ทีมอาชีวะ "พนมดิน" วก.ท่าตูม สุรินทร์ คว้าแชมป์หุ่นยนต์ ABU 2023 ตัวแทนไทยแข่งนานาชาติที่ประเทศกัมพูชา

 

วันที่ 2 กรกฎาคม 2566 ณ หอประชุมศรีนนท์ วิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการกอศ.) มอบหมายให้ ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา เป็นประธาน เปิดและมอบรางวัลการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ชิงชนะเลิศประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2566 (ABU ROBOT THAILAND CHAMPIONSHIP 2023)

 

ภายใต้ชื่อการแข่งขัน โปรยปุบผาบนนภาเหนือนครวัด  โดยทีมหุ่นยนต์ "พนมดิน" จากวิทยาลัยการอาชีพท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ คว้าแชมป์เป็นตัวแทนประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน ณ ประเทศกัมพูชา ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 25-26 สิงหาคม 2566

 

 

ดร. นิรุตต์ บุตรแสนลี เปิดเผยว่า จากนโยบายและการส่งเสริมด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์และสิ่งประดิษฐ์ของ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ถือว่าเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน แสดงถึงทักษะและความสามารถของผู้เรียน ซึ่งการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ชิงชนะเลิศประเทศไทย เป็นเวทีสำคัญที่ให้นักเรียน นักศึกษา ได้เรียนรู้ด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีหุ่นยนต์อย่างหลากหลายมาพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีศักยภาพสูงตามโจทย์ที่กำหนด ได้ประลองฝีมือกัน

 

ซึ่งเป็นตัวชี้วัดของการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ แสดงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล นำไปสู่พัฒนานวัตกรรมหุ่นยนต์ไทยที่สามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสม และต่อยอดผลงานเชิงพาณิชย์ ตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนด้านวิศวกรรมของประเทศได้ในอนาคต

 

โดยผลการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ชิงชนะเลิศประเทศไทย  มีดังนี้

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมพนมดิน จากวิทยาลัยการอาชีพท่าตูม จังหวัดสุรินทร์, รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมลูกเจ้าพ่อมเหศักดิ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี, รองชนะเลิศอันดับ 2ได้แก่ ทีมนายฮ้อยทมิฬ จากวิทยาลัยเทคนิคสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร  และรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ ทีม IVEC 3 ROBOT จากสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 จังหวัดนครนายก

 

 

สำหรับกติกาการแข่งขัน สรุปดังนี้ คือ มีการแบ่งทีมเป็น สีแดงและสีน้ำเงิน แต่ละทีมจะมีหุ่นยนต์สองตัว ประกอบด้วย หุ่นยนต์กระต่าย (Rabbit Robot : RR) และหุ่นยนต์ช้าง (Elephant Robot : ER) ซึ่งทำงานร่วมกันเพื่อโยนห่วงไปยังเสา จำนวน 11 ต้น

 

เมื่อสิ้นสุดการแข่งขัน ทีมที่มีห่วงอยู่ในตำแหน่งบนสุดของเสา จะเป็นทีมที่ได้คะแนนจากเสานั้น และมีห่วงสีแดงและห่วงสีน้ำเงิน จำนวน 40 ห่วง หุ่นยนต์ทั้งสองตัวจะทำการเก็บห่วงและโยนห่วงไปยังเสา โดยหุ่นยนต์ช้าง สามารถเคลื่อนที่และเข้าไปในบริเวณเขตสีแดง (Red Zone) และเขตสีน้ำเงิน (Blue Zone) ในขณะที่หุ่นยนต์กระต่าย สามารถเคลื่อนที่และเข้าไปในบริเวณเขตสีแดง หรือเขตสีน้ำเงิน สะพาน , บริเวณ Angkor RED หรือ Angkor Blue และบริเวณ Angkor Center ได้ แต่ไม่สามารถเข้าเขตคูเมือง (Moat Area) ได้ ในการทำคะแนนไม่ว่าหุ่นยนต์ช้างจะโยนห่วงไปยังเสาโดยตรง หรือหุ่นยนต์กระต่ายจะเป็นผู้โยนห่วงไปยังเสา เมื่อทีมโยนห่วงอยู่ด้านบนสุดได้ครบ 8 เสา ประกอบด้วย เสา Type 1 ของฝั่งตนเอง, เสาType 2 และ เสาType 3 ใน Angkor Center ถือเป็นการสิ้นสุดการแข่งขัน "ไชโย" (Chey-Yo) ทีมที่ทำสำเร็จจะเป็นผู้ชนะการแข่งขัน

 

 

สำหรับทีมหุ่นยนต์อาชีวศึกษา 8 ทีม ที่ผ่านการคัดเลือกการแข่งขัน มหกรรมหุ่นยนต์อาชีวศึกษาจาก 72 ทีม ทั่วประเทศ สู่การแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ชิงชนะเลิศประเทศไทย  ในปี พ.ศ. 2566 มีดังนี้

1.ทีมขุนด่านปราการชล จากวิทยาลัยเทคนิค (วท.) นครนายก 

2. ทีมยูคาลิปตัส จากวิทยาลัยการอาชีพ (วก.)กบินทร์บุรี

3. ทีมเมืองร้อยเกาะ จากวท. สุราษฎร์ธานี

4. ทีม MTC Robot จากวท.มหาสารคาม

5. ทีมนายฮ้อยทมิฬ จากวท.สว่างแดนดิน

6. ทีมพนมดิน จาก วก.ท่าตูม  

7. ทีมดอนเมือง จากวท.ดอนเมือง และ 8. ทีม K.T.C. ROBOT จาก วท.กาฬสินธุ์

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam  

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage