ศธ.เร่งประชุมทบทวน กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ สป. แบบ "ซ้ำเสริมไม่ซ้ำซ้อน"

ศธ.เร่งประชุมทบทวน กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ สป. แบบ "ซ้ำเสริมไม่ซ้ำซ้อน" 

 

เมื่อ 11 สิงหาคม 2566 / ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการทบทวนกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการของ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2566 เน้นย้ำถึงการทำงาน “ซ้ำเสริมไม่ซ้ำซ้อน” 

 

ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาปรับปรุงร่างกฎกระทรวงศึกษาธิการฯ ดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสป.ศธ. เนื่องจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เดิมสังกัด สป.ศธ. ได้ตั้งเป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) เมื่อโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการเปลี่ยนแปลง จึงจำเป็นต้องปรับปรุง รวมทั้งทบทวนภารกิจ หน้าที่และอำนาจของส่วนราชการในสังกัด สป.ศธ. ให้ทันสมัยมากขึ้น

 

ดังนั้นเพื่อปรับปรุงหน้าที่และอำนาจ สป.ศธ. ซึ่งมีภารกิจหลากหลาย เช่น ดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจราชการ รับเรื่องราวร้องทุกข์ กำกับ เร่งรัด ติดตาม และประเมินผล ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาเอกชน ระบบบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

 

อีกทั้งยังมี งานความช่วยเหลือและประสานการปฏิบัติราชการของกระทรวง การพัฒนาและประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบเครือข่ายและข้อมูลสารสนเทศเพื่อใช้ในการบริหารและการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ

 

รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้เน้นย้ำถึงการทำงาน “ซ้ำเสริมไม่ซ้ำซ้อน” 

 

กล่าวคือ ภารกิจที่มีหลายหน่วยงานเข้าไปดำเนินงาน อาจจะถูกมองว่าเป็นการซ้ำซ้อน แต่การที่หลายหน่วยงานช่วยกันดำเนินงานที่ต่างกัน ถือว่าเป็นการซ้ำเสริมมากกว่า ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งมติที่ประชุมเห็นชอบจัดเรียงการแบ่งส่วนราชการ สป.ศธ. ตามพยัญชนะ

  

สำหรับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการ สป.ศธ. ตามกฎกระทรวงในปัจจุบัน มี 10 หน่วยงาน คือ

 

สำนักอำนวยการ, ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา, สำนักการลูกเสือ ยุวกาชาด และกิจการนักเรียน, สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ, สำนักตรวจราชการและติดตามประเมินผล, สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์, สำนักนิติการ, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

 

นอกจากนี้ ใน สป.ศธ. ยังกำหนดให้มีกลุ่มตรวจสอบภายใน (ข้อ 4) กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร (ข้อ 5) และศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ข้อ 6) ซึ่งรับผิดชอบงานขึ้นตรงต่อปลัดกระทรวง อีกด้วย.

 

#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าว edunewssiam  

 

ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/edunewssiamfanpage