหายและผู้คนแทบจะลืมเรื่องราวกันไปแล้ว 

 

นั่นคือ หนึ่ง การช่วยเหลือเยียวยาทันทีโดยไม่ชักช้า และ สอง การคิดอ่านหามาตรการป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นโดยเร็ว จริงจัง

 

โดยใช้บทเรียนกิจกรรมการซ้อมดับเพลิงที่โรงเรียนราชวินิตมัธยม ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับนักเรียน แต่อุปกรณ์ที่ใช้กลับไม่ปลอดภัย จนกลายเป็นชนวนของอุบัติเหตุระหว่างการสาธิต ที่ทำให้เกิดความสูญเสีย คือ นักเรียนที่เข้าอบรมเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บอีก 28 คน 

 

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์โอกาสที่จะเกิดถังดับเพลิงระเบิดนั้น ครูผู้เชี่ยวชาญฝึกดับเพลิงฯ คาดว่าแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

  

บริษัทผลิตถังก๊าซได้รับมาตรฐานหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันบริษัทผลิตถังก๊าซบรรจุคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ประเทศไทยไม่มี ต้องนำเข้าและมีแค่เพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่ผลิตได้

 

และอีกกรณี คือ บริษัทที่เติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีมาตรฐานหรือไม่

 

 มีข้อเสนอด้วยว่า การสาธิตวิธีการเอาตัวรอดจากอัคคีภัยกับเด็กนักเรียนในโรงเรียน วิทยากร หรือครูฝึก ควรให้ความสำคัญกับวิธีการวิ่งหนีไฟ หรือวิธีการเอาชีวิตรอดออกจากตัวอาคาร มากกว่าให้ความสำคัญวิธีการใช้ถังดับเพลิง

 

          เพราะหากเกิดสถานการณ์จริง เด็กนักเรียนจะหนีออกจากสถานการณ์มากกว่าอยู่ต่อสู้กับสถานการณ์

 

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงกล่าวแค่จำเพาะสถานศึกษาในทุกสังกัด ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ หรือ สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เท่านั้น แต่การเกิดอุบัติเหตุในลักษณะเช่นนี้ ก็ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกไม่ว่าที่ไหนในบ้านเมืองนี้

 

edunewssiam เห็นว่า เบื้องแรกเมื่อเหตุเกิดขึ้น ศธ.ควรถือเป็นหน้าที่ของศึกษาธิการจังหวัด ผู้ตรวจราชการศธ. ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา ผอ.สถานศึกษาทุกแห่ง ต้องเร่งสั่งการตรวจสอบอุปกรณ์ที่มีอยู่ทั้งหมด ว่า มีสภาพพร้อมใช้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือควรดำเนินการอย่างไร เพื่อมิให้อุบัติเกิดซ้ำขึ้นอีก

 

เพราะการปกป้องเด็กนักเรียนให้มีความปลอดภัย รวมถึงการเข้าไปเป็นแนวเสริมในการเยียวยา ควรเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบขององค์กรรัฐ อย่างเช่น กระทรวงศึกษาธิการ ก็จำเป็นต้องทำให้ผู้ปกครองมั่นใจและมีความสุขที่ลูกหลานได้อยู่อย่างปลอดภัยในสถานศึกษา

 

แต่สิ่งสำคัญ คือ การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุนั้นเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากการสาธิตให้นักเรียนได้รู้จักป้องกันและระวังเหตุ ทำอาจทำให้ต้องบาดเจ็บไปถึงการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินซึ่งตามมาด้วยความโศกเศร้าเสียใจใหญ่หลวงของผู้เกี่ยวข้อง

 

ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในทุกกรณี

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage